หน้ารวมบทความ
   บทความ > บุคคล > อาจารย์ป๋วยกับความหมายในยุคของเรา
กลับหน้าแรก
ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประสบการณ์ชีวิต และข้อคิดสำหรับคนหนุ่มสาว

 


อาจารย์ป๋วยกับความหมายในยุคของเรา
พระไพศาล วิสาโล

บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกเป็นเสมือนบทนำ ในหนังสือ "ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประสบการณ์ชีวิต และข้อคิดสำหรับคนหนุ่มสาว" (ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เขียน, พจน์ กริชไกรวรรณ บรรณาธิการ, สนพ. มูลนิธิโกมลคีมทอง จัดพิมพ์, พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๓๘)


เมื่อข้าพเจ้ายังเป็นนักเรียน ศิษย์เก่าที่ครูบาอาจารย์รุ่นเก่าๆ กล่าวถึงมากที่สุดคนหนึ่งได้แก่ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กิตติศัพท์ของอาจารย์ป๋วยซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญกันมากในแวดวงอัสสัมชัญ คือความซื่อสัตย์สุจริตและความรู้ความสามารถ ใช่แต่เท่านั้น พวกเรายังภาคภูมิใจอาจารย์ป๋วยในฐานะอัสสัมชนิกที่มีเกียรติคุณสูงส่ง จะไม่ให้เด็กๆ อย่างพวกเราภูมิใจได้อย่างไร ในเมื่อธนบัตรทุกใบในประเทศนี้มีลายเซ็นชองอัสสัมชนิกผู้นี้ปรากฏอยู่ ตอนนั้นอาจารย์ป๋วยเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจไทยให้มีเสถียรภาพ โดยเฉพาะในด้านการเงินการคลัง เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ แต่เวลานั้นข้าพเจ้ายังไม่ได้เข้าใจไปถึงปานนั้น รู้แต่ว่าท่านเป็นคนที่มีตำแหน่งสำคัญคนหนึ่งของประเทศ และเป็นคนที่มีชื่อเสียงเอามากๆ

ข้าพเจ้าไม่เพียงแต่จะคุ้นกับกิตติศัพท์ชื่อเสียงของอาจารย์ป๋วยเท่านั้น แม้แต่หน้าตาของท่านข้าพเจ้าก็เห็นอยู่บ่อยๆ เพราะเวลาเราขึ้นหรือลงบันไดหน้าห้องอธิการ จะต้องเห็นภาพถ่ายของท่านซึ่งทางโรงเรียนเอามาติดไว้ร่วมกับอัสสัมชนิกท่านอื่นๆ ที่มีชื่อเสียง ภาพอาจารย์ป๋วยวัยปลาย ๔๐ ยังติดตาข้าพเจ้าจนถึงทุกวันนี้ ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าเวลานั้นท่านเพิ่งได้รับรางวัลแม็กไซไซ

เมื่อข้าพเจ้าเรียนถึงชั้นมัธยม เริ่มสนใจสังคมรอบตัว เกิดความห่วงใยในสภาพบ้านเมืองที่อยู่ภายใต้ระบบเผด็จการ ถึงตอนนั้นข้าพเจ้าก็ได้พบว่า นอกจากความซื่อสัตย์สุจริตและสติปัญญาความสามารถแล้ว องค์คุณอันสำคัญอีกประการหนึ่งของอาจารย์ป๋วยก็คือความรักสิทธิเสรีภาพและความยุติธรรม คุณสมบัติข้อนี้ของอาจารย์ป๋วยข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินครูบาอาจารย์คนใดพูดถึงมาก่อน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่า ก่อนที่จะเกิดรัฐประหาร พ.ศ. ๒๕๑๔ นั้น ท่านยังไม่แสดงตัวเด่นชัดในการต่อต้านเผด็จการเท่าไรนัก แต่สาเหตุอีกประการหนึ่งก็คือ ครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่ (หรือจะรวมถึงคนไทยโดยทั่วไปก็ได้) ไม่เห็นว่าความรักสิทธิเสรีภาพและความยุติธรรมนั้นเป็นคุณสมบัติที่สำคัญอันควรยกย่องเชิดชูเท่าไรนัก ชะดีชะร้ายอาจจะรังเกียจด้วยซ้ำ ใครที่มีคุณสมบัติข้อนี้อาจถูกกล่าวหาว่า “หัวรุนแรง” ไปได้ง่าย ๆ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่คำขวัญวันเด็กปีแล้วปีเล่าของไทย ไม่เคยเอ่ยถึงความรักสิทธิเสรีภาพและความยุติธรรมเลย

ยิ่งเยาวชนอย่างข้าพเจ้าอึดอัดขัดเคืองใจกับระบบเผด็จการมากเท่าใด เราก็ยิ่งยกย่องนับถืออาจารย์ป๋วยมากเท่านั้น ข้อเขียนของท่านหลังรัฐประหาร ๒๕๑๔ จนถึงเหตุการณ์ตุลาคม ๒๕๑๖ ถือได้ว่าเป็นประทีปในทางสิทธิเสรีภาพที่พวกเราเสาะแสวงหากัน ไม่ว่า “จดหมายนายเข้ม เย็นยิ่ง เรียนนายทำนุ เกียรติก้อง ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ” หรือ “บันทึกประชาธรรมไทยโดยสันติวิธี” ล้วนมีอิทธิพลในทางความคิดต่อผู้รักสิทธิเสรีภาพ แม้แต่บทความในเชิงอัตชีวประวัติอย่าง “แตกเนื้อหนุ่ม ๒๔๗๕” หรือ”ผู้หญิงในชีวิตของผม-แม่” ก็ยังได้รับความนิยมอย่างมาก จนมีการอัดสำเนาเผยแพร่ต่อไปอีก ทั้งนี้โดยไม่ต้องพูดถึงบทความเรื่อง “ทางออกของไทยหลังสงครามอินโดจีน” ซึ่งแม้จะลงในวารสารเล็กๆ ของกลุ่มนักศึกษามหิดลแต่ก็เป็นที่กล่าวขานกันมากในแวดวงปัญญาชน โดยเฉพาะนโยบายต่อ “ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์”

หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ความนิยมในตัวอาจารย์ป๋วยพุ่งขึ้นสูงยิ่งกว่าเดิมจนได้รับการคาดหมายให้เป็น “ตัวเก็ง” นายกรัฐมนตรีอันดับต้น แต่ท่านกลับปฏิเสธโอกาสดังกล่าว เหตุผลของท่านก็คือ ได้ให้สัจจะไว้แล้วว่าจะไม่รับตำแหน่งการเมืองใดๆ ตราบใดที่ยังไม่เกษียณอายุราชการ สัจจะดังกล่าวท่านได้รักษาไว้เป็นเวลานานเกือบ ๔๐ ปี ตั้งแต่เข้าเป็นเสรีไทยใหม่ๆ และเป็นเหตุผลเดียวที่ทำให้ท่านปฏิเสธไม่รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

หากถามว่าอะไรคือแก่นแท้ของอาจารย์ป๋วย คำตอบของข้าพเจ้าก็คือความรักสัจจะ ความรักสัจจะทำให้อาจารย์ป๋วยใฝ่แสวงหาความจริง ความรู้ความสามารถในทางสติปัญญาของอาจารย์ป๋วยมีบ่อเกิดมาจากความใฝ่แสวงหาความจริง เมื่อเรียนหนังสือก็เรียนเพื่อรู้มิใช่เรียนเพื่อสอบ ความมุ่งมั่นพยายามที่จะเรียนเพื่อให้รู้ และเข้าถึงความจริงในสิ่งที่เล่าเรียน เป็นเหตุให้ท่านมีกิตติศัพท์ในด้านการ “เรียนเก่ง” มาตั้งแต่เป็นนักเรียนจนกระทั่งจบปริญญาเอก

เมื่อรักสัจจะเสียแล้ว ความซื่อสัตย์สุจริตย่อมเกิดขึ้นตามมาพร้อมกับความขยันหมั่นเพียร เพราะเมื่อรับปากแล้วก็ต้องทำภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จด้วยดี โดยไม่ทอดธุระคดโกง หรือเฉไฉจากหลักการที่ตกลงกัน และเพราะรักสัจจะนี้เอง อาจารย์ป๋วยจึงดำรงชีวิตอย่าง “โปร่งใส” ไม่ปิดบังอำพราง แม้กระทั่งกำพืดของตนเองก็เปิดเผยให้มหาชนได้รู้ว่าตนเป็น “ลูกจีน” คนที่อายุต่ำกว่า ๒๐ ลงไปในปัจจุบันนี้อาจไม่เข้าใจว่าความเป็นลูกจีนนั้นเสียหายหรือน่าอับอายอย่างไร แต่หากย้อนหลังไป ๒๐ ปีเป็นอย่างน้อย ไม่มีใครในหมู่ชนชั้นกลางดอกที่อยากยอมรับว่าตนมีพ่อแม่เป็นจีน หากมีชื่อจีนก็ต้องเปลี่ยนเป็นไทย มีแซ่ก็ต้องเปลี่ยนเป็นนามสกุล โดยประดับประดาด้วยคำบาลีสันสกฤต คำว่า “เจ๊ก” เป็นคำดูหมิ่นดูแคลนที่แสลงหูลูกจีนในไทยกันทั้งนั้น ยิ่งลูกจีนคนไหนมีตำแหน่งสูงในวงราชการด้วยแล้ว หากปกปิดกำพืดของตนได้มิดชิดเท่าไร ความวิตกทุกข์ร้อนยิ่งลดลงมากเท่านั้น แต่สำหรับอาจารย์ป๋วย ท่านไม่เพียงแต่จะยอมรับความเป็นลูกจีนของตนเท่านั้น หากยังเขียนให้ปรากฏ ดังในบทความเรื่อง “ผู้หญิงในชีวิตของผม-แม่” ท่านขึ้นต้นด้วยประโยคแรกว่า “แม่ผมชื่อเซาะเช็ง” อาจารย์ป๋วยรักสัจจะแลเชื่อมั่นในความเป็นไทยของตนมากพอที่จะบอกว่า ท่านเป็นลูกจีน

ความรักสัจจะเมื่อนำไปสู่การแสวงหาความจริงที่ลุ่มลึก ในที่สุดก็จะพบว่าความงามและความดี ก็คือส่วนหนึ่งของความจริง ในโลกนี้ ชีวิตนี้มีความงามที่เราสัมผัสได้ ความงามที่ประณีตลึกซึ้งย่อมยกระดับจิตใจของเราให้สูงขึ้นจนเข้าถึงความจริงที่เป็นสัจธรรมสากล ความงามนั้นอาจได้แก่ศิลปะที่มนุษย์รังสรรค์ขึ้นมา หรืออาจหมายถึงธรรมชาติอันตราตรึงใจที่โลกได้มอบเป็นของขวัญแก่สรรพชีวิต

ส่วนความดีนั้นเล่า แท้ที่จริงก็คือสัจธรรมหรือกฎธรรมชาติที่ให้ผลดี คือความสุขสงบแก่เราหากเราทำตามกฎอันเป็นสากลนั้น การไม่เบียดเบียนกันเป็นความดีก็เพราะก่อให้เกิดความสุขแก่ทุกฝ่ายอย่างไม่มีทางเป็นอื่นไปได้ ความยุติธรรมเป็นความดีก็เพราะธรรมชาติของมนุษย์นั้นไม่ต้องการถูกเอารัดเอาเปรียบ ความดีนั้นจะเป็นความดีอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่ออิงกับสัจธรรมความจริงอย่างแนบแน่น ความดีเช่นนี้เป็นสิ่งสากล แต่ที่เราเข้าใจกันไปว่าความดีเป็นสิ่งสมมติ ก็เพราะไปติดอยู่กับบทบัญญัติที่ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมา โดยไม่อิงอาศัยความจริงหรือกฎธรรมชาติเป็นพื้นฐาน “ความดี” ประการหลังนี้ย่อมแปรผันไปตามกาลเวลาและสถานที่ ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นความดีที่แท้จริงได้

เป็นเพราะอาจารย์ป๋วยรักความจริง ท่านจึงรักความงามและความดีด้วย พร้อมๆ ไปกับการชื่นชมและส่งเสริมวรรณคดีและศิลปะแขนงต่าง ๆ ท่านก็เป็นผู้นำในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย และความยุติธรรมในสังคม โดยที่ท่านเองก็ยอมรับอย่างใจจริงว่าความอยุติธรรมในสังคมไทยส่วนหนึ่งนั้น เป็นผลจากความบกพร่องของท่านเองในฐานะที่เป็นผู้วางแผนและจัดระบบเศรษฐกิจไทยมากว่า ๒ ทศวรรษ ในระยะหลังอาจารย์ป๋วยจึงหันมาทำงานพัฒนาชนบทอย่างจริงจัง

ชนชั้นนำนั้นมีอภิสิทธิ์อยู่ได้อย่างผาสุก ก็เพราะสังคมขาดความยุติธรรม และไม่เปิดโอกาสให้คนส่วนใหญ่มีสิทธิเสรีภาพ ดังนั้นเมื่อชนชั้นนำอย่างอาจารย์ป๋วยยืนหยัดเรียกร้องคุณค่าดังกล่าว จึงไม่เพียงแต่จะเป็นการท้าทายระเบียบเดิมของสังคมเท่านั้น หากยังเป็นการคุกคามสถานภาพของชนชั้นนำในสังคมไทย หรืออย่างน้อยก็ก่อให้เกิดความหวาดระแวงในตัวท่านขึ้นมา ผลก็คือท่านถูก “หมายหัว” ว่าเป็นศัตรูของสถาบันหลักในบ้านเมือง ในช่วงเวลาไม่ถึง ๒ ปี จากฐานะ “ตัวเก็ง” นายกรัฐมนตรี ท่านก็กลายสภาพมาเป็น “หัวหน้าคอมมิวนิสต์” ในสายตาของคนเป็นจำนวนมาก งานแซยิด ๖๐ ปี อาจารย์ป๋วยเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๑๙ ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงสร้างความอกสั่นขวัญแขวนแก่หลายคน ด้วยกลัวว่าจะมีเหตุร้ายจากฝ่ายที่อ้างตัวว่ารักชาติศาสน์กษัตริย์อยู่เป็นอาจิณ

ถึงตอนนี้นักเรียนอัสสัมชัญไม่ได้ยินเสียงชื่นชมอาจารย์ป๋วยอีกต่อไปแล้ว จะได้ยินก็แต่คำกล่าวหาในทางเสียหายตามอิทธิพลของหน่วยโฆษณาชวนเชื่อที่เข้ามาปลุกระดมตามโรงเรียนต่าง ๆ คนเป็น อันมากเข้าใจว่าอาจารย์ป๋วยส้องสุมและปลุกปั่นยุยงนักศึกษาธรรมศาสตร์ เพื่อเตรียมโค่นล้มระบอบปกครองของบ้านเมือง ทั้ง ๆ ที่ท่านเองคอยทัดทานท้วงติงนักศึกษา จนถึงกับห้ามนักศึกษาไม่ให้นำกรรมกรชาวนามาประท้วงรัฐบาลในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยเหตุนี้ความนิยมในตัวท่านจึงเสื่อมลงไปในหมู่นักศึกษาและนักเคลื่อนไหว

ยศและการเสื่อมยศ คำสรรเสริญและการติเตียน เป็นธรรมดาของโลก อาจารย์ป๋วยย่อมตระหนักในสัจธรรมดังกล่าวเป็นอย่างดี ท่านจึงไม่ติดยึดกับตำแหน่งอันสูงส่งในราชการ อาจารย์ป๋วยเป็นข้าราชการระดับสูงน้อยคนนักที่พร้อมจะลาออกจากตำแหน่งหากหลักการถูกละเมิด เมื่อได้รับความยกย่อง ท่านจึงไม่ได้หลงใหลได้ปลื้ม ดังคราวได้รับรางวัลแม็กไซไซท่านก็ยกคุณงามความดีให้แก่โรงเรียนเก่าของท่าน ดังนั้นเมื่อถึงคราวที่ท่านเสื่อมถอยจากคำสรรเสริญ ท่านจึงไม่หวั่นไหวหรือคลอนแคลนในอุดมคติ หากยังยืนหยัดในสิ่งที่ท่านว่าเป็นความถูกต้อง

สำหรับคนที่อุทิศตนเพื่อบ้านเกิดเมืองนอนมาโดยตลอด การที่ต้องถูกขับไล่ไสส่งออกจากแผ่นดินของตน มิหนำซ้ำยังประสบกับโรคร้าย จนไม่สามารถใช้สติปัญญาให้เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศได้ดังแต่ก่อน นับเป็นเคราะห์กรรมที่ยากจะทานทนได้ แต่อาจารย์ป๋วยกลับทำใจได้สามารถยอมรับสภาพของตนอย่างไม่ทุกข์ร้อน จนเวลาล่วงมาถึงบัดนี้เกือบ ๒๐ ปีแล้ว ธรรมะที่ท่านบำเพ็ญจนรู้เท่าทันความเป็นจริงของชีวิตซึ่งมีความผันผวนปรวนแปรเป็นธรรมดาย่อมมีอานิสงส์ต่อท่านอย่างไม่ต้องสงสัย โดยที่ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตของท่านให้ผาสุกได้กระทั่งทุกวันนี้ก็คือความสุขจากชีวิตอันสันโดษนั่นเอง

ความงามและความดีเป็นส่วนหนึ่งของความจริง ขณะเดียวกันต่างก็เป็นบ่อเกิดแห่งความสุขที่ลึกซึ้ง ความสุขชนิดนี้เข้าถึงได้โดยไม่จำต้องครอบครองวัตถุ จิตที่เข้าถึงความงามอย่างแท้จริงย่อมสัมผัสความสุขได้ในทุกที่ทุกสถาน ส่วนผู้ที่ซึมซับรับความดีเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ความสุขของเขาย่อมเกิดจากการทำให้ผู้อื่นมีความสุขด้วยน้ำใสใจจริง ความสุขอันประณีตดังกล่าวนอกจากจะไม่ขึ้นอยู่กับวัตถุแล้ว ยังไม่ปรารถนาการครอบครองวัตถุเกินความจำเป็น อาจารย์ป๋วยเป็นตัวอย่างของคนที่ร่ำรวยด้วยความสุข แม้ชีวิตจะมีทรัพย์สมบัติไม่มาก ชีวิตที่เรียบง่ายสันโดษดังกล่าวมิได้เกิดจากการขาดโอกาสที่จะร่ำรวย หากเป็นเพราะท่านปฏิเสธโอกาสดังกล่าวทั้ง ๆ ที่มีผู้หยิบยื่นให้มากมาย แม้กระทั่งของขวัญปีใหม่ที่กองพะเนินอยู่บนโต๊ะของท่านสมัยเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวกันว่าท่านเลือกเอาสมุดบันทึกเล่มเล็กไว้เป็นสมบัติส่วนตัวเพียงเล่มเดียว ที่เหลือท่านแจกให้แก่พนักงานธนาคาร ฯ จนหมด โดยไม่เก็บไว้ให้แก่บุตรภรรยาที่บ้านเลย

ในยุคโลกานุวัตรเช่นปัจจุบัน บุคคลอย่างอาจารย์ป๋วยมีความหมายอย่างไรบ้างสำหรับเรา ? เห็นได้ชัดเจนว่ายุคสมัยของอาจารย์ป๋วยนั้นต่างจากยุคสมัยของเรา อาจารย์ป๋วยเกิดและเติบโตมาในยุคที่ทุ่งนาและป่าเขามีอยู่เต็มประเทศ รายได้ของประเทศมาจากการขายข้าว และตัดไม้ส่งนอก จัดได้ว่าเป็นประเทศ “ล้าหลัง” เศรษฐกิจไม่มีระบบระเบียบ และปราศจากเสถียรภาพจนวางแผนได้ยาก ส่วนระบอบการเมืองก็ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของทหาร ประชาธิปไตยเป็นไปอย่างลุ่ม ๆ ดอน ๆ ในยุคเช่นนี้อุดมคติของคนทั่วไปคือการเป็นข้าราชการ อาจารย์ป๋วยเป็นผู้หนึ่งที่ทุ่มเทชีวิตให้แก่ระบบราชการด้วยเชื่อมั่นว่าเป็นการรับใช้ประเทศชาติที่ดีที่สุด

ปัจจุบันเมืองไทยกำลังมุ่งหน้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม ระบบเศรษฐกิจทั้งระบบเปรียบประดุจเครื่องจักรอันทรงพลังที่กำลังขับเคลื่อนประเทศไปอย่างรวดเร็ว ไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ผู้ประกอบการและนักธุรกิจกลายเป็นกลุ่มคนสำคัญของประเทศที่เข้ามาแทนที่ข้าราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางการเมือง คนที่มีสติปัญญาความสามารถพากันมุ่งหน้าสู่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ทิ้งระบบราชการไว้เบื้องหลัง

อาจารย์ป๋วยเป็นตัวแทนของข้าราชการที่ซื่อสัตย์และทรงความสามารถอย่างยิ่งยวด หากท่านมีคุณสมบัติเพียงเท่านี้ ชีวิตของท่านอาจมีความหมายต่อเยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่มากนัก ยกเว้นพวกที่ต้องการรับราชการ และดำรงตนเป็นเทคโนแครต แต่แก่นแท้ของอาจารย์ป๋วยมีมากไปกว่านั้น ความเป็นผู้รักสัจจะในทุกแง่มุมของคำ ๆ นี้ต่างหากที่ทำให้บุคคลอย่างอาจารย์ป๋วยมีคุณค่าที่เป็นสากล อันคนทุกยุคทุกสมัยสามารถเรียนรู้ และซึมซับรับเอาแรงบันดาลใจมาหล่อเลี้ยงชีวิตได้อย่างไม่มีวันเหือดแห้งไม่ว่าเราจะเป็นนักเรียนนักศึกษา นักธุรกิจ ข้าราชการ นักการเมือง หรือแม้แต่ศิลปิน ชีวิตของเราล้วนใฝ่หาความจริง และต้องการเข้าถึงความจริงที่พาเราเข้าถึงความงามและความดีที่แท้ได้ด้วย เพราะนั่นคือบ่อเกิดแห่งความสุขอันประณีตที่ทุกชีวิตปรารถนา

ในยุคที่กระแสเงินตราแพร่สะพัด วัฒนธรรมวัตถุนิยมครอบงำจนชีวิตจิตใจไขว่คว้าโหยหาแต่ทรัพย์สมบัติและความสนุกสนานเพลิดเพลิน มนุษย์ถูกลดค่าเป็นเพียงก้อนวัตถุที่แส่ส่ายหาสิ่งบำรุงบำเรอชั่วครู่ชั่วยาม ในยุคเช่นนี้แหละที่ความรักสัจจะและใฝ่แสวงหาความจริงยิ่งกลายเป็นสิ่งจำเป็น เพราะสามารถฟื้นฟูจิตวิญญาณและความเป็นมนุษย์ให้กลับมีความหมายขึ้นใหม่ในตัวเรา ชีวิตต้องการความหมาย ชีวิตและงานของอาจารย์ป๋วยสามารถให้ความหมายแก่เราได้ เพราะเป็นประจักษ์พยานแห่งการใฝ่ความจริงที่มีความสุขทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นเป็นรางวัล

ถ้อยคำของราล์ฟ วัลโด เอเมอสัน ปรัชญาเมธีชาวอเมริกัน ซึ่งอาจารย์ป๋วยได้แปลไว้อย่างไพเราะต่อไปนี้ ไม่เพียงแต่จะน้อมใจให้รำลึกถึงอุดมคติของอาจารย์ป๋วยเท่านั้น หากยังสะท้อนถึงความหมายของชีวิตได้อย่างงดงามและเป็นสากล แม้จะล่วงเลยมากว่าหนึ่งศตวรรษแล้วก็ตาม

“เมื่อเราได้เห็นอยู่ตำตาแล้วว่า กาลสมัยของเรานี้มีบาปอยู่หนาแน่น และบ้านเมืองของเรานี้มีความเท็จ ความชั่วดาษดื่นอยู่ ก็ขอให้เราทั้งหลายจงเข้าสู่ความร่มเย็นแห่งวิชาและแสวงหาความรู้ซึ่งใคร ๆ เขาได้ละเลยเสียแล้ว ถึงแสงแห่งวิชานั้นจะริบหรี่ ก็จงพอใจเถิด เพราะแม้จะเป็นสิ่งเล็กน้อย ก็ยังเป็นของ ๆ เราจริง ๆ จงมุ่งหน้าค้นแล้วค้นอีกต่อไป อย่าได้ท้อถอย อย่าได้ทะนงจนถึงกับวางมือจากการค้นคว้าหาความรู้ อย่าเชื่อถือในความคิดของท่านจนงมงาย และก็อย่าหลงลืมผู้อื่นโดยไม่พิจารณาถึงเหตุผล ท่านมีสิทธิที่จะเดินทางข้ามทะเลทรายไปสู่วิชา ถึงจะเป็นทะเลทรายทุรกันดาร ก็มีดวงดาราส่องแสงอยู่แพรวพราว และเหตุไฉนเล่า ท่านจึงจะสละสิทธิข้อนี้ของท่านเสีย ไปชิงสุกก่อนห่าม โดยเห็นแก่ความสำราญ ที่ดินสัก ๑ แปลง บ้านสัก ๑ หลัง และยุ้งข้าวสัก ๑ ยุ้ง วิชาเองก็มีหลังคา มีฟูก ที่นอน มีอาหารไว้ต้อนรับท่าน

จงบำเพ็ญตนให้เป็นผู้จำเป็นแก่โลก มนุษยชาติก็จะนำอาหารมาสู่ท่านเอง แม้จะให้ไม่ถึงยุ้งถึงฉาง แต่ก็เป็นบำเหน็จชนิดที่ไม่ลบล้างบุญคุณของท่านที่ทำไว้แก่มนุษยชาติ ไม่ลบล้างความรักใคร่นิยมของคนทั้งหลาย และไม่ลบล้างสิทธิของท่านที่มีอยู่ต่อศิลปะ ต่อธรรมชาติ และต่อความหวังของมนุษย์” *

* จากหนังสือ อุดมคติ ๒๕๑๗


รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล วิสาโล www.visalo.org  korobiznet เอื้อเฟื้อพื้นที่   
webmaster    ๒๕๕๒ All Rights ไม่ Reserved