หน้ารวมบทความ
   บทความ > ปาจารยสาร > เข้าปริวาส
กลับหน้าแรก

ปาจารยสาร กรกฎาคม ๒๕๕๐

เข้าปริวาส
พระไพศาล วิสาโล

 

คนทั่วไปน้อยคนจะรู้ว่า “งานปริวาส” เป็นแหล่งชุมนุมที่พระภิกษุสงฆ์นิยมไปหาประสบการณ์หรือพบเพื่อนใหม่จากทุกสารทิศ บางรูปจะตระเวนไปตามงานดังกล่าวจากจังหวัดนี้ไปจังหวัดโน้นตลอด ๙ เดือนที่ไม่ได้จำพรรษา จนได้ชื่อว่า “นักล่าปริวาส” ยิ่งไปงานดังกล่าวบ่อยมากเท่าไร เครือข่ายเพื่อนพระก็กว้างขวางมากเท่านั้น จะไปไหนมาไหนก็ไม่ขัดสนที่พัก สามารถค้างแรมตามวัดของเพื่อนพระได้อย่างสบาย บางรูปว่างนัก ออกปริวาสแล้วไม่มีอะไรทำก็เดินสายเยี่ยมเยือนเพื่อนพระตามจังหวัดต่าง ๆ จากเหนือจรดใต้ จากตะวันออกจรดตะวันตก

ฟังดูปริวาสเหมือนงานพบปะสังสรรค์ แต่ที่จริงเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อ “ลงโทษ”พระที่ทำผิดวินัยขั้นกลางเรียกว่าสังฆาทิเสส (ต่ำกว่าปาราชิกแต่หนักกว่าอาบัติทั่วไป) ตามพระวินัย พระรูปใดที่ต้องอาบัติดังกล่าว จะพ้นผิดได้ต้อง “อยู่กรรม” ๖ วัน ๖ คืน บวกกับจำนวนวันที่ปกปิดอาบัติดังกล่าวเอาไว้อีก ตลอดเวลาดังกล่าวท่านจะอยู่ในสภาพเหมือนถูกกักบริเวณ สิทธิหลายอย่างจะถูกเพิกถอน เช่น สอนใครไม่ได้ ไม่มีสิทธิได้รับความเคารพจากพระที่มีอาวุโสต่ำกว่า เป็นต้น

อย่างไรก็ตามเนื่องจากการปริวาสนั้นมีรายละเอียดปลีกย่อยมาก ดังนั้นวัดส่วนใหญ่ไม่สะดวกที่จะจัดกิจกรรมดังกล่าว มีเพียงไม่กี่วัดที่ “ให้บริการ”เรื่องนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จัดทำปีละครั้ง แต่มีบางวัดที่ให้บริการตลอดปี เมื่อความต้องการมีมาก แต่วัดที่ตอบสนองมีน้อย จึงเป็นธรรมดาที่หากมีจัดปริวาสที่ไหน ก็มักจะมีพระไปร่วมเป็นจำนวนมาก อาจเป็นหลายสิบหรือเป็นเรือนร้อย ประกอบกับมีความเชื่อว่าก่อนสึกควรเข้าปริวาส เพราะระหว่างที่บวชอยู่อาจต้องอาบัติไปโดยไม่รู้ตัว ออกจากปริวาสแล้วจะได้ “บริสุทธิ์” สึกไปจะได้พบกับความสุขความเจริญ ขณะเดียวกันชาวบ้านก็มีค่านิยมว่าทำบุญกับพระที่ออกจากปริวาสจะได้บุญมาก เพราะท่านบริสุทธิ์แล้ว จึงนิยมทำบุญในงานปริวาส ซึ่งก็เท่ากับดึงดูดให้พระไปเข้าปริวาสกันมากขึ้น เลยการเป็นงานชุมนุมพระสงฆ์ไปโดยปริยาย

ข้าพเจ้าไม่เคยเข้าปริวาส แต่มีความอยากรู้ว่าปริวาสนั้นเป็นอย่างไร เพราะมักได้ยินคนพูดถึงบ่อย ๆ หลายเรื่องเป็นเรื่องแปลกที่ไม่เคยรู้มาก่อน ประกอบกับบวชมานานแล้วอาจทำอะไรไม่ถูกต้องตามพระวินัย ก็น่าจะได้อยู่กรรมเสียบ้างเพื่อปลดเปลื้องอาบัติ อีกทั้งจะได้รู้ขั้นตอนตามพระวินัยเพื่อสามารถให้คำชี้แนะแก่พระที่ต้องอาบัติดังกล่าวได้

สามปีก่อนได้ตัดสินใจเข้าปริวาสที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี ซึ่งได้ชื่อว่าเข้มงวดนัก แต่ทำไม่สำเร็จ เข้าได้ ๒ วันก็ต้องออกมา เพราะพ่อของเพื่อนเกิดเสียชีวิต เพื่อนขอให้ไปช่วยเทศน์ในงานศพ หลังจากนั้นก็ตั้งใจอยู่เสมอว่าจะหาเวลาเข้าปริวาสให้ครบถ้วนกระบวนการ เพิ่งมาปีนี้ที่โอกาสนั้นมาถึง ข้าพเจ้าเลือกไปวัดหนึ่งในจังหวัดราชบุรี ซึ่งจัดงานปริวาสตลอดปี วัดนี้ตรงข้ามกับวัดแรก คือเจ้าอาวาสไม่ค่อยกวดขัน ค่อนข้างจะให้อิสระแก่พระ เช่น บิณฑบาตหรือทำวัตรสวดมนต์ ใครจะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ งานส่วนรวมก็ไม่มี เป็นโอกาสที่ข้าพเจ้าจะได้ปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ จะหาเวลาว่างถึง ๑๐ วันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

จะปฏิบัติธรรมทั้งที ก็ต้องมีความเป็นส่วนตัวอยู่บ้าง แต่ที่ไหนได้ ไปถึงก็พบว่ามีพระมาเข้าปริวาสกันมากกว่าร้อยรูป ที่พักของพระ(ซึ่งเรียกว่า “ปรก”)อยู่ชิดติดเรียงกันเป็นหย่อม ๆ ปรกนั้นมีขนาดแค่ ๓ คูณ ๒ เมตร มีแต่หลังคากับพื้นซึ่งยกสูง ปูด้วยไม้อัดหนา ส่วนฝาทั้งสี่ด้านเปิดโล่ง แต่ส่วนใหญ่จะมีผ้าเหลืองมาปิดไว้หมดคล้ายม่าน คงเพื่อกันฝนและรักษาความเป็นส่วนตัวเอาไว้ แต่ละปรกห่างกันแค่ ๑ เมตรเท่านั้น หย่อมแต่ละหย่อมดูแล้วค่อนข้างแออัด ดีกว่าค่ายอพยพไม่มากเท่าไหร่ ช่วงนั้นเป็นหน้าฝน พื้นดินบางส่วนจึงเป็นเลน มีไม้กระดานวางทอดเป็นระยะสำหรับเดิน

เห็นแล้วก็รู้สึกผิดหวังเล็กน้อยตามประสาคนที่อ่อนประสบการณ์ เพราะเคยคุ้นอยู่กับกุฏิที่โปร่งและกระจัดกระจายอยู่ห่าง ๆ ตามลักษณะของวัดป่า แถมบรรยากาศก็สงบและรื่นรมย์ ตรงข้ามกับที่เห็นอยู่ต่อหน้าขณะนี้ พยายามสอดส่ายหาปรกที่มีทำเลดีกว่านี้ ก็หามีไม่ เพราะเกือบทั้งหมดถูกยึดครองแล้ว

แม้ไม่ค่อยพอใจกับปรกที่ได้มา แต่ก็มาได้คิดว่าทนอยู่สัก ๒-๓ วันก็คุ้นเอง เพราะคนเรานั้นปรับตัวเก่งอยู่แล้ว นี้เป็นบทเรียนอย่างหนึ่งที่ได้จากการอยู่วัดป่า เพราะคนที่มาวัดป่า ใหม่ ๆ ก็รู้สึกติดขัดไปหมด ไหนจะต้องตื่นเช้า ไฟก็ไม่มี เหงาก็เหงา แต่ส่วนใหญ่จะคุ้นภายในไม่กี่วัน และถ้าอยู่นานกว่านั้นก็จะเริ่มชอบบรรยากาศดังกล่าวจนตัดสินใจบวชก็มี

วันแรกและคืนแรกรู้สึกขลุกขลักอยู่บ้าง แต่พอวันที่ ๒ ก็เริ่มปรับตัวเข้ากับตารางประจำวันของวัดได้ อย่างแรกที่ทำคือกำหนดเวลาให้กับตัวเองว่าจะต้องทำอะไรบ้างในแต่ละช่วงเวลา ถัดมาก็คือพยายามเรียนรู้ที่จะอยู่กับปรกของตัวอย่างมีความสุขให้ได้ นั่นคือแทนที่จะจดจ่ออยู่กับส่วนที่ไม่ดีของมัน ก็พยายามมองหาส่วนดีที่เอื้อต่อการปฏิบัติธรรม

พอเปลี่ยนมุมมองก็พบว่าแม้ด้านหน้าของปรกจะมีคนเดินผ่านไปผ่านมา แต่ด้านหลังกลับตรงกันข้าม ด้านนั้นแม้ประชิดกับปรกของพระรูปอื่น แต่ก็พอมีที่ว่างให้เดินจงกรมได้อย่างค่อนข้างหลีกเร้น แถมยังมีต้นมะม่วงที่แผ่กิ่งก้านให้ร่มเงา ทำให้กลางวันไม่ร้อนเหมือนปรกอื่น ๆ ส่วนใบไม้ที่สุมกองอยู่โคนต้นทีแรกดูรกและเกะกะนัยน์ตา แต่ก็ยังดีกว่าดินเลนเฉอะแฉะตรงด้านหน้าของปรก สรุปก็คือมุมนี้แหละที่จะปักหลักทำสมาธิภาวนา ทั้งนั่งและเดิน

ไม่น่าเชื่อว่าสถานที่ที่ดูแออัด ก็ยังมีมุมสงบให้ปฏิบัติธรรมได้อย่างสบาย ไม่ใช่แค่มุมเดียว แต่หลายมุมทีเดียว โดยเฉพาะตอนกลางวัน ซึ่งเป็นช่วงที่พระหลายรูปไปจำวัด หรือออกไปสังสรรค์กับเพื่อนพระด้านหน้าวัด ทำให้บริเวณนั้นว่างเปล่าผู้คน สามารถไปใช้เดินจงกรมได้ แต่พอปฏิบัติไปจนคุ้น ถึงจะมีพระมาเล่นหมากรุกใกล้ ๆ หรือส่งเสียงคุยกัน ก็ยังปฏิบัติได้สบาย ๆ

สถานที่จะน่าอยู่หรือน่าปฏิบัติธรรมหรือไม่ จึงอยู่ที่ใจโดยแท้ ถ้าเอาแต่บ่นหรือจับจ้องแต่ส่วนที่ไม่ดี ก็จะเห็นปัญหาเต็มไปหมด อยู่ก็ไม่มีความสุข พาลให้ไม่อยากปฏิบัติธรรม แต่ถ้ามองหาส่วนดี ก็จะเห็นข้อดีมากมาย ทำให้รู้สึกว่าน่าอยู่และน่าปฏิบัติธรรม

แต่ถ้าทุกอย่างราบรื่น ก็ไม่เรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรม สองวันแรกจะมีปัญหาอยู่บ้างก็ตรงที่พระหนุ่ม ๒ รูปในปรกข้าง ๆ เอาแต่พูดคุยกันทั้งวัน บางครั้งก็เปิดเพลงดังข้ามปรก (ทีแรกนึกว่าเพลงมาจากวิทยุหรือเทป แต่ความจริงมาจากโทรศัพท์มือถือ นี่เป็นข้อมูลใหม่ที่เพิ่งรู้) ถ้าไม่มีเสียงจากปรกข้าง ๆ แสดงว่าพระคุณท่านกำลังหลับหรือไม่ก็ไปเที่ยวสังสรรค์ที่อื่น

วันที่ ๓ ทั้งสองรูปนั้นก็ออกปริวาส เพื่อกลับไปสึก ความสงบกลับคืนมา แต่ก็แค่ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น เพราะตอนกลางวันมีพระหนุ่มเข้ามาอยู่แทน ไม่ใช่แค่รูปเดียว แต่มากันถึง ๔ รูป ที่แย่กว่านั้นคือทั้งหมดล้วนอยู่ในกลุ่มหรือ “ก๊วน”เดียวกัน ต่างปักหลักในปรกข้าง ๆ ข้าพเจ้า คืนแรกทั้งก๊วนคุยกันสนั่น จนข้าพเจ้าต้องขอให้เพลาเสียงเพราะถึงเวลานอนแล้ว

วันต่อมาไม่เพียงแต่เสียงคุยหรือเสียงเพลงเท่านั้นที่ดังมาจากก๊วนนี้ แต่ยังมีเสียงภาพยนตร์จากเครื่องเล่นวีซีดีแบบพกพาที่พวกเขาหยิบยืมจากไหนไม่รู้ ตั้งแต่บ่ายโมงจน ๓ทุ่มจะได้ยินเสียงหนังฝรั่ง หนังแขก หนังไทย ดังกระหึ่มแทบไม่ขาดสาย เป็นเช่นนี้อยู่ ๓-๔ วัน หลังจากนั้นก็เพิ่มรอบเช้าคือตั้งแต่ ๖ โมงเช้า รูปไหนที่ตื่นก่อนก็เปิดดูหนังเลย เลิกเมื่อไหร่ก็มีรูปอื่นมารับช่วงต่อ สลับกันอย่างนี้ตลอดวันจนถึงค่ำ

คำว่าเกรงใจดูเหมือนจะไม่มีในพจนานุกรมของก๊วนนี้ แปลกที่พระรูปอื่นไม่เห็นเป็นปัญหา บางรูปก็ย้ายหนี แต่ข้าพเจ้าอยากจะลองดูว่าจะปฏิบัติธรรมได้ไหมในสภาพแวดล้อมอย่างนี้ บางครั้งก็ปลีกไปเดินจงกรมตรงที่ไกลเสียง แต่บางคราวก็ไม่มีที่ว่าง ก็ต้องมาก็เดินจงกรมหน้าปรกของตัว แต่นั่นก็ไม่ยากเท่ากับการนั่งทำสมาธิภาวนาตรงนั้น เพราะได้ยินเสียงภาพยนตร์เต็มรูหูทั้งสอง แต่มองอีกทีนี้ก็เป็นแบบฝึกหัดการเจริญสติที่น่าท้าทาย คือทำอย่างไรถึงจะมีสติเมื่อเสียงกระทบหู โดยไม่ปล่อยให้ปรุงแต่งเป็นความคิดหรืออารมณ์หงุดหงิด นั่นคือสักแต่ว่าได้ยินเฉยๆ โดยไม่วอกแวกไปจากลมหายใจหรือการเคลื่อนไหวของมือที่ใช้เป็นอารมณ์กรรมฐาน แม้จะทำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่อย่างหนึ่งที่รู้ทันและไม่ก่อให้เกิดปัญหา คือความหงุดหงิดไม่พอใจ เสียงจะดังแค่ไหน แม้จะรบกวนบ้าง แต่ก็ไม่รู้สึกรำคาญจนเกิดโทสะ

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ท้าทายกว่านั้นก็คือการพูดคุยบางช่วงบางตอนของก๊วนนี้ จากการสนทนากันทำให้รู้ว่าพระก๊วนนี้เป็นศิษย์ของเกจิอาจารย์รูปหนึ่งซึ่งถนัดกับการทำวัตถุมงคล บางรูปมีศรัทธาใน “หลวงพ่อ” มากจนเชื่อว่าเป็นประธานแห่งพระโพธิสัตว์เลยทีเดียว สามารถไล่ผีเรียกฝนได้ ก๊วนนี้คุยแต่เรื่องวัตถุมงคลและอิทธิปาฏิหาริย์ แถมยังคุยว่า ตนเอง “มาถูกทาง”แล้ว มีตอนหนึ่งพระในก๊วนพูดถึง เณรน้อยในวัดของตนที่สามารถเรียกฝนได้ เลยมีคนกระเซ้าว่าน่าจะไปอยู่ที่อีสาน เพราะที่นั่นขาดฝน เท่านั้นแหละพระรูปนั้นก็อารมณ์เสีย กล่าวหาคนที่ไม่เชื่อเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ว่าเป็นพวก “มิจฉาทิฏฐิ” รวมทั้งด่ากราดคนอีสานทั้งภาคเพราะไม่เชื่อเรื่องพวกนี้ ใช่แต่เท่านั้นบางตอนพระรูปเดียวกันนี้ยังพูดถึงวีรกรรมของตนตอนป็นฆราวาสว่ามั่วสุมในเรื่องเพศชนิดที่ละเว้นก็เฉพาะเมียเพื่อนกับการรุมโทรมเท่านั้น พูดพลางก็ดูถูกผู้หญิงพลาง แต่ไม่เคยย้อนกลับมาดูตัวเอง

ได้ยินทีแรกก็ไม่เท่าไร แต่เมื่อได้ยินบ่อย ๆ ก็ชักหงุดหงิด แล้วก็เริ่มขุ่นเคือง ใจเริ่มก่นด่าพระรูปนั้น แต่สักพักก็ได้สติขึ้นมาว่า นี่เรากำลังลืมตัวแล้ว เอาแต่มองคนอื่น แต่ไม่มองตัวเอง เพิ่งตำหนิพระรูปนั้นหยก ๆ ว่า มัวโทษคนอื่น แต่ไม่เคยโทษตัวเอง พอรู้ตัวเช่นนั้น ก็ปล่อยให้เขาพล่ามไป มันเป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา

สิบวันที่เข้าปริวาส เป็นทั้งการปฏิบัติธรรมและการเปิดหูเปิดตาไปพร้อมกัน ที่แล้วมาปฏิบัติธรรมในที่ที่สงบวิเวก คราวนี้ได้มาปฏิบัติธรรมในที่ที่เต็มไปด้วยสิ่งเร้าและกระตุ้นผัสสะ ซึ่งทำให้ได้บทเรียนไม่น้อย ขณะเดียวกันก็ได้เปิดหูเปิดตาว่า พระจำนวนไม่น้อยนั้นเขาอยู่กันอย่างไร จะว่าไปแล้วพระที่ข้าพเจ้าได้ประสบสัมผัสระหว่างปริวาสน่าจะเป็นตัวแทนของพระส่วนใหญ่ในเวลานี้ได้ กล่าวคือเป็นพระบ้านหรือพระเมือง มีการศึกษาไม่สูงนักทั้งทางโลกและทางธรรม แต่ถนัดในเรื่องพิธีกรรมและการสวดมนต์

นอกจากจะเห็นอิทธิพลของบริโภคนิยมแล้ว ยังได้เห็นอิทธิพลของ “ไสยนิยม”ในหมู่พระ พระจำนวนไม่น้อยทั้งวันคุยแต่เรื่องวัตถุมงคล หลายรูปแขวนจตุคามรามเทพด้วยความรู้สึกโก๋เก๋ ขณะที่หลายรูปคุยเรื่องพลังจิตและการทายจิต (บางรูปคุยโวว่าดูโหงวเฮ้งคนได้แม่นนัก แต่กลับถูกเพื่อนพระหลอกเอาโทรศัพท์มือถือราคาแพงไปโดยแลกกับเครื่องที่เสียแล้ว) งานปริวาสซึ่งควรมีบรรยากาศของการฝึกฝนขัดเกลาเพื่อให้ไม่พลั้งเผลอกับความผิดพลาด กลายเป็นบรรยากาศของการสังสรรค์ คล้ายสโมสรและรีสอร์ท ที่ใคร ๆ มาพักผ่อน พบปะเพื่อนฝูง ดูหนัง ฟังเพลง ส่องพระ เล่นหมากรุก ดูโทรทัศน์ หรือหาของอร่อยกินสุดแท้แต่ความลึกของกระเป๋า

นี้เป็นอีกโลกหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าได้มารู้จัก และทำให้อดเป็นห่วงไม่ได้ว่าพุทธศาสนาของไทยจะเป็นอย่างไรในอนาคต ที่น่าคิดก็คือพระสงฆ์เหล่านี้เห็นด้วยกับการบัญญัติให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ (ในวัดมีแผ่นผ้าและสติกเกอร์รณรงค์ประเด็นดังกล่าวติดอยู่ทั่ววัด) คำถามก็คือพุทธศาสนาที่ท่านเหล่านี้เรียกร้อง เป็นอันเดียวกับพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ทรงประกาศหรือไม่ ? ถ้าได้มาเห็นบรรยากาศในการปริวาสดังกล่าว ก็คงรู้คำตอบว่าคืออะไร และถ้าพุทธศาสนาตามแบบที่ท่านเหล่านี้เข้าใจ(หรือได้กระทำ)กลายมาเป็นศาสนาประจำชาติอย่างเป็นทางการ พุทธศาสนาจะดีขึ้นหรือแย่ลง คำตอบก็คงหาได้ไม่ยาก

รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล วิสาโล www.visalo.org  korobiznet เอื้อเฟื้อพื้นที่   
webmaster    ๒๕๕๒ All Rights ไม่ Reserved