หน้ารวมบทความ
   บทความ > นิตยสารอิมเมจ > นายหรือทาสความคิด
กลับหน้าแรก

นิตยสาร IMAGE มิถุนายน ๒๕๕๖
นายหรือทาสความคิด
ภาวัน

แบ่งปันบน facebook Share   

ขณะที่เขานั่งรถประจำทางระหว่างอำเภอ ได้รู้จักกับหญิงสาวคนหนึ่ง คะเนแล้วอายุคงไม่ถึง  ๒๐  สนทนากันจนคุ้นเคย เธอก็เล่าว่ามีอาชีพเป็น “โคโยตี้”  พอได้ยินคำนี้ เขาก็รู้สึกลบต่อเธอขึ้นมาทันที ในใจนั้นนึกเห็นภาพโคโยตี้นุ่งน้อยห่มน้อย เต้นยั่วยวนบนเวทีในงานวัด  อย่างไรก็ตาม เขาก็ยังคุยกับเธอต่อไป ช่วงหนึ่งเขาถามเธอว่า กำลังจะไปไหน   เธอตอบว่าจะกลับบ้านไปเกี่ยวข้าว เพราะพ่อแม่ไม่มีคนช่วยเลย

ความรู้สึกของเขาต่อเธอเปลี่ยนไปทันที  ชายหนุ่มหญิงสาวเวลานี้มีกี่คนที่แม้มีชีวิตสุขสบายในเมืองแต่พร้อมจะเอาหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินเพื่อช่วยพ่อแม่ในทุ่งนา   ประโยคต่อมาของเธอทำให้เขารู้สึกละอายใจที่นึกตำหนิเธอก่อนหน้านี้ “หนูไปเป็นโคโยตี้เพื่อหาเงินมาให้พ่อแม่ เพราะไม่รู้ว่าจะไปทำอาชีพอะไร”

หากไม่ได้คุยกันให้มากกว่านี้ เขาคงเข้าใจเธอผิด หลงคิดว่าเธอเป็นผู้หญิง “ไม่ดี” เพียงเพราะได้ยินคำว่า “โคโยตี้” 

หมอผู้หนึ่งเล่าว่า เคยมีคนไข้เป็นเด็กอายุไม่กี่ขวบ  เขาได้กำชับกับพ่อเด็กว่าเวลาหมอขึ้นเวรเช้าเพื่อตรวจคนไข้  พ่อต้องอยู่กับลูกด้วย หมอจะได้สอบถามอาการลูก รวมทั้งให้คำแนะนำพ่อว่าจะต้องดูแลลูกอย่างไรบ้าง เพราะพยาบาลมีงานล้นมือ  ผ่านไปเกือบอาทิตย์  เช้าวันหนึ่งหมอขึ้นไปตรวจคนไข้ ไม่เห็นพ่อเด็กเหมือนเคย ก็ไม่พอใจ วันต่อมา พ่อก็หายตัวไปอีก  เขารู้สึกโกรธขึ้นมาทันที  ตอนเย็นเขาเห็นพ่อเด็กอยู่ข้างเตียงลูก จึงเดินไปต่อว่า ตอนเช้าคุณหายหัวไปไหน ทำไมไม่ใส่ใจลูก เป็นพ่อประสาอะไร รู้ไม่ใช่หรือว่าลูกป่วยหนัก

พ่อเด็กพนมมือขอโทษขอโพยหมอ พร้อมกับบอกว่า  สองสามวันมานี้เขาไม่มีเงินกินข้าวเลย ที่เตรียมมาไม่กี่สิบบาทก็หมดแล้ว ตอนเช้าจึงต้องไปขอกินข้าววัดข้าง ๆ โรงพยาบาล  กว่าจะได้กินก็ต้องรอพระฉันเสร็จก่อน กินข้าวเสร็จแล้วก็ต้องล้างถ้วยล้างชามให้วัด กว่าจะเสร็จก็สายแล้ว เลยไม่ทันเจอคุณหมอ

หมอได้ฟังเช่นนั้นก็หายโกรธ รู้สึกผิดขึ้นมาทันทีที่ต่อว่าพ่อเด็ก เพราะคิดว่าเขาเถลไถล ไม่รับผิดชอบ  ไม่เคยนึกมาก่อนเลยว่าเขาจะลำบากยากจนถึงเพียงนี้

เมื่อได้ยินหรือเห็นอะไร  เรามักคิดหรือขยายความเกินกว่าสิ่งที่รับรู้อยู่ต่อหน้า  บ่อยครั้งก็นึกคิดในทางลบ  เท่านั้นไม่พอ ยังเชื่อหรือสำคัญมั่นหมายว่าความคิดเหล่านั้นเป็นความจริงอีกด้วย  สิ่งที่ตามมาก็คือความไม่พอใจ หรือถึงขั้นโกรธเกลียด นำไปสู่การทำร้ายกันด้วยคำพูดหรือทำสิ่งที่เลวร้ายกว่านั้น 

จะว่าไปแล้ว ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การคิดเกินกว่าสิ่งที่รับรู้ แต่อยู่ที่การด่วนสรุปหรือหลงเชื่อความคิดนั้น  ขืนทำเช่นนั้นเราย่อมกลายเป็นทาสความคิดได้ง่าย ๆ  คนที่เป็นนายความคิดคือ คนที่รู้จักทักท้วงความคิดที่เกิดขึ้นในใจตน นอกจากไม่ด่วนสรุปแล้ว ยังไม่หลงเชื่อหรือทำตามมันง่าย ๆ  

เคยมีชายผู้หนึ่งถูกพี่ชายพามาบวชกับหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ ที่ชัยภูมิ   ท่านจึงสอนให้เขาทำสมาธิภาวนาตั้งแต่วันแรก  อยู่ว่าง ๆ ก็ให้เดินจงกรม ผ่านไปแค่ ๒-๓ วัน เขาก็มาขอสึก  ให้เหตุผลว่าไม่ได้มาบวชเพื่อมาเดินจงกรม  แต่มาบวชเพราะพี่ชายขอร้อง ตอนนี้เขาไม่อยากอยู่แล้ว  แต่หลวงพ่อไม่ยอมสึกให้ บอกให้เขากลับไปเดินจงกรม เขาหายไปไม่ถึงชั่วโมงก็กลับมาขอสึกอีก  หลวงพ่อปฏิเสธเช่นเคย  ให้เขากลับไปเดินจงกรม  พักใหญ่เขาก็กลับมาขอสึกอีก

คราวนี้หลวงพ่อจึงถามว่า “อะไรพาให้คุณมาหาผม?”  “ความคิดครับ” เขาตอบ  ท่านจึงย้อนกลับไปว่า “มันคิดแล้วต้องทำตามความคิดทุกอย่างหรือ? ถ้าคุณทำตามความคิดทุกอย่าง ไม่แย่หรือ?”

เขาไม่พอใจกับคำตอบ แต่เมื่อรู้ว่าสึกไม่ได้แน่ ก็เดินหายไป  รุ่งเช้าทันทีที่เห็นหลวงพ่อ เขาก็เข้ามากราบท่านอย่างนอบน้อม ขอบคุณหลวงพ่อเป็นการใหญ่ แล้วบอกว่า หากหลวงพ่อยอมให้เขาสึก  เขาต้องกลายเป็นฆาตกรแน่ เพราะเขาตั้งใจจะไปฆ่าภรรยากับชู้ให้หายแค้น แต่เมื่อหลวงพ่อทักท้วงเขา เขาจึงได้สติ และเปลี่ยนใจไม่สึก

ความคิดนั้นมีประโยชน์หากเราเป็นฝ่ายใช้มัน  แต่ถ้ามันใช้เราเมื่อไร ก็วุ่นวายหรือหายนะได้เมื่อนั้น


รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล วิสาโล www.visalo.org  korobiznet เอื้อเฟื้อพื้นที่   
webmaster    ๒๕๕๒ All Rights ไม่ Reserved