![]() |
เยียวยาใจ |
คำนำ เมื่อเราล้มป่วย เราไม่ได้ป่วยแต่กายเท่านั้น ส่วนใหญ่มักป่วยใจด้วย กล่าวคือ มีความเครียด หงุดหงิด วิตกกังวล รวมทั้งความหวาดกลัว เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ทำให้เป็นทุกข์มากขึ้น (จะเรียกว่าทุกข์สองต่อก็ได้) บ่อยครั้งทุกข์เพราะความป่วยใจนั้นหนักกว่าทุกข์เพราะความป่วยกายด้วยซ้ำ อีกทั้งยังซ้ำเติมให้ความป่วยกาย (รวมทั้งความเจ็บปวด) รุนแรงขึ้นด้วย ความป่วยใจนั้นมักเป็นผลสืบเนื่องจากความป่วยกาย แต่บางครั้งก็เป็นสาเหตุของความป่วยกาย จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไมบางคนเจ็บป่วยเรื้อรังทั้ง ๆ ที่ไม่พบความผิดปกติในร่างกาย หมอให้ยาเท่าไรก็ไม่ดีขึ้น ด้วยเหตุนี้นอกจากการเยียวยาทางกายแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือการเยียวยาช่วยเหลือทางจิตใจ ประการหลังมีความสำคัญมากโดยเฉพาะกับผู้ที่ป่วยด้วยโรคร้าย เช่น มะเร็ง หรือผู้ที่อยู่ในระยะท้ายของชีวิต ความป่วยใจของเขามักจะเพิ่มเป็นทวีหรือตรีคูณเลยทีเดียว ไหนจะห่วงลูกหลานที่ยังเล็กหรือพ่อแม่ผู้ชรา ไหนจะไม่สบายใจที่ตนเองกลายเป็นภาระของคนรัก ไหนจะกลัวความตายที่ใกล้เข้ามา ยังไม่ต้องพูดถึงความรู้สึกผิดติดค้างใจที่สะสมจากอดีต หรือความโกรธแค้นในชะตากรรมหรือผู้คนที่ทำให้ตนมาถึงจุดนี้ ความรู้สึกนึกคิดดังกล่าวทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากอยู่อย่างทุรนทุราย กราดเกรี้ยว หดหู่ ซึมเศร้า แต่หากได้รับการเยียวยารักษาใจ เขาก็จะกลับมามีชีวิตชีวา มีกำลังใจในการดำเนินชีวิต พร้อมเผชิญกับโรคร้าย และยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยใจสงบ การเยียวยารักษาใจนั้นต้องอาศัยธรรมโอสถเป็นหลัก อันได้แก่ สติ สมาธิ ปัญญา และที่สำคัญไม่น้อยก็คือ เมตตากรุณา เมตตากรุณาหรือความรักจากคนรอบข้างนั้น มีพลังในการเยียวยารักษาใจได้อย่างวิเศษ ด้วยเหตุนี้กัลยาณมิตรหรือเครือข่ายเพื่อนจึงเป็นสิ่งที่ควรเสริมสร้างให้มีขึ้นแวดล้อมผู้ป่วย การได้อยู่ท่ามกลางเพื่อนที่มีความปรารถนาดี จริงใจ และช่วยเหลือเกื้อกูล ขณะเดียวกันก็ได้เป็นฝ่ายมอบน้ำใจไมตรีให้แก่ผู้อื่นด้วย เป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มพูนสุขภาพจิต ทำให้จิตแจ่มใส ใจเบิกบาน ซึ่งมีผลในการเยียวยาร่างกายได้ไม่น้อย เครือข่ายมิตรภาพบำบัด ที่คุณหมอรุจิรา มังคละศิริและคณะได้ริเริ่มขึ้น ในจังหวัดนครราชสีมา โดยได้จัดค่ายผู้ป่วยมะเร็งต่อเนื่องตลอด ๖ ปีที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงพลังของมิตรภาพในการเยียวยาผู้ป่วย ซึ่งสามารถนำไปเป็นแบบอย่างสำหรับที่อื่นได้เป็นอย่างดี ใช่แต่เท่านั้นกิจกรรมดังกล่าวยังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของจิตอาสาในการปลดเปลื้องความทุกข์ใจของผู้ป่วย ทำให้เขาได้รับการเยียวยาเหมือนเป็นคนใหม่ ประสบการณ์ของครูดล ธนวัชร์ เกตน์วิมุต ที่ได้ถ่ายทอดลงในหนังสือเล่มนี้ เป็นบทเรียนอันงดงามที่ย้ำเตือนให้เราตระหนักถึงพลังแห่งการฟังผู้ป่วยด้วยใจที่เปิดกว้างและเปี่ยมด้วยเมตตา มิใช่เพื่อเข้าใจคำพูดหรือความคิดของเขาเท่านั้น ที่สำคัญกว่านั้นคือเข้าใจความรู้สึกของเขา โดยไม่ตัดสิน และหากสะท้อนสิ่งที่ได้ฟังด้วยใจนั้นให้เขารับรู้ หรือตั้งคำถามให้เขาได้คิด ก็อาจช่วยให้เขาเห็นตัวเองและสามารถคลี่คลายอารมณ์ลบนั้นได้ด้วยตนเอง โดยเราไม่จำเป็นต้องแนะนำสั่งสอนหรือเทศนาให้เขาฟัง ขออนุโมทนาคุณหมอรุจิรา และคณะที่ได้ริเริ่มและขับเคลื่อนเครือข่ายมิตรภาพบำบัดมาตั้งแต่ต้น เกิดอานิสงส์มากมายต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่เฉพาะผู้ป่วย หากยังรวมถึงผู้จัดและจิตอาสาด้วย ใช่แต่เท่านั้นหนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นและสำเร็จได้ก็เพราะคุณหมอรุจิราเช่นกัน เรื่องเล่าที่คุณหมอได้ถ่ายทอดออกมาในรูปจดหมายหลายฉบับในเล่มนี้ ตั้งคำถามให้ผู้อ่านซึ่งน่าจะนำไปคิดต่อ และหาคำตอบด้วยตัวเอง โดยไม่หยุดอยู่ตรงคำตอบที่ได้รับจากอาตมาเท่านั้น พระไพศาล วิสาโล |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|