![]() |
เทพตำนานซีซิฟ เขียนโดย อัลแบรต์ กามูส์
|
บทนำ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความขัดแย้งพื้นฐานก็คือ ด้านหนึ่ง มนุษย์ต้องการความหมายและคุณค่า แต่อีกด้านหนึ่ง โลกนั้นปราศจากความหมายและคุณค่าใด ๆ ด้านหนึ่งมนุษย์ต้องการเหตุผล แต่อีกด้านหนึ่งโลกนั้นไร้เหตุผล ในทัศนะของกามูส์นี้เป็นความขัดแย้งที่ไม่มีทางจะคลี่คลายได้ นี้คือภาวะที่กามูส์เรียกว่า absurd ซึ่งหนังสือแปลเล่มนี้ใช้คำว่า “ไร้สาระ” (ในขณะที่หนังสือบางเล่มใช้คำว่า “พิลึก”) เป็นภาวะที่มนุษย์ไม่มีทางจะค้นพบคุณค่า ความหมาย เหตุผล ใด ๆ ได้เลย ความรู้สึกว่าโลกนี้ไร้สาระ ไร้เหตุผล ไร้คุณค่า ย่อมสร้างความทุกข์ใจแก่ผู้คน กามูส์ไม่เห็นด้วยกับการจัดการกับความรู้สึกนี้ด้วยการฆ่าตัวตาย เพราะนั่นคือการหนีปัญหา ขณะเดียวกันเขาก็ไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาด้วยการเข้าหาศาสนา หรือเอาศรัทธาทางศาสนามาเป็นคำตอบ โดยถือว่ามีสิ่งที่อยู่เหนือเหตุผล ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ด้วยศรัทธาต่อพระเจ้า ด้วยความเชื่อว่าจะพบความหมายและคุณค่า เขาเห็นว่านี้เป็น “การฆ่าตัวตายทางปรัชญา” กามูส์เห็นว่ามีทางเลือกที่สาม นั่นคือการตระหนักถึงภาวะที่ไร้เหตุผลของโลกนี้ และมีชีวิตโดยไม่คาดหวังความหมายจากมัน ไม่ปรารถนาที่จะแสวงหาความหมายของชีวิต รวมทั้งไม่วาดหวังชีวิตที่ดีกว่าในอนาคต (ภพหน้า หรือสวรรค์) กามูส์เชื่อว่าเราสามารถมีชีวิตในโลกที่ไร้ความหมายหรือคุณค่าได้ เขาเสนอท่าทีต่อชีวิตสามประการ คือ “กบฏ” (ปฏิเสธการฆ่าตัวตายและปฏิเสธที่จะแสวงหาความหมาย) “อิสรภาพ” (ไม่ถูกครอบงำด้วยศรัทธาทางศาสนาหรือกฎเกณฑ์ทางศีลธรรม) และ “ความปรารถนาอันแรงกล้า” (การอยู่อย่างมีชีวิตชีวาเต็มเปี่ยม) ในเมื่อเราคาดหวังสาระไม่ได้จากชีวิตและมิอาจหวังชีวิตเบื้องหน้าที่ดีกว่า เราจึงควรใช้ชีวิตทุกขณะด้วยความรู้สึกเต็มร้อย เพื่อให้แนวคิดของเขาเป็นรูปธรรม เขาได้เสนอแบบอย่างของบุคคลที่ตระหนักถึงความไร้สาระของชีวิต ได้แก่ ดอนฆวน นักแสดง ผู้พิชิต และผู้สร้างสรรค์ แต่คนที่เขาถือว่าเป็นวีรบุรุษของบุคคลที่เขาเรียกว่า Absurd Man ก็คือ ซีซิฟ ซึ่งถูกกล่าวขานในเทพปกรณัมของกรีก ซีซิฟถูกพระเจ้าลงโทษให้เข็นหินก้อนใหญ่ขึ้นภูเขาเพียงเพื่อพบว่าในที่สุดก้อนหินนั้นตกลงมา แล้วเขาก็ต้องเริ่มต้นขนก้อนหินอีกครั้ง เป็นเช่นนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า สิ่งที่ซีซิฟทำวันแล้ววันเล่านั้นซ้ำซาก ไร้ความหมาย ไร้สาระอย่างยิ่ง ไม่ต่างจากคนยุคปัจจุบันที่ทำงานจำเจซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกวันอย่างหาสาระไม่ได้เลย แต่สิ่งที่ซีซิฟต่างจากคนยุคปัจจุบันในทัศนะของกามูส์ ก็คือ เขาตระหนักถึงความไร้สาระของสภาพที่ดำรงอยู่ แต่ก็หาย่อท้อไม่ ด้วยเหตุนั้น “เราจำต้องเชื่อว่า ซีซิฟมีความสุข” แนวคิดของกามูส์ในเรื่องความไร้สาระและไร้ความหมายของชีวิตนั้น สวนทางกับแนวคิดทางศาสนา โดยเฉพาะศาสนาที่เชื่อในพระเจ้า เพราะศาสนาดังกล่าวเชื่อว่าพระเจ้าสร้างมนุษย์ขึ้นมาอย่างมีจุดมุ่งหมาย อันที่จริงแม้แต่พุทธศาสนาซึ่งไม่ใช่ศาสนาเทวนิยม ก็ยังมองว่ามนุษย์ควรดำเนินชีวิตอย่างมีจุดมุ่งหมาย อันได้แก่การบำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ทั้งนี้ด้วยการฝึกฝนตนทั้งกาย วาจา และใจให้งอกงาม การดำเนินชีวิตอย่างมีจุดมุ่งหมายย่อมทำให้มนุษย์เรามีความสุขและได้รับการเติมเต็ม จะว่าไปแล้วคุณค่าของชีวิตอยู่ที่เจตจำนงของมนุษย์แต่ละคน ไม่ได้อยู่ที่ใครอื่น แม้มนุษย์เกิดมาโดยไม่มีพระเจ้ามาเกี่ยวข้องหรือประทานจุดมุ่งหมายมาให้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราควรมีชีวิตอยู่โดยไร้จุดหมาย หรือปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม จุดหมายของชีวิตนั้นเป็นสิ่งที่เรากำหนดได้ ในทำนองเดียวกันโลกจะมีคุณค่าและความหมายหรือไม่ ก็อยู่ที่การกำหนดของเราเอง อย่างไรก็ตามการกำหนดของเรานั้น ใช่ว่าจะเป็นไปตามใจชอบหรือไร้ขอบเขตกฎเกณฑ์ ในส่วนลึกของเราทุกคนย่อมมีมโนธรรมสำนึกที่บอกให้เรารู้ว่า สิ่งใดถูก สิ่งใดผิด อาจกล่าวได้ว่ามโนธรรมดังกล่าวเป็นสากล ดังพบว่าในทุกวัฒนธรรมแม้กระทั่งในหมู่ชาวป่าที่อยู่อย่างบรรพกาลก็มีกฎหรือกติกาบางอย่างที่คล้ายกัน เช่น เห็นว่าการฆ่าไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ตามอำเภอใจ เป็นต้น คุณธรรมบางอย่างเป็นสิ่งที่ยอมรับร่วมกันในทุกสังคม ในขณะเดียวกันมีคุณค่าอีกมากมายที่เราควรกำหนดขึ้นเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก รวมทั้งมีการปฏิบัติอีกมากมายที่เราควรทำให้เกิดขึ้นเพื่อทำให้ชีวิตส่วนบุคคลเจริญงอกงามและเป็นสุข จริงอยู่วิถีสู่ความสุขนั้นมีความหลายหลายแตกต่างกันมาก อีกทั้งความสุขก็มีหลายระดับหลายประเภท แต่ความสุขแต่ละระดับแต่ละประเภทนั้น ทุกคนสามารถรับรู้ได้เหมือนกัน สัมผัสรสชาติเดียวกันได้ แม้จะใช้ภาษาต่างกันหรืออาจพรรณนาไม่ได้เลยด้วยคำพูดก็ตาม กามูส์ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดคุณค่าและความหมายให้แก่ชีวิต เพราะความจริงแล้วชีวิตนั้นไร้คุณค่าและความหมายอยู่ตั้งแต่แรก เขาเห็นว่ามนุษย์สามารถจะมีความสุขได้แม้ตระหนักว่านอกจากชีวิตไร้จุดมุ่งหมายแล้ว โลกยังไร้เหตุผลและสาระด้วยประการทั้งปวง ดังมีซีซิฟเป็นตัวอย่าง เขายังเชื่อด้วยว่ามนุษย์สามารถจะบรรลุถึงอิสรภาพได้ก็ด้วยการยอมรับถึงความไร้สาระของโลกและชีวิต ในขณะที่กามูส์เห็นว่าโลกนั้นไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิง แต่เขาก็กลับใช้เหตุผลในการบรรลุถึงข้อสรุปดังกล่าว อีกทั้งยังเห็นว่าการใช้เหตุผลจนตระหนักถึงข้อสรุปดังกล่าวจะช่วยให้มนุษย์บรรลุถึงอิสรภาพได้ แน่นอนว่าเขาหมายถึงอิสรภาพทางใจยิ่งกว่าอะไรอื่น เพราะตราบใดที่ยังอยู่ในสังคมก็ยังต้องถูกรัดรึงหรือกำกับด้วยกฎเกณฑ์ทางสังคมไม่มากก็น้อย (หรือถูกกำหนดด้วยอำนาจพิเศษดังชะตากรรมของซีซิฟ) ข้อที่น่าสงสัยก็คืออิสรภาพทางใจจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงด้วยการใช้เหตุผลละหรือ ทั้งนี้เพราะคนเราไม่ได้อยู่ด้วยเหตุผล (หรือ “สมอง”)เท่านั้น อารมณ์ความรู้สึก (หรือ “หัวใจ”)ก็มีความสำคัญไม่น้อย จะว่าไปแล้วอารมณ์ความรู้สึกมีอิทธิพลมากกว่าสมองด้วยซ้ำสำหรับคนส่วนใหญ่ แม้แต่นักคิดทางปรัชญาที่ได้รับสมญาว่า Great Mind หลายคนก็มิอาจได้รับการยกย่องว่า Great Man ได้ เพราะปล่อยให้อารมณ์ความรู้สึก(หรือกิเลส) ขับเคลื่อนพฤติกรรมของเขา ชนิดที่สวนทางกับเหตุผลหรือความคิดอันสูงส่งของเขา อย่างไรก็ตามแนวคิดของกามูส์มีประเด็นหนึ่งที่สอดคล้องกับพุทธศาสนา นั่นคือคนเราสามารถพบความสุขได้จากชีวิตและกิจกรรมที่ซ้ำซากและดูไร้สาระดังมีซีซิฟเป็นแบบอย่าง ในขณะที่พุทธศาสนามองว่าสุขหรือทุกข์นั้นมิได้ขึ้นอยู่กับว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเรา แต่อยู่ที่ว่าเรารู้สึกหรือมีท่าทีอย่างไรต่อมันมากกว่า แม้ประสบเหตุร้าย เราก็ยังมีความสุขอยู่ได้ ดังมีพุทธพจน์ว่า “ผู้มีปัญญา แม้ประสบทุกข์ก็ยังหาสุขพบ” ในทำนองเดียวกัน แม้ทำการงานที่ซ้ำซากจำเจ แต่เราก็สามารถมีความสุขได้ แต่ละขณะเป็นสิ่งใหม่ได้เสมอหากใจอยู่กับปัจจุบันหรือมีสติในสิ่งที่ทำ มองให้ลึกลงไปพุทธศาสนามองว่าแท้ที่จริงคนเรามีชะตากรรมไม่ต่างจากซีซิฟด้วยซ้ำ ไม่ใช่เพราะต้องทำกิจกรรมซ้ำซากจำเจวันแล้ววันเล่า แต่เป็นเพราะชีวิตของเราทุกคนเต็มไปด้วยทุกข์ เมื่อเกิดมาแล้ว ก็ต้องแก่ เจ็บ พลัดพราก แล้วก็ตาย เพียงเพื่อจะเกิดมาพบกับความทุกข์อย่างเดิมอีก เช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เวียนเกิดเวียนตายเช่นเดียวกับซีซิฟที่เวียนขึ้นเวียนลงเพื่อเข็นก้อนหินขึ้นเขา แต่ถึงจะหนีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย และพลัดพรากไม่พ้น แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องทุกข์ใจเพราะชะตากรรมดังกล่าว หากตระหนักว่ามันเป็นธรรมดาโลก พุทธศาสนามามองว่า ทุกข์นั้นเป็นธรรมดาโลก เป็นธรรมชาติพื้นฐานของสังขารหรือสิ่งทั้งปวง ไม่มีอะไรที่ไม่ถูกบีบคั้นกดดันและเสื่อมสลายไปในที่สุด ดังพระพุทธองค์ตรัสว่า มีแต่ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ มีแต่ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป ทันทีที่เกิดมา ทุกข์ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของเรา ไม่ว่าสุขอย่างไรก็หนีทุกข์ไม่พ้น ไม่เพียงเราทุกคนถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้วเท่านั้น แต่ยังมีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าด้วย กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าการพ้นทุกข์นั้นเกิดขึ้นไม่ได้ การพ้นทุกข์ หรือใจไม่ถูกบีบคั้นด้วยความทุกข์นั้น เกิดขึ้นได้เมื่อมีปัญญาเห็นว่าทุกอย่างเป็นทุกข์ทั้งนั้น ไม่อาจหวังความสุขจากมันได้ ขณะเดียวกันทุกอย่างก็ล้วนเกิดดับ ไม่จีรังยั่งยืน จึงไม่อาจและไม่ควรยึดติดถือมั่น จิตที่ปล่อยวาง ไม่ยึดติดถือมั่นว่าต้องเที่ยงและเป็นสุข เป็นจิตที่ความทุกข์บีบคั้นไม่ได้ แม้ต้องอยู่ท่ามกลางความทุกข์ก็ตาม นอกจากความทุกข์ (ทุกขัง) ความไม่จิรัง (อนิจจัง) แล้ว ในทัศนะของพุทธศาสนา สังขารหรือสิ่งทั้งปวงไม่ว่ารูปธรรมหรือนามธรรม ก็ล้วนไม่ใช่ตัวตน ไม่มีตัวตน (อนัตตา) กล่าวอีกนัยหนึ่งคือไร้แก่นสารที่เป็นอิสระคงทนหรือเที่ยงแท้ สิ่งทั้งปวงที่เราเรียกว่านั่นว่านี่นั้น หาตัวตนจริงแท้ไม่ได้เลยสักอย่าง ที่เรียกว่านั่นว่านี่ เช่น คน สัตว์ รถ บ้าน ล้วนเป็นสมมติทั้งนั้น แต่หาตัวตนของคน สัตว์ รถ บ้าน ไม่พบเลย แม้แต่ความดี ความชั่ว ก็เป็นสมมติ ส่วนความจริงสูงสุดที่เรียกว่าปรมัตถ์นั้น อยู่พ้นความดีความชั่ว ไม่มีดีไม่มีชั่ว มองในแง่นี้ก็อาจเทียบเคียงได้กับแนวคิดของกามูส์ที่มองว่าโลกนั้นแท้จริงแล้วไม่มีสาระ ว่างเปล่าจากคุณค่าและความหมาย มีแต่สาระ คุณค่า และความหมายที่เรากำหนดขึ้นเอง แต่ถ้าจะหาสิ่งเหล่านั้นจริง ๆ จากโลก ก็ย่อมไม่พบ ในขณะที่กามูส์เห็นว่าการใช้เหตุผลจะช่วยให้เราเห็นความจริงว่าโลกนั้นปราศจากสาระและคุณค่า พุทธศาสนากลับมองว่าเหตุผลอย่างเดียวย่อมไม่พอ จะเห็นความจริงว่าทุกสิ่งไร้ตัวตน เป็นทุกข์ และไม่จิรัง อย่างลึกซึ้งได้ต้องใช้ปัญญาที่ไปพ้นเหตุผล จนจิตไร้ข้อกังขา ยอมรับความจริงดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง จนไม่ยึดติดถือมั่นกับอะไรอีกต่อไป รวมทั้งไม่ยึดมั่นในตัวกูของกูอีกต่อไป ถึงจุดนั้นกิเลสก็ดับไป ไม่มีการกระทำใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อสนองตัวตน หรือทำด้วยความเห็นแก่ตัว ในทางตรงข้ามเมื่อ “ตัวกูของกู”ดับไป ไม่มีความเห็นแก่ตัว จิตก็เกิดกรุณาอย่างไม่มีประมาณ พร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามตราบใดที่ปัญญาระดับนั้นยังไม่เกิด ความยึดติดถือมั่นในตัวกูของกูก็ยังมีอยู่ จึงจำต้องดูแลตัวกูของกูให้ดี ไม่ปล่อยให้ไปเบียดเบียนผู้ใด ขณะเดียวกันก็ควรขัดเกลาตัวกูของกูให้ประณีตขึ้น ในทำนองเดียวกันความยึดติดในสมมติก็ยังมีอยู่ ยังเห็นว่ามีดีมีชั่วอยู่ ดังนั้นจึงควรยึดความดี ละเว้นความชั่ว และก้าวไปสู่ขั้นที่ปล่อยวางความดีเป็นลำดับ มนุษย์ทุกคนถูกลงโทษด้วยความแก่ ความเจ็บ และความตาย ไม่ต่างจากซีซิฟที่ถูกพระเจ้าลงโทษให้เข็นก้อนหินขึ้นเขาด้วยความเหนื่อยยาก ความตายมิใช่การสิ้นทุกข์เพราะยังต้องเกิดใหม่อีก เช่นเดียวกับก้อนหินเมื่อตกลงมาก็ไม่ได้แปลว่าซีซิฟหมดภาระ หากแต่เป็นจุดเริ่มต้นของความยากลำเค็ญอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตามขณะที่ซีซิฟต้องเข็นหินขึ้นเขาวันแล้ววันเล่าอย่างไร้ความหวังว่าภารกิจดังกล่าวมีวันสิ้นสุด ในทัศนะของพุทธศาสนามนุษย์ยังมีหวังว่าการเวียนว่ายตายเกิดจะสิ้นสุดได้ ไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย อีกต่อไป กล่าวอีกนัยหนึ่งคือสามารถเอาชนะความเกิด แก่ เจ็บ ตายได้ในที่สุด นี้คืออิสรภาพสูงสุดที่มนุษย์ทุกคนสามารถบรรลุถึงได้ แต่แม้ยังไม่บรรลุถึงอิสรภาพดังกล่าว เราก็ยังมีความสุขได้หากไม่ปล่อยใจให้ถูกบีบคั้นด้วยความแก่ ความเจ็บ และความตาย การรักษาใจให้เป็นสุขในวาระที่ความตายใกล้เข้ามานั้นเป็นไปได้ ดัง “เมอโซ” ตัวเอกในนิยายเรื่อง คนนอก ของกามู อันเป็น Absurd Man อีกคนหนึ่งที่ใกล้ชิดเรายิ่งกว่าซีซิฟ ได้เผยความในใจก่อนถูกนำไปประหารชีวิตว่า “ในที่สุดฉันก็ตระหนักว่าฉันเคยมีความสุขตลอดมา และฉันยังคงเป็นสุขอยู่ตราบจนวินาทีสุดท้าย” |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|