![]() |
รู้ก่อนตายไม่เสียดายชีวิต |
คำนิยม เราทุกคนต้องตาย นี้เป็นความจริงที่ไม่มีใครหนีพ้น ไม่ว่าจะทำอย่างไร ก็ต้องตายวันยังค่ำ ดังนั้นจึงไม่มีประโยชน์ที่จะปฏิเสธผลักไสหรือหันหลังให้มัน จะดีกว่าหากเรายอมรับความจริงข้อนี้ เตือนตนอยู่เสมอว่าสักวันหนึ่งเราต้องตาย ขณะเดียวกันก็พยายามเตรียมตัวเตรียมใจเพื่อพร้อมรับความตายเมื่อวันนั้นมาถึง นอกจากคิดถึงการอยู่ดี หรือมีชีวิตที่ดีแล้ว เราควรสนใจเรื่องการตายดีด้วย ใครก็ตามที่ขวนขวายเพื่อมีชีวิตที่ดี แต่ละเลยการเตรียมตัวเพื่อตายดี นับว่าเป็นผู้ประมาทอย่างยิ่ง อันที่จริง “อยู่ดี” กับ “ตายดี” เป็นสิ่งที่ไปด้วยกัน หากว่าการอยู่ดีนั้นหมายถึงการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า หมั่นทำความดี ละเว้นความชั่ว รวมทั้งลดละความเห็นแก่ตัวและอารมณ์อกุศลที่สร้างความทุกข์ให้แก่จิตใจ (ไม่ใช่ “อยู่ดีกินดี” หรืออยู่อย่างอัครฐาน พรั่งพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติ) การตายดีก็เป็นอันหวังได้ ในทำนองเดียวกันหากฝึกจิตอยู่เสมอเพื่อการตายดี ย่อมส่งผลให้การดำเนินชีวิตของเราเป็นไปในทางที่ดีงาม เช่น เห็นความสำคัญของการอยู่อย่างไม่ประมาท มีศรัทธาในสิ่งดีงาม ขณะเดียวกันก็รู้จักปล่อยวาง แม้วัฒนธรรมการใช้ชีวิตของคนในยุคนี้จะทำให้ความตายดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว จนคนส่วนใหญ่อยู่เหมือนคนลืมตาย เพราะมัวหลงเพลินในความสุขหรือหมกมุ่นกับการแสวงหาทรัพย์และสถานะ แต่นิมิตดีก็คือมีคนจำนวนมากขึ้นที่เห็นความสำคัญของการเตรียมตัวตาย ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาหนังสือที่เกี่ยวกับหัวข้อนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก เช่นเดียวกับการอบรมเพื่อเตรียมตัวตาย ซึ่งปัจจุบันมีหลายรูปแบบและจัดโดยคนหลายกลุ่ม มีผู้สนใจเข้ารับการอบรมอย่างต่อเนื่อง ความตายเป็นเรื่องที่พูดกันอย่างเปิดเผยได้มากขึ้น ตั้งแต่ในบ้านจนถึงโรงพยาบาล ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลไปถึงระบบบริการสุขภาพ ซึ่งเดิมมุ่งยื้อชีวิตผู้ป่วยที่อยู่ในระยะสุดท้าย ปัจจุบันก็หันมาให้ความสำคัญกับการรักษาแบบประคับประคองมากขึ้น กล่าวคือมุ่งลดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ ในสังคมไทยองค์ความรู้เกี่ยวกับการเตรียมตัวตายหรือช่วยให้ตายสงบนั้นมีพุทธศาสนาเป็นแหล่งที่มาอันสำคัญ แต่นอกจากพุทธศาสนาแบบเถรวาทแล้ว พุทธศาสนาแบบทิเบตก็ได้รับความสนใจไม่น้อย อิทธิพลส่วนหนึ่งมาจากงานนิพนธ์ของท่านทะไลลามะ และท่านโซเกียล ริมโปเช งานแปลของทั้งสองท่านเป็นที่คุ้นเคยของผู้อ่านชาวไทยที่สนใจเรื่องนี้ ทุกวันนี้ก็ยังมีการตีพิมพ์ซ้ำอย่างต่อเนื่อง พุทธศาสนาแบบเถรวาทและทิเบตนั้น มีความสอดคล้องกันหลายประการในเรื่องทัศนะต่อความตาย เช่น เห็นว่าความตายมิได้หมายถึงการดับสูญ หากยังมีความสืบเนื่องหลังจากความตาย ความสืบเนื่องดังกล่าวนั้นจะเป็นไปในทางดีหรือร้าย ขึ้นอยู่กับกรรม คือการกระทำในขณะที่ยังมีชีวิต และที่สำคัญไม่น้อยก็คือมโนกรรมหรือการกระทำทางใจขณะที่กำลังจะตาย ซึ่งหมายความว่าความหลุดพ้นจากทุกข์หรือสังสารวัฏสามารถเกิดขึ้นขณะที่กำลังจะตาย ความตายจึงเป็น “หน้าต่างแห่งโอกาส” ที่ไม่ควรมองข้าม ดังท่านอาจารย์พุทธทาสเรียกว่า “ นาทีทอง” ในพระไตรปิฎกมีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับพระเถระและพระเถรีที่บรรลุอรหัตผลขณะที่กำลังจะหมดลม หรือสิ้นกิเลสพร้อม ๆ กับสิ้นลม ส่วนคฤหัสถ์หลายคนก็บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลก่อนที่จะสิ้นลม อย่างไรก็ตามพุทธศาสนาแบบทิเบตมีความเห็นไปไกลกว่านั้นว่า แม้สิ้นลมแล้ว โอกาสที่จะหลุดพ้นหรือบรรลุธรรมก็ยังมีอยู่ เพราะแม้สิ้นลมและจิตละจากร่างแล้ว ก็ยังไม่ไปเกิดใหม่ทันที ในสภาวะระหว่างความตายกับการเกิดใหม่ (หรือระหว่างภพเก่ากับภพใหม่) ซึ่งเรียกว่า อันตรภพ หรือ “บาร์โด” นั้น หากน้อมจิตได้อย่างถูกต้อง ก็สามารถหลุดพ้นได้ทันที โดยไม่ต้องไปเกิดใหม่ บาร์โดเป็นแนวคิดหรือองค์ความรู้ที่สำคัญ จนเรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของพุทธศาสนาแบบทิเบตก็ว่าได้ เพราะไม่มีในพุทธศาสนาแบบเถรวาท (หรือแม้กระทั่งศาสนาอื่น) แต่ก็เป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้อย่างมาก แม้ว่าพุทธศาสนาแบบเถรวาทจะให้ความสำคัญกับการน้อมจิตวางใจในช่วงเวลาก่อนตาย (เช่น ระลึกถึงพระรัตนตรัยและบุญกุศลที่ได้ทำ รวมทั้งปล่อยวางสิ่งทั้งปวง หรือพิจารณาสังขารว่าเป็นไตรลักษณ์) แต่ปรากฏการณ์ทางกายและจิตที่พุทธศาสนาแบบทิเบตได้พูดถึงในช่วงที่กำลังจะตาย (เช่น การแตกสลายของธาตุทั้งห้า และความเปลี่ยนแปลงของจิตในบาร์โดแห่งความตาย) ก็เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับชาวพุทธเถรวาท (รวมทั้งอาจช่วยเสริมความเข้าใจในเรื่อง “จิตประภัสสร”ด้วย) อันที่จริงถึงแม้ไม่ได้นับถือพุทธเลย แต่หากสนใจเรื่องการเตรียมตัวตายแล้ว ก็น่าเรียนรู้เรื่องนี้จากพุทธศาสนาแบบทิเบต แม้ว่ามีรายละเอียดแตกต่างกันหลายประการ แต่สาระสำคัญที่เหมือนกันระหว่างพุทธศาสนาแบบทิเบตและเถรวาทก็คือ การให้ความสำคัญกับศรัทธาในพระรัตนตรัย รวมทั้งครูบาอาจารย์ที่เคารพนับถือ การมีสติที่ช่วยรักษาใจให้มั่นคง ไม่หวั่นไหวหรือผลักไสสิ่งใด ในยามที่เกิดปรากฏการณ์ทางจิตที่ไม่คุ้นเคยนานัปการ รวมทั้งการตระหนักหรือเข้าใจความจริงของจิต คุณภาพของจิตดังกล่าวมีความสำคัญอย่างมากเมื่อความตายมาถึง (และเมื่อผ่านพ้นความตายไปแล้ว) เพราะจะส่งผลต่อสัมปรายภพ จะตายดีหรือไม่ก็อยู่ที่ตรงนี้ และหากปรารถนาความหลุดพ้น โอกาสก็อยู่ที่ตรงนี้เช่นกัน ดังได้กล่าวมาแล้วว่าหนังสือเกี่ยวกับการเตรียมตัวตายแบบทิเบตที่เผยแพร่ในเมืองไทยปัจจุบันมีอยู่หลายเล่ม แต่ส่วนใหญ่แล้วอ่านเข้าใจได้ไม่ง่ายนักสำหรับชาวพุทธเถรวาทหรือคนทั่วไปที่ไม่มีพื้นฐานเกี่ยวกับพุทธศาสนาแบบทิเบต โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงเรื่องบาร์โด เป็นที่น่ายินดีที่อาจารย์กฤษดาวรรณ เมธาวิกุล ซึ่งเป็นผู้รู้ด้านทิเบตอันดับต้นของเมืองไทย เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา เพราะอธิบายแนวคิดเรื่องบาร์โดให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น อีกทั้งโยงมาสู่การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ที่ช่วยให้อยู่อย่างมีความสุข และพร้อมตายอย่างสงบได้ทุกเวลา สำหรับคนที่สนใจธรรมเนียมประเพณี รวมทั้งปรากฏการณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของทิเบต หนังสือเล่มนี้ช่วยให้ความกระจ่างได้ไม่น้อย พระไพศาล วิสาโล |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|