![]() |
บันทึกจากเบื้องลึก (ภาคต้น) |
คำนิยม หากไม่ประสบอุบัติเหตุเมื่อ ๓๐ กว่าปีก่อน วันนี้อาจารย์กำพล บุญนุ่ม คงยังเป็นครูพละ ที่รอวันเกษียณอายุในอีก ๒ ปีข้างหน้า แม้จะมีลูกศิษย์มากมาย แต่วิชาความรู้ที่ได้ไปคงไม่ช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขามากนัก โดยที่อาจารย์กำพลคงมีชีวิตแบบสุข ๆ ทุกข์ ๆ หมุนวนอยู่ในโลกไม่ต่างจากคนทั่วไป แต่เป็นเพราะเหตุร้ายที่ถึงกับทำให้กับพิการค่อนตัว แม้จะดับอนาคตและความสำเร็จทางโลกของครูหนุ่มอย่างสิ้นเชิง แต่กลับเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่ ซึ่งแม้จะวิบากรันทดแสนสาหัส แต่ในที่สุดก็เปิดใจท่านให้เห็นทุกข์และรู้จักทุกข์อย่างแจ่มแจ้ง จนสามารถหลุดออกจากความทุกข์ได้ กลายเป็นคนใหม่ที่เปี่ยมสุข มีจิตสดใสแม้กายพิการ สมกับชื่อหนังสือเล่มแรกของท่าน ทุกวันนี้อาจารย์กำพลได้รับเชิญให้ไปบรรยายตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มิใช่เพียงเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนที่ยังมีอวัยวะครบ ๓๒ เท่านั้น หากยังเพื่อนำพาเขาให้เข้าถึงธรรมจนก้าวข้ามความทุกข์ มิใช่เพียงเพื่อประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างที่ใคร ๆ ปรารถนาเท่านั้น แต่เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดแห่งความเป็นมนุษย์ด้วย อาจารย์กำพลมักกล่าวเสมอว่า ท่านเป็นเพียง “อุปกรณ์สอนธรรม” ซึ่งมีความหมายหลายด้าน ด้านหนึ่งก็คือ เป็นเครื่องเตือนใจผู้คนให้ไม่ประมาทกับชีวิต เพราะเหตุร้ายสามารถเกิดขึ้นกับชีวิตได้ทุกเมื่อ วันนี้มีร่างกายปกติ พรุ่งนี้อาจกลายเป็นคนพิการก็ได้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ท่านเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า แม้ทุกข์กาย แต่ใจไม่ทุกข์ก็ได้ ทั้งนี้ก็เพราะมีธรรมะเป็นเครื่องรักษาใจ สำหรับอาจารย์กำพล การเจริญสติทำให้ท่านเห็นความจริงอย่างแจ่มแจ้ง เป็นความจริงที่แสดงตัวมาโดยตลอด แต่มองไม่เห็นจนกระทั่งได้มาปฏิบัติธรรม นั่นก็คือ ความพิการนั้นเกิดขึ้นกับกายเท่านั้น แต่ใจไม่ได้พิการด้วย เพียงเห็นความจริงเท่านี้ ใจก็ “ลาออกจากความทุกข์”ทันที ทุกวันนี้อาจารย์กำพลมีสีหน้าแย้มยิ้ม บ่งบอกถึงความเบิกบานและความสุขจากภายใน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าท่านมีความสุขมากกว่าผู้คนมากมายที่มีร่างกายสมบูรณ์ เดินเหินไปไหนมาได้อย่างอิสระ พรั่งพร้อมด้วยทรัพย์สินเงินทอง หรือความสุขแบบโลก ๆ หลายคนแบกความทุกข์เพื่อมาปรึกษาปัญหาชีวิตกับท่าน บางคนถึงกับบอกว่าเขายอมพิการอย่างอาจารย์กำพลหากสามารถมีความสุขอย่างท่าน อาจารย์กำพลเป็นตัวอย่างที่สอนธรรมได้เป็นอย่างดีว่า ความทุกข์นั้นมิได้มีให้เป็น แต่มีไว้ให้เราเห็น เป็นทุกข์ กับ เห็นทุกข์นั้นต่างกัน คนส่วนใหญ่เป็นทุกข์ จึงประสบกับความทรมาน ตรงข้ามกับอาจารย์กำพล ทันทีทีท่านเห็นทุกข์ ประตูแห่งความปกติสุขก็เปิดขึ้น จะว่าไปแล้ว ทุกข์นั้นมีประโยชน์มาก เพราะเราจะพ้นทุกข์ได้ ก็ต้องรู้จักทุกข์เสียก่อน (ดังพระพุทธองค์ตรัสว่า “ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้”) แต่เราจะรู้จักทุกข์ได้อย่างไร หากไม่เจอทุกข์ด้วยตนเอง สิ่งสำคัญที่เราควรใส่ใจ จึงมิใช่การหนีทุกข์ (เพราะหนีอย่างไรก็ไม่พ้นอยู่แล้ว) แต่ได้แก่การฝึกใจให้รู้วิธีเห็นทุกข์หรือรู้จักทุกข์อย่างแจ่มแจ้ง อย่างไรก็ตามกว่าจะมาถึงวันที่ก้าวข้ามความทุกข์ได้ อาจารย์กำพลได้ประสบความทุกข์มากมาย เป็นทุกข์ที่เรียงหน้าเข้ามาก่อนที่ท่านจะพิการด้วยซ้ำ เรื่องราวดังกล่าวนับว่าน่าสนใจแต่ไม่ค่อยเป็นที่รับรู้กัน น่ายินดีที่สง่า ลือชาพัฒนพร มีความสนใจใฝ่รู้ว่าชีวิตของท่านก่อนพบธรรมนั้นเป็นอย่างไร และอะไรเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ท่านก้าวข้ามความทุกข์ได้ จึงได้ไปสัมภาษณ์ท่าน รวมทั้งค้นคว้าเพิ่มเติม แล้วนำมาถ่ายทอดได้อย่างมีชีวิตชีวา ราวกับอาจารย์กำพลมาเล่าให้เราฟังต่อหน้า เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ก็คงเห็นได้ว่าแม้ชีวิตของอาจารย์จะเต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบากตั้งแต่เล็ก แต่ความทุกข์เหล่านั้นมองในแง่หนึ่งก็คือสิ่งที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งอดทนให้แก่ท่าน เพื่อพร้อมรับความทุกข์ที่หนักกว่าเดิม จะว่าเป็นการตระเตรียมท่านให้พร้อมรับมือกับความพิการที่จะเกิดขึ้นก็ได้ ขณะเดียวกันก็เห็นได้ว่า ท่านสามารถพลิกความทุกข์แสนสาหัสระหว่างพิการ ให้กลายเป็นความปกติสุขได้อย่างน่าทึ่ง เป็นประจักษ์พยานว่า อะไรเกิดขึ้นกับเรา ไม่สำคัญเท่ากับว่าเรามีท่าทีกับมันอย่างไร จุดเด่นประการหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ ก็คือ การถ่ายทอดบรรยากาศและวิถีชีวิตของผู้คนเมื่อ ๕๐ ปีก่อนได้อย่างชัดเจนราวกับภาพวาด โดยเฉพาะวิถีชีวิตของชาวเรือในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งบัดนี้ได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว สำหรับผู้ที่เคยมีชีวิตกับสายน้ำหรืออยู่ริมน้ำ เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ชวนให้รำลึกถึงชีวิตวัยเยาว์ที่ไม่หวนกลับมาแล้ว ส่วนคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ การได้อ่านเรื่องราวเหล่านี้ช่วยให้เข้าใจภูมิหลังของสังคมปัจจุบันได้ไม่น้อยทีเดียว ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การบรรยายให้เห็นอย่างละเอียดถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของท่านที่ทำให้ผ่านพ้นความทุกข์อันแสนสาหัสมาได้ ประสบการณ์การภาวนาของท่านโดยเฉพาะในช่วงเดือนแรก ซึ่งเริ่มจากการลองผิดลองถูกจนคลำพบหัวใจของการปฏิบัติ และสามารถนำพาท่านออกจากความทุกข์ได้นั้น เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจปฏิบัติตามแนวทางสติปัฏฐาน ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่เพียงช่วยให้ท่านอยู่กับกายทุกข์โดยใจไม่ทุกข์เท่านั้น หากยังช่วยให้ท่านสามารถพาผู้อื่นออกจากความทุกข์ได้ด้วย ขออนุโมทนาสง่า ลือชาพัฒนพร ที่มีอุตสาหะในการถ่ายทอดชีวิตของอาจารย์กำพลได้อย่างน่าติดตาม เต็มไปด้วยเรื่องราวทั้งน่าสะเทือนใจและให้แรงบันดาลใจ อีกทั้งยังให้ข้อคิดเป็นอย่างดีว่า “เคราะห์”นั้นสามารถเปลี่ยนเป็น “โชค” และ “ทุกข์”สามารถเปลี่ยนเป็นธรรมได้อย่างไร ใช่แต่เท่านั้นเรื่องราวดังกล่าวยังได้ปูพื้นและเพิ่มมิติชีวิตให้แก่ “อุปกรณ์สอนธรรม” ซึ่งทุกวันนี้สามารถเปลี่ยนชีวิตของผู้คนได้มากมาย ทั้งจากคำบรรยาย หนังสือ และซีดีธรรมะ และที่สำคัญก็คือจากตัวท่านเอง พระไพศาล วิสาโล |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|