![]() |
ห้องเรียนครูแพทย์ |
คำนำ การเรียนรู้นั้นไม่มีวันสิ้นสุด แม้สำเร็จการศึกษาแล้ว ก็ยังมีสิ่งที่ต้องเรียนอยู่เสมอ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ยิ่งยุคนี้ด้วยแล้วความรู้ที่ร่ำเรียนมานั้นล้าสมัยเร็วมาก ดังนั้นถึงแม้จะเป็นครูบาอาจารย์ ก็ต้องพร้อมเป็นนักเรียนตลอดเวลา มิใช่จำเพาะเวลาอยู่นอกห้องเรียน หรือในยามที่ถอดหมวกอาจารย์แล้วเท่านั้น แม้กระทั่งในห้องเรียน หรืออยู่ต่อหน้าลูกศิษย์ ก็ยังมีหลายอย่างที่เรียนได้จากเขาเหล่านั้น ทั้งในส่วนที่เป็นเนื้อหาหรือวิชาความรู้ กระบวนการเรียนการสอน นิสัยใจคอและธรรมชาติความเป็นมนุษย์ จะว่าไปแล้วการทำงานใดให้สำเร็จ การเรียนรู้เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ หากไม่มีใจใฝ่รู้ตั้งแต่แรกแล้ว ทำงานใดก็สำเร็จได้ยาก อย่างมากก็แค่ “เสร็จ” และออกมาแบบกึ่งดิบกึ่งดีเท่านั้น การเรียนรู้อีกด้านที่สำคัญ คือการเรียนรู้เกี่ยวกับด้านในของตน อารมณ์และความรู้สึกนึกคิดของเรา ตลอดจนท่าทีหรือมุมมองต่อสิ่งต่าง ๆ นั้น เป็นเสมือนรากไม้ที่ค้ำยันลำต้นให้เติบโตได้สูง แผ่กิ่งก้านได้กว้างไกล หากด้านในของเราไม่มั่นคงก็เหมือนกับต้นไม้ที่ขาดรากลึกและแข็งแรง พร้อมจะโค่นลงมาเมื่อถูกพายุซัดกระหน่ำ ด้านในของเราจะมั่นคงได้ก็ต่อเมื่อเรารู้จักตัวเองและพยายามพัฒนาอารมณ์และความรู้สึกให้เจริญงอกงาม มีมุมมองที่ลุ่มลึกและกว้างไกล คุณสมบัติดังกล่าวไม่เพียงช่วยให้เราฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้ด้วยดีเท่านั้น หากยังเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขที่หล่อเลี้ยงชีวิตจิตใจของเราทั้งในขณะทำงานและพักผ่อน ทั้งในยามขึ้นและยามลง การเรียนรู้ด้านในนั้นทำได้หลายวิธี มิได้จำกัดอยู่ที่การเข้าวัดปฏิบัติธรรมเท่านั้น “ห้องเรียนครูแพทย์” เป็นแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะอาศัยกระบวนการต่าง ๆ ที่ชวนให้ผู้เรียนหันมาสังเกตและใคร่ครวญจิตใจของตน ขณะเดียวกันก็เรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนจิตใจของตน ให้เกิดพลังในการทำงานและดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข สามารถเป็นสุขได้แม้ในระหว่างทำงาน กล่าวได้ว่า “ห้องเรียนครูแพทย์”ดังกล่าว ไม่เหมือนห้องเรียนส่วนใหญ่ที่ครูแพทย์ทั้งหลายเคยเข้า เพราะมีความแปลกใหม่ทั้งด้านจุดมุ่งหมาย เนื้อหา และกระบวนการเรียนรู้ นับว่าทวนกระแสเอามาก ๆ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่โครงการดังกล่าวได้รับความสนับสนุนจากสำนักงานบริหารโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (สบพช.) กระทรวงสาธารณสุข ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นการอบรมเพิ่มพูนความสามารถเฉพาะทางการแพทย์ ชนิดที่จะส่งผลโดยตรงต่องานประจำของตนเลย ขณะเดียวกันก็ขอแสดงความชื่นชมครูแพทย์ทั้งหลาย ทั้ง ๆ ที่มีภารกิจมากทั้งงานสอน งานรักษาคนไข้ แต่ก็ยังปลีกเวลามาเข้าร่วมกิจกรรมนี้ หากปราศจากใจรักในศิษย์ ก็คงไม่เสียเวลาให้กับการเรียนรู้ดังกล่าวอย่างแน่นอน จำเพาะผู้เข้าร่วมเท่านั้นจึงจะรู้ว่า “ห้องเรียนครูแพทย์”นั้นเป็นอย่างไร มีอะไรที่ “โดนใจ”บ้าง ส่วนคนนอกนั้นหากอยากรู้ว่า “ห้องเรียนครูแพทย์”เป็นอย่างไร หนังสือเล่มนี้ช่วยได้บ้าง แต่คงช่วยได้ไม่มากนัก เพราะหัวใจของโครงการนี้อยู่ที่การมีส่วนร่วมในกิจกรรม ที่ต้องเอาทั้งกายและใจ หรือ “ตัวตน” ทั้งหมดเข้าไปร่วม จึงจะเกิดการเรียนรู้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามเมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว คงได้แง่คิดบางอย่างที่ถ้านำไปต่อยอดก็น่าเป็นประโยชน์ในการทำงานและการดำเนินชีวิตของตนได้ไม่มากก็น้อย ขอบคุณคุณหมอรุจิรา มังคละศิริ และคณะ ที่ริเริ่มและผลักดันให้โครงการนี้สำเร็จด้วยดี แต่หากไม่มีคุณสรยุทธ รัตนพจนาถ และคุณธีระพล เต็มอุดม เป็นวิทยากรหลักแล้ว เชื่อว่าการเรียนรู้ที่เกิดกับผู้เข้าร่วมคงพร่องไปไม่น้อย กำลังสำคัญอีกผู้หนึ่งที่ควรกล่าวถึงคือ คุณสุภาพร พัฒนาศิริ ผู้ทำให้หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นได้ หวังว่า “ห้องเรียนครูแพทย์” จะยังมีต่อไปเพื่อจุดประกายในจิตใจของผู้คนได้อย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด พระไพศาล วิสาโล |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|