![]() |
21คืนที่ฉันหายใจในหมู่บ้านพลัม โดย สหรัฐ เจตมโนรมย์ |
คำนิยม “หมู่บ้านพลัม” ไม่เพียงเป็นที่ตั้งอารามของท่านติช นัท ฮันห์ พระเซนชาวเวียดนามที่ลี้ภัยมาพำนักในประเทศฝรั่งเศส หากยังเป็นสถานปฏิบัติธรรมที่มีชื่อเสียงระดับโลก แต่ละปีดึงดูดผู้คนจากนานาประเทศนับหมื่น ๆ คน เพื่อมาฟังธรรมจากท่าน นี้เป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่สร้างความประทับใจให้แก่ผู้คนมากมายอย่างยากจะลืมเลือนได้ ไม่ใช่เพราะว่าธรรมชาติงดงามเท่านั้น ความเมตตาและความสงบเย็นของนักบวชซึ่งมีความเป็นกันเองดั่งพี่น้อง เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งที่จับใจผู้คนที่มาเยี่ยมเยือน ที่สำคัญก็คือ วิถีชีวิตที่เรียบง่าย เนิบช้า ไม่เร่งรีบ เกื้อกูลให้เกิดสติและความรู้สึกตัว ได้ชักนำให้ผู้คนพบกับความตื่นรู้และเบิกบาน อันเป็นความสุขที่แสวงหามานาน คนจำนวนไม่น้อยเดินทางนับพันกิโลเมตรเพื่อมาพบว่าสันติสุขนั้นแท้จริงอยู่ที่ใจของตนนั้นเอง เพียงแค่อยู่กับลมหายใจให้เป็น ปัจจุบันก็กลายเป็นความมหัศจรรย์ หลายปีที่ผ่านมาเรื่องราวของหมู่บ้านพลัมได้ถูกถ่ายทอดให้ชาวไทยรับรู้ในหลายวาระและหลายลักษณะ แต่คงไม่มีใครทำได้หลากหลายแง่มุมและละเอียดลออเท่ากับ สหรัฐ เจตมโนรมย์ ซึ่งได้มีโอกาสไปปฏิบัติธรรมที่นั่นถึง ๒๑ วัน เขาได้พาผู้อ่านไปสดับธรรมจากท่านติช นัท ฮันห์ ราวกับว่ากำลังนั่งอยู่ต่อหน้าท่าน และได้เห็นอากัปกิริยารวมทั้งรอยยิ้มของท่านระหว่างแสดงธรรม ขณะเดียวกันเขาได้พาเราไปรู้จักกับผู้คนจากทั่วสารทิศ ทั้งที่เป็นนักบวชและผู้ใฝ่ธรรม ซึ่งจำนวนไม่น้อยเป็นคนหนุ่มสาวที่เต็มไปด้วยไฟแห่งการแสวงหา ผู้อ่านยังพบจากประสบการณ์ของเขาว่า การปฏิบัติธรรมนั้นไม่จำต้องเป็นเรื่องเคร่งขรึมหรือเคร่งเครียด และไม่ได้หมายถึงการหลีกเร้นจากผู้คน หากสามารถกลมกลืนไปกับการดำเนินชีวิต รวมทั้งเปิดใจเรียนรู้ธรรมจากสรรพสิ่งรอบตัว หนังสือเล่มนี้เป็นการมองธรรมะในสายตาของคนหนุ่ม และถ่ายทอดออกมาอย่างเป็นกันเอง โดยไม่พะวงกับภาพลักษณ์ “นักปฏิบัติธรรม” ผู้อ่านที่เป็นคนรุ่นใหม่จึงน่าจะมีความรู้สึกร่วมกับเขาได้ไม่ยาก และติดตามเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ได้อย่างต่อเนื่อง แม้มีหลายช่วงที่ต้องอ่านอย่างพินิจใคร่ครวญ โดยเฉพาะข้อธรรมอันลุ่มลึกของท่านติช นัท ฮันห์ ซึ่งถูกถ่ายทอดออกมาอย่างมีจังหวะให้ผู้อ่านได้หยุดคิดเป็นช่วง ๆ ผู้อ่านควรผ่านหนังสือสองเล่มที่แล้วของเขามา ก่อนที่จะได้อ่านเล่มนี้ เพราะเล่มนี้เป็นเล่มที่สาม ว่าด้วยประสบการณ์สัปดาห์สุดท้ายของเขาที่หมู่บ้านพลัม แต่หากจะอ่านเล่มนี้เลย โดยไม่ต้องรออีกสองเล่ม ก็ได้เหมือนกันหากมีพื้นมาก่อนเกี่ยวกับวิถีชีวิตและแนวการปฏิบัติของหมู่บ้านพลัม “ปัจจุบันเป็นสิ่งมหัศจรรย์” เป็นสาระสำคัญที่ผู้คนเป็นอันมากได้เรียนรู้จากวิถีชีวิตที่หมู่บ้านพลัม แต่ถึงจะไม่มีโอกาสไปที่นั่น เราก็สามารถเข้าถึงมหัศจรรย์ของปัจจุบันได้ หากมีสติและความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในแต่ละขณะอย่างต่อเนื่อง อย่าลืมว่าความสุขนั้นพบได้เดี๋ยวนี้และตรงนี้ ไม่ว่าตรงนี้จะเป็นที่ไหนหรืออะไรก็ตาม แต่ถ้าเราหวังหาความสุขที่หมู่บ้านพลัม จนลืมกายลืมใจ หรือลืมปัจจุบันเสียแล้ว ความสุข ความตื่นรู้ และความเบิกบานก็จะหลุดลอยไปอย่างน่าเสียดาย พระไพศาล วิสาโล |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|