ธรรมะกับธรรมชาติเป็นสิ่งเดียวกัน ฤดูหนาวปลายปี ๒๕๕๐ ผมเดินทางไปวัดป่าสุคะโตเป็นครั้งแรก เพื่อเข้าร่วมเดินสมทบกับขบวนธรรมยาตราลุ่มน้ำลำปะทาวที่เริ่มเดินจากภูหลงลงมา บรรยากาศในวัดเช้าวันนั้นสงบเงียบ พบเพียงพระรูปหนึ่งกำลังกวาดใบไม้ ผมจึงเข้าไปคุยกับท่าน พอท่านทราบว่ามาร่วมเดิน ท่านแนะนำให้ไปกราบหลวงพ่อที่กุฏิ ผมไม่รู้ว่าหลวงพ่อที่พระท่านบอกคือใคร แต่ก็ไม่ได้ถาม และเดินมาตามคำบอกของท่าน ผมแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับวัดป่าสุคะโตเลย รู้แค่ว่ามีพระไพศาล วิสาโล เป็นเจ้าอาวาส และพระไพศาลก็เป็นผู้นำเดินธรรมยาตรา แล้วทำไมท่านถึงอยู่ที่กุฏิ ความสงสัยยังไม่คลี่คลาย ผมก็เดินมาถึงกุฏิของหลวงพ่อ เห็นพระอาวุโสรูปหนึ่ง กำลังดูแลต้นไม้ด้วยความเอาใจใส่ และเท่าที่สังเกตหน้าท่านไม่เหมือนพระไพศาลที่เคยเห็นในรูป ผมเดินเข้าไปหาและถามท่านว่า “หลวงพ่ออยู่มั้ยครับ” ท่านหันมาตามเสียงและยิ้มให้ ก่อนตอบอย่างเป็นมิตรว่า “โยมมีธุระอะไรกับหลวงพ่อรึเปล่า” “ผมจะมาขอกราบ หลวงพ่อครับ” ผมตอบกลับ ท่านยิ้มกว้างขึ้นกว่าครั้งแรก ก่อนตอบกลับมาพร้อมกับเสียงหัวเราะเล็กๆ ว่า “ถ้าจะมากราบหลวงพ่อคำเขียน เรานี่แหละหลวงพ่อคำเขียน” ผมงง เพราะไม่รู้ว่าหลวงพ่อคำเขียนคือใครแต่ก็ยิ้มแก้เก้อ ก้มลงกราบท่าน มาถึงบางอ้อหลังจากนั้นว่าได้พบกับผู้ดำริริเริ่มธรรมยาตราลุ่มน้ำลำปะทาว และเป็นพระผู้ดูแลรักษาฟื้นฟูป่าบนเทือกเขาภูแลนคาแห่งนี้ หลังจากนั้นผมมีโอกาสได้ขึ้นมาที่วัดป่าสุคะโตอีก ๒-๓ ครั้ง และรู้สึกผูกพันกับผู้คนที่นี่มากขึ้นเรื่อยๆ สัมผัสได้ถึงมิตรภาพเสมอทุกครั้ง ฤดูฝนกลางปี ๒๕๕๒ ผมพาตัวเองขึ้นมาบนเทือกเขาภูแลนคา ครั้งนี้เพื่อขึ้นมาเพื่อบวชเป็นพระภิกษุที่วัดภูเขาทอง โดยมีหลวงพ่อคำเขียนเป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากเสร็จพิธี ท่านจับมือแล้วบอกว่า “เราเป็นครอบครัวเดียวกันแล้วนะ” ตอนนั้นได้แต่ตอบท่านกลับไปสั้นๆว่า “ครับ” แต่ภายในใจ รู้สึกซาบซึ้งและอิ่มใจมาก ตั้งแต่ปี ๒๕๕๐-๒๕๕๖ ผมนัดพบตัวเองเป็นประจำที่งานธรรมยาตราไม่เคยขาด ปีที่ผ่านมาวันที่ ๗ ของการเดิน คณะจะเดินทางไปพักแรมคืนสุดท้ายที่วัดตาดภูทอง ระหว่างทางผมแยกออกจากขบวนเพื่อขึ้นไปวัดป่ามหาวัน (ภูหลง) เพื่อเยี่ยมพระอาจารย์รูปหนึ่ง ได้รู้ว่าหลวงพ่อคำเขียนท่านแวะมาพักจึงไปกราบท่านที่กุฏิ ภาพที่เห็นในวันนั้น ไม่ต่างจากภาพเมื่อ ๖ ปีที่แล้ว ที่วัดป่าสุคะโต ท่านกำลังยืนรดน้ำต้นไม้ ได้เข้าไปกราบท่าน พูดคุยกันนิดหน่อย ท่านบอกว่า “แก่แล้ว ทุกอย่างๆ ค่อยๆ เสื่อมไป หน้าที่ดูแลรักษาผืนป่าพวกเราต้องช่วยกันทำต่อไป ธรรมะกับธรรมชาติเป็นสิ่งเดียวกัน” หลวงพ่อเปี่ยมไปด้วยเมตตาต่อทุกสรรพสิ่ง สรรพชีวิต นอกจากการสอนธรรมะและช่วยเหลือชุมชน ชีวิตของท่านอุทิศให้กับการดูแลรักษาผืนป่าและสายน้ำ เป็นแบบอย่างของการใช้ชีวิตที่สอดคล้อง อยู่ร่วมกับธรรมชาติด้วยความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล และเรียบง่าย วันนี้หลวงพ่อละสังขาร กลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างแท้จริง การได้รู้จัก และเรียนรู้กับหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ เป็นพรที่มีค่ายิ่งในชีวิตของผมตลอดไป
|
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|