ระลึกสติที่หลวงพ่อสอน ปลายปี ๒๕๓๙ ในเวลานั้นข้าพเจ้ายังไม่ได้บวช ได้พบหลวงพ่อคำเขียนครั้งแรกที่วัดป่าสุคะโต ไม่ได้มีความประทับใจอันใดในตัวท่านเลยแม้แต่น้อย เหตุที่ตอนนั้นหลวงพ่อท่านมีกิจธุระอื่น จึงให้ไปเรียนการยกมือสร้างจังหวะกับพระอาจารย์ยูกิ แล้วปฏิบัติอยู่ที่วัดป่าสุคะโต ๔ วัน ทั้งนั่งและเดิน แบบตื่นเช้าทำวัตร กลับกุฏิยกมือ เดินกลับไปมาเป็นเลขแปด ฉันอาหาร กลับกุฏิที่พัก นั่งบ้างเดินบ้าง อาบน้ำ ทำวัตรเย็น ปฏิบัติจนเดินหลับชนต้นไม้หัวโน เช้าก่อนวันกลับหลวงพ่อมาคุยด้วยท่านบอกว่า “ให้รู้สึกตัว ทำเล่นๆแต่ให้ทำบ่อยๆ” หลังจากที่ข้าพเจ้ามีโอกาสมาอยู่วัดป่ามหาวัน ในพรรษาปี ๒๕๔๐ จึงได้พบกับหลวงพ่อคำเขียนอีกสองครั้ง ครั้งแรกนั้นตามคณะสงฆ์ไปกราบคารวะหลวงพ่อ และต่อมาได้ตามพระอาจารย์ไพศาล ไปกราบนมัสการเรียนถามเรื่องวันบวช ซึ่งเวลานั้นข้าพเจ้าก็ยังมิได้มีความรู้สึกซาบซึ้งต่อหลวงพ่อคำเขียนเลย แม้ท่านจะเป็นอุปัชฌาย์บวชให้แก่ข้าพเจ้า หลังจากบวชแล้ว อาตมายังอยู่ที่ภูหลง ตามที่หลวงพ่อท่านบอกให้อยู่กับพระอาจารย์ไพศาลที่มหาวัน จนกระทั่งนอกพรรษา อาตมาได้มาอยู่วัดป่าสุคะโต จึงได้รู้สึกถึงความเมตตาและการดูแลรักษาป่าของหลวงพ่อ อันได้แก่การจัดสรรพื้นที่เพื่อการปลูกต้นไม้และการป้องกันไฟในช่วงฤดูแล้ง อีกทั้งยังเมตตาอนุเคราะห์ญาติโยมให้มีกิจกรรมสร้างกุฏิดิน ทำถวายแด่คณะสงฆ์ ตลอดจนได้ฟังธรรมบรรยายของหลวงพ่อตอนหนึ่งกล่าวว่า “ขอให้ทุกคนที่มาอยู่ เห็นสุคะโตเป็นบ้านอีกหลังหนึ่ง” ซึ่งโดยธรรมดาการให้ที่พักอาศัยนับเป็นการให้หมดทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว เพราะมีสติที่คมเหมือนดาบ เวลาหลวงพ่อพิจารณาสิ่งใด หรือเรื่องราวใดๆ จึงมักจะเหนือความคาดหมายของผู้คนทั่วไป กระทั่งลูกศิษย์ลูกหาผู้อยู่แดนไกลเช่นอาตมา ยังรู้สึกทึ่ง ดังมีเรื่องที่ได้ฟังมาจากโยมอุปัฏฐากของหลวงพ่อเล่าว่า ครั้งหนึ่งมีการขโมยของกันในวัด เดิมทีผู้เสียหายจะเอาเรื่องกับหัวขโมยที่ถูกจับได้คนนั้น พอทั้งสองมาอยู่ต่อหน้าหลวงพ่อเท่านั้น ก็กลับกลายเป็นไม่ใช่เรื่องใช่ราวอะไรเลย เพราะเหตุที่หลวงพ่อท่านให้พิจารณาด้วยสติ เงินที่ขโมยมาจึงถูกแบ่งเป็น ๒ส่วน คืนแก่เจ้าของคือผู้เสียหายส่วนหนึ่ง และให้แก่ขโมยอีกส่วนหนึ่ง เรียกว่า “แบ่งกันคนละครึ่ง” ไม่เป็นคดี เจ้าทุกข์ไม่ทุกข์เพราะยินยอมพร้อมใจที่จะให้อภัย ส่วนขโมยก็ไม่เป็นทุกข์เพราะไม่ได้ถูกจับดำเนินคดี แถมยังได้เงินช่วยเหลือในยามทุกข์ร้อนครั้งนั้นเสียอีก กระทั่งในยามจากลา หลวงพ่อคำเขียนยังสอนธรรมะที่แสนจะราบเรียบหากแต่สง่างาม ให้เราทุกคนได้ตระหนักและเห็นคุณค่าของการเจริญสติว่า เมื่อถึงเวลาจะตาย ตายอย่างสงบ ปราศจากความมีความเป็น มันเป็นเช่นนี้เอง ดังที่พระอาจารย์ไพศาล วิสาโลได้เขียนเล่าเอาไว้ดีแล้ว |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|