ธรรมะที่แสนง่ายของหลวงพ่อ ตอนเด็กๆ เคยคิดว่าธรรมะเป็นเรื่องเข้าใจยาก ทำสมาธิก็ยาก เจ็บโน่นปวดนี่ตลอดเวลา จนกลายเรื่องไกลตัวและไกลความคิด การได้รู้จัก วัดป่าสุคะโตและหลวงพ่อคำเขียน ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมเรื่องที่เราคิดว่ามันยาก จึงมีผู้คนวนเวียนเข้ามาปฏิบัติธรรมอย่างล้นหลาม เมื่อถึงเวลาที่จะต้องบวชเรียนตามประเพณี จึงตัดสินใจบวชและฝึกปฏิบัติธรรมที่วัดภูเขาทองและวัดป่าสุคะโตโดยหลวงพ่อคำเขียนท่านได้เมตตาเป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านให้ฉายาว่า “ยสธาโร” ...รู้สึกว่าตัวเองมีบุญเหลือเกิน... การทำสมาธิไม่ยากอย่างที่เคยรู้จัก ไม่จำเป็นต้องนั่งเกร็ง หรือบังคับลมหายใจให้เข้าช้าออกช้า หรือเดินจงกรมแบบช้าๆ หลวงพ่อสอนให้นั่งสมาธิแบบขยับแขน เดินจงกรมแบบเดินปกติไม่ต้องเกร็ง แต่ใจต้องอยู่ที่ทุกส่วนของร่างกายที่กำลังขยับ มือขวาขยับจิตก็อยู่ที่มือขวา เท้าขวาก้าวจิตก็อยู่ที่เท้าขวา แม้ตอนนั่งหรือยืนเฉยๆ จิตก็อยู่ตรงนั้น ง่ายจนเราไม่รู้สึกเบื่อหรือเมื่อยขบมากนัก หลวงพ่อบอกว่านั่นคือการรู้ตัวตลอดเวลา คือสติ และคือสมาธิ เราได้สมาธิโดยไม่รู้ตัว หรือรู้มาก่อนว่า...มันใกล้นิดเดียว วันหนึ่งหลังฉันเช้า ท่านถามว่าชอบปลูกต้นไม้ใช่หรือเปล่า ให้ตามท่านมา แล้วท่านก็บอกให้ขุดหลุมคนละสองหลุมกับหลานที่บวชด้วยกันเพื่อปลูกต้นลีลาวดีทั้งหมดสี่ต้นตรงแยกใกล้ศาลาใหญ่ด้านหน้าวัด ริมบ่อน้ำที่มีโบสถ์กลางน้ำ ตรงนั้นเป็นดินลูกรังแข็งมาก ขุดสักพักท่านถามว่า “ร้อนใช่ไหม? เหนื่อยใช่ไหม? ที่เราร้อนและเหนื่อยเพราะใจเรามันหนีไปอยู่ในที่ร่มๆ เย็นๆ ที่กุฏิ ที่บ้านโยมแม่ หรือที่อื่นๆไม่ใช่ที่ที่เรากำลังปลูกต้นไม้อยู่นี่ ถ้าร้อนก็แค่ให้รู้ว่าร้อน ปวดแขนก็ให้รู้ว่าปวดแขนแค่นั้นพอ ไม่ต้องให้จิตไปอยู่ที่อื่น แล้วเราจะรู้สึกว่าทนได้ดีขึ้น” ท่านบอกว่าใหม่ๆ จะยาก แต่ให้ฝึกทำบ่อยๆ จนชิน จนสมาธิเกิดเองโดยอัตโนมัติ ตั้งแต่เริ่มตื่นนอน เมื่อถึงกำหนดจะต้องลาสิกขา เราเคยเชื่อว่าบวชต้องดูฤกษ์ สึกก็ต้องดูยาม สึกไม่ถูกเวลาจะเป็นบ้าเป็นป่วง ท่านบอกว่าไม่ดูฤกษ์ให้หรอก ถ้าอยากสึกสะดวกเมื่อไหร่ก็มา แต่เพื่อความสบายใจเพราะไม่รู้ว่าวันที่เราจะไปให้หลวงพ่อท่านสึกให้นั้นฤกษ์ดีหรือไม่ ก็ตั้งใจว่าต้องให้หลวงพ่อสึกให้ เมื่อมาถึงวัดภูเขาทอง ท่านก็บอกว่า ท่านอยากบวชให้ แต่ไม่อยากสึกให้ ใจจริงท่านอยากให้บวชนานๆ แต่ด้วยความจำเป็นที่จะต้องกลับมาทำงานเนื่องจากหมดวันลา ก็จำเป็นจะต้องสึก อ้อนวอนอยู่นานจนท่านให้สึก แต่ท่านเรียกให้ หลวงพี่ตุ้มซึ่งทำธุระที่ตรงศาลาข้างๆ ลานหินโค้ง เป็นผู้สึกให้ตรงศาลานั่นเอง เมื่อจะกราบลาหลวงพ่อ ท่านก็สอนอีกว่า “จะสึกวันไหน ใครจะสึกให้ ไม่ใช่สิ่งสำคัญหรอกโยม สึกไปแล้วโยมเป็นคนดี รักษาศีล ไม่หลงอบายมุข สิ่งเป็นมงคลต่างๆก็จะเกิดขึ้นกับโยมเอง แค่นั้นก็ถือว่าวันที่เราสึกนี้ เป็นฤกษ์ดีแล้ว แต่ถ้าหาฤกษ์งามยามดีแล้วสึกออกไป ไปมัวเมากินเหล้า เสพยา ปล้นฆ่า ลักขโมย ฤกษ์นั้นก็ไม่ดีหรอกโยม...มันอยู่ที่เรา” ง่ายเหลือเกิน... ธรรมะจากหลวงพ่อเข้าใจได้ง่ายจริงๆ ท่านสอนจนนาทีสุดท้ายก่อนจะก้าวออกจากวัด
|
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|