|
|
คอลัมน์![]() |
จากนิตยสารขวัญเรือน สุขแท้ด้วยปัญญา |
|
-------------------------------------------------------------- |
||
คือพื้นเพอาตมาเป็นนักกิจกรรม เมื่อมาบวชพระจริง ๆ ก็ตั้งใจปฏิบัติธรรม แต่เมื่อปฏิบัติธรรมแล้วพบว่าการปฏิบัติธรรมสามารถประสานเข้าไปในการดำรงชีวิต รวมทั้งการเข้าไปช่วยเหลือสังคมด้วย พุทธศาสนาส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการพัฒนาตนให้เป็นอิสระจากกิเลส อีกส่วนหนึ่งคือการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ช่วยเหลือทั้งในเรื่องของร่างกายและจิตใจ ทีนี้การช่วยเหลือไม่ได้หมายถึงการให้ทานเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการไปทำงานทางสังคมเพื่อช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น หรือช่วยให้ผู้คนในบ้านเมืองที่จะฆ่ากันลดความรุนแรง หันมาใช้สันติวิธี และมีความเอื้ออาทรต่อกัน ตรงนี้แหละที่อาตมาเข้าไปทำ ซึ่งคนจะมองว่าเป็นเรื่องของนักกิจกรรม แต่ที่จริงแล้วนี่เป็นสำนึกของชาวพุทธ และยังเป็นสำนึกของพลเมืองอีกด้วย อย่างในญี่ปุ่นก็ดี ยุโรปหรืออเมริกาก็ดี มีคนธรรมดาไปทำงานแบบนี้เยอะมาก เขาเรียกว่าเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของสังคมพลเมือง คือมีอาสาสมัคร ไปทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อม ช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก หรือส่งเสริมให้ผู้คนเกิดความเคารพกันระหว่างผิวสี ระหว่างเพศ ระหว่างเชื้อชาติ เขาไม่ได้มองว่าคนทำงานแบบนี้เป็นมนุษย์พันธุ์แปลก แต่เป็นเรื่องของพลเมืองที่มีจิตสำนึก ซึ่งก็ตรงกับหลักพระพุทธศาสนาคือการเข้าไปช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากถือว่า เป็นการปฏิบัติธรรม ลดละความเห็นแก่ตัว เมื่ออาตมาไปทำตรงนี้คนก็อาจมองว่าอาตมาเป็นพระที่ไม่เหมือนคนอื่นเขา ที่จริงฉายาที่คนตั้งให้อาตมามีเยอะ เช่น พระนักพัฒนา พระอนุรักษ์ บางทีก็พระนักวิชาการ บางคนก็มองว่าอาตมาเป็นพระปฏิบัติ เพราะอาตมาทำทุกอย่างที่พูดมา อาตมาสอนกรรมฐานที่วัด อาตมาอบรมการเจริญสติ ซึ่งคนที่มาเจริญสติกับอาตมาก็ไม่รู้ว่าอาตมาไปทำเรื่องอบรมสันติวิธีให้กับตำรวจทหาร เพื่อให้ใช้ความรุนแรงน้อยลง คนที่เป็นทหารตำรวจก็ไม่รู้ว่าอาตมาทำงานด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย คืออาตมาทำหลายเรื่อง แล้วแต่ละเรื่อง ๆ ก็เกี่ยวข้องกับคนเฉพาะกลุ่ม อาตมาเลยมีหลายฉายา มันเป็นความสนใจที่เกิดจากความตระหนักว่า พุทธศาสนามุ่งช่วยให้คนเกิดพัฒนาการสองอย่าง หนึ่งคือเกิดความลุ่มลึกทางจิตวิญญาณ อิสระจากการบีบคั้นของกิเลส สอง-ช่วยทำให้คนในสังคมพ้นจากความทุกข์ที่เกิดจากการบีบคั้นจากคนด้วยกันเอง หรือจากสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นชาวพุทธต้องทำหน้าที่สองอย่าง คือ หนึ่ง-ต้องพัฒนาตน สอง-พัฒนาสังคมให้ดีขึ้น ก็เป็นทั้งความสนใจและเป็นความตระหนักส่วนตัว ซึ่งก็เข้ากับแนวคิดสมัยใหม่ที่มุ่งให้เกิดความเจริญงอกงามในทุกระดับ ที่เรียกว่าสุขภาวะแบบองค์รวม สุขภาวะแบบองค์รวมมี 4 ขั้น คือ ทางกาย ทางความสัมพันธ์ หรือศีล ทางจิตและทางปัญญา คนเราจะมีความสุขได้ต้องมีสุขภาวะทั้ง 4 ด้าน ก็ไปตรงกับหลักพระพุทธศาสนาเรื่องภาวนาสี่ ภาวนาแปลว่าเจริญงอกงาม หรือทำให้เจริญงอกงาม ไม่ได้แปลว่านั่งหลับตา ภาวนาของพุทธต้องมีสี่คือ กาย ศีล จิต ปัญญา คนเราต้องพัฒนาให้เกิดความเจริญงอกงามทั้งสี่ระดับ ฉะนั้นที่อาตมาพูดเรื่องการพัฒนาในแนวลึกและการพัฒนาในแนวกว้าง ในเรื่องของจิตวิญญาณ และในเรื่องการช่วยเหลือสังคม มันก็ไปสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องสุขภาวะ 4 ประการ ซึ่งตอนนี้เป็นกระแสของโลก แสดงว่าพุทธศาสนาทันสมัยมาก ความจริงอาตมาเป็นเด็กเรียนมาตลอด ตั้งแต่อนุบาลมาจนถึง ม.ศ.3 ชอบเรียน ชอบอ่าน ถึงไม่ใช่ตำราก็อ่าน เลยทำให้เจอแนวคิดใหม่ ๆ นอกตำรา เช่นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาสังคม การเมือง ความยากจนของเมืองไทย การถูกเอารัดเอาเปรียบโดยมหาอำนาจต่างประเทศ ทำให้รู้ว่าเมืองไทยอยู่ใต้ระบอบเผด็จการโดยจอมพลถนอม จอมพลประภาส แต่อาตมาก็ไม่ได้สนใจการเมืองมากเท่ากับสนใจเรื่องการช่วยเหลือ ออกค่ายไปช่วยเหลือคนยากจนในชนบท สร้างโรงเรียนให้กับเด็กยากจน สมัยก่อนเมืองไทยยากจนจริง ๆ เด็กเป็นล้านขาดอาหาร ไม่มีน้ำสะอาดกิน โรงเรียนก็ไม่มีฝา ไม่มีพื้น บางทีไม่มีโต๊ะเก้าอี้ ต้องทำกันเอง อาตมาก็ไปช่วยเขาทำตั้งแต่นักเรียนแล้ว ช่วง ม.ศ.3-ม.ศ.4 อายุ 15-16 ปี ไปออกค่ายช่วงหน้าร้อน อาตมาเรียนอัสสัมชัญมาตั้งแต่ ป.1-ม.ศ.5 เขามีชมรมที่ชื่อว่ากลุ่มอัสสัมชัญอาสาพัฒนา กลุ่มอัสสัมชัญอาสาพัฒนามีประธานกลุ่มอย่างเช่น คุณพจนา จันทรสันติ คุณเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ กลุ่มนี้ไปออกค่ายปีละ 2 ครั้ง ในช่วงปิดเทอม ฉะนั้นพวกเราได้ไปออกค่ายตั้งแต่เล็ก แถมยังเป็นค่ายที่ค่อนข้าง โหด เพราะลำบาก แม้แต่น้ำดื่มก็ต้องกินน้ำบ่อ สีขุ่น ๆ ทีแรกก็ขยะแขยง แต่กินไป ๆ ก็อร่อย อาหารการกินลำบาก ได้กินแต่วิญญาณหมูวิญญาณไก่ น้ำแข็งเป๊บซี่ไม่มี ก็ได้ฝึก ให้เกิดความอดทน ได้เรียนรู้ถึงปัญหาชนบทว่าต่างจากชีวิตคนในเมืองมาก ทีแรกคนสร้างค่ายก่อน เสร็จแล้วค่ายก็สร้างคน อาตมาคิดว่ามันเปลี่ยนแปลงคนได้เยอะ อย่างน้อยก็เป็นคนอยู่ง่ายกินง่ายมากขึ้น อาตมาแต่ก่อนซักเสื้อผ้าไม่เป็น ม.ศ.3 แล้วนะ แม่ซักให้ตลอด ไปอยู่ค่ายครั้งแรกต้องซักเอง แล้วกินน้ำโดยที่ไม่มีน้ำแข็ง ทำให้รู้ว่าน้ำเปล่า ๆ นี่ก็มีคุณค่า อร่อยเหมือนกัน อันนี้เป็นอย่างแรกที่ได้ อย่างที่สองก็คือทำให้เกิดสำนึกทางสังคม ทำให้เห็นว่าชนบทกับเมืองนี่ต่างกันมาก แต่คนเดี๋ยวนี้ไม่เห็น ไม่ตระหนัก เด็กสมัยนี้ไม่เข้าใจว่าคนชนบทมีความยากลำบากยังไงบ้าง เห็นคนชนบทประท้วงก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องประท้วง มีใครจ้างมาหรือเปล่า ใช่ ทีแรกตั้งใจเรียนวิศวะ เด็กเรียนเก่งต้องสนใจวิทยาศาสตร์ ตอนนั้นก่อน 14 ตุลาฯ ตั้งเป้าว่าจะไปเรียนวิศวะไม่ก็แพทย์ พอ 14 ตุลาฯแล้วผ่านไปปีหนึ่งก็รู้สึกว่าเรื่องของสังคมศาสตร์น่าสนใจกว่า ท้าทายสติปัญญามากกว่า จึงเกิดไฟที่อยากทำให้สังคมดีขึ้น รู้สึกว่าการทำให้สังคมดีขึ้นต้องมีความรู้ด้านสังคมศาสตร์ เลยเปลี่ยนเข็ม จากที่เคยเรียนห้องวิทย์ก็ย้ายมาอยู่ห้องศิลป์ แล้วก็เข้าธรรมศาสตร์ เรียนศิลปศาสตร์ ทางด้านสาขาประวัติศาสตร์ เพราะตอนนั้นประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่ฮอต คนตื่นตัวเรื่องประวัติศาสตร์มาก ใช่ แต่ตอนนั้นอาตมาไม่เหมือนคนอื่น ไม่เหมือนตรงที่ว่าธรรมศาสตร์ตอนนั้นกิจกรรมนักศึกษาจะออกไปในทางซ้าย แม้แต่ชมรมเชียร์ก็ซ้าย ไม่ได้เชียร์แบบทั่ว ๆ ไป เชียร์แบบต้องมีคุณค่ามีสาระ แต่อาตมาออกไปแนวทางพุทธ อหิงสา สันติวิธี ซึ่งเป็นคนละแนวกับขบวนการนักศึกษาเวลานั้น เพราะฉะนั้นกิจกรรมที่อาตมาทำถ้าไม่ทำกับชมรมพุทธธรรมศาสตร์ก็จะออกมาทำข้างนอก เรามีกลุ่มอหิงสา กลุ่มอหิงสาจะพยายามเผยแพร่ประเด็นเรื่องอหิงสาและสันติวิธี เพราะเมืองไทยตอนนั้นบรรยากาศร้อนแรงมาก ความขัดแย้งระหว่างซ้ายกับขวาพร้อมจะระเบิดเป็นความรุนแรงได้ แล้วมันก็ระเบิดมาหลายครั้ง เวลาชุมนุมประท้วงก็มีการโยนระเบิดเข้ามา มีการลอบฆ่ากัน เดินอยู่บนถนนดี ๆ ถูกลอบยิงตาย อาตมาก็ไม่อยากให้บ้านเมืองเกิดสงครามกลางเมือง พวกเราพยายามเสนอทางเลือกคืออหิงสาสันติวิธี ซึ่งเป็นเสียงของคนส่วนน้อย แต่เป็นทางเลือกที่สาม ระหว่างซ้ายกับขวา เราไม่เห็นด้วยกับขวาแต่เราก็ไม่ชอบวิธีการแบบซ้าย เลยออกมาทำข้างนอกมหาวิทยาลัย ทำหนังสือปาจารยสาร แต่ไม่มีกิจกรรมอะไรมาก แค่ออกหนังสือเผยแพร่แนวคิด จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 6 ตุลาฯอาตมาอยู่ในธรรมศาสตร์ เพราะตอนนั้นอยู่กับชุมนุมพุทธ เรามีการอดอาหารเรียกร้องให้คณะสงฆ์แก้ปัญหานี้ เพราะเรื่องนี้เกี่ยวพันกัคณะสงฆ์ 6 สืบเนื่องมาจากกรณีการขอกลับเข้าประเทศของจอมพลถนอม จอมพลถนอมไปบวชเณร ที่สิงคโปร์ แล้วอาศัยผ้าเหลืองเข้ามาเมืองไทย ประชาชนก็ประท้วง แค่นั้นไม่พอยังมาบวชพระที่วัดบวรฯ เราก็รู้สึกว่าคณะสงฆ์ควรรับผิดชอบเรื่องนี้ว่าทำไมถึงยอมให้จอมพลถนอมมาบวช ซึ่งเป็นการยั่วยุให้เกิดการชุมนุมประท้วงและความรุนแรง อาตมากับเพื่อน 4-5 คน ในกลุ่มอหิงสาและชุมนุมพุทธ เริ่มอดอาหารตั้งแต่วันที่ 5 โดยไม่มีกำหนดเลิก แต่พอเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯเ ขึ้นก็เลยเลิกอดอาหารเพราะถูกจับ แล้วก็ไปอยู่โรงเรียนพลตำรวจที่เมืองชลฯ ตอนนั้นทำใจไว้แล้วว่าจะต้องตาย เพราะก่อนเกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลา มีการพูดหนาหูว่าถ้าต้องยอมเสียนักศึกษาไปสักสามสี่พันคน ก็ต้องยอมเพื่อให้ประเทศไทยพ้นจากภัยคอมมิวนิสต์ ซึ่งตอนนั้นผู้คนจำนวนมากเชื่อจริง ๆ ว่านักศึกษาเป็นพวกคอมมิวนิสต์ แล้วก็กลัวว่าคอมมิวนิสต์จะยึดบ้านยึดเมือง เพราะเขมร ลาว เวียดนาม ก็เป็นคอมมิวนิสต์ไปแล้ว ตอนนั้นสังคมไทยมีความกลัวมาก เมื่อคนเรามีความกลัวมากจะทำอะไรก็ได้ที่เป็นความรุนแรง พอเกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลาก็เลยกลัวว่าจะมีการกำจัดนักศึกษาประชาชนเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในชิลี คือรัฐประหารเสร็จแล้วก็โค่นฝ่ายซ้าย ปราบปราม เข่นฆ่านักศึกษาประชาชนตายเกือบหมื่น เผอิญเมืองไทยยังไม่ถึงกับเป็นอย่างชิลีพวกเราเลยรอดมาได้ ติดคุกอยู่ 3 วัน ก็ได้รับการประกันตัว ตอนนั้นแทบไม่เป็นอันเรียนแล้ว เพราะบ้านเมืองเรียกว่าวิกฤต ลุกเป็นไฟในหลาย ๆ ที่ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้รับแรงสนับสนุนจากนักศึกษา มีนักศึกษาประชาชนหนีเข้าป่าเยอะมาก ไปจับอาวุธสู้กับรัฐบาล มีการสู้รบกันทุกภาคของประเทศ ภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก ชายแดนไทย-เขมร ภาคใต้ ลุกเป็นไฟ มีการจับกุมคนมากมาย อาตมาตอนนั้นรู้สึกว่าเรียนไปก็คงจะไม่มีประโยชน์ เลยมาทำงานให้กับกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม ซึ่งตั้งมาก่อน 6 ตุลาฯ แต่หลังจาก ๖ ตุลา ฯ ก็หันมาทำงานด้านสิทธิมนุษยชน รณรงค์ให้มีการนิรโทษกรรมผู้ที่ถูกจับในกรณี 6 ตุลาฯ ซึ่งมีประมาณ 3 พันกว่าคน รณรงค์ให้มีการปกป้องสิทธิมนุษยชน ตอนนั้นเป็นกลุ่มเดียวจริง ๆ ในเมืองไทยที่เรียกร้องอย่างเปิดเผยในเรื่องเหล่านี้ เพราะที่เหลือหลบเข้าใต้ดินหมด หรือไม่ก็ต้องปิดปาก อาจจะมีสื่อมวลชนบางฉบับที่ยังพูดเรื่องนี้บ้าง แต่กศส. หรือกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคมทำเรื่องนี้โดยตรง อาตมาก็ไปเยี่ยมนักโทษ รณรงค์ให้มีการนิรโทษกรรม ไปรวบรวมรายชื่อเพื่อขอให้ปล่อยนักโทษการเมือง การเป็นนักกิจกรรมมันมาแสดงตัวเด่นชัดก็ตอนนี้ เพราะแต่ก่อนอาตมาแค่ทำหนังสือปาจารยสาร แต่พอ 6 ตุลาฯแล้วก็มาทำกับกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม ยืนยันว่าบ้านเมืองต้องใช้สันติวิธี ต้องเอาหลักศาสนธรรมมา คืออาตมาสนใจพระพุทธศาสนามาตั้งนานแล้ว อ่านงานของท่านพุทธทาสมาตั้งแต่ก่อน 14 ตุลาฯ ทีแรกสนใจในเชิงปริยัติก่อน แล้วมาสนใจในเชิงปฏิบัติในเวลาต่อมา จนกระทั่งมาทำกศส.ก็ทำงานกันหนัก ไม่ค่อยมีเวลาพักผ่อน ช่วงนั้นเครียดกับงานมาก ทะเลาะกับเพื่อน กระสับกระส่าย อยู่ไม่เป็นสุข เสาร์-อาทิตย์ต้องหาอะไรทำ หรือไม่ต้องไปเที่ยว ไปช็อปปิ้งหาซื้อหนังสือ หรือไม่ก็ไปหาเพื่อน ถ้าเป็นสมัยนี้คงคุยโทรศัพท์มือถือกันทั้งวัน คืออยู่ไม่เป็นสุข จิตกระสับกระส่ายมาก ใจเขาคงโวยวายว่าหยุดพักได้แล้ว ตอนนั้นอายุเกิน 20 แล้วก็คิดว่าควรจะบวชสักที อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ซึ่งเป็นผู้ที่อาตมาเคารพแนะนำว่าควรหาเวลาบวชบ้าง เพราะจะได้ปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนา เลยคิดว่าจะบวชสักสามเดือน กะว่าจะทำสมาธิภาวนาเต็มที่อย่างอื่นไม่ทำ หนังสือก็จะไม่อ่านด้วย จะลองดูว่าไหวมั้ย พอตั้งใจปฏิบัติเต็มที่ 1 เดือนแรกรู้สึกว่าดี เลยปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง พอครบ 3 เดือนรู้สึกยังไม่พอ กำลังก้าวหน้า ไม่อยากเสียโอกาส เลยขอบวชต่อ พอครบ 3 เดือนก็เข้าพรรษาพอดี ก็ขออนุญาตเข้าพรรษาซะเลยอีก 3 เดือน คราวนี้ไปเข้าพรรษาที่ชัยภูมิ วัดป่าสุคะโต ไปปฏิบัติกับหลวงพ่อคำเขียน เป็นวัดป่าซึ่งกันดารมาก แต่มันให้ความสงบ ที่นั่นเน้นในเรื่องการเจริญสติ คือตั้งแต่เดือนแรกเราก็ได้เห็นอานิสงส์ เรารู้ทันความคิดมากขึ้น รู้เลยว่าเราเป็นคนที่ถูกความคิดเข้ามาเป็นนายตลอด แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นความคิด รู้ทันความคิด สามารถที่จะเป็นอิสระจากมันได้ รู้สึกว่าทำให้เรามีความสุขขึ้น เย็นขึ้น ผ่อนคลายขึ้น เลยอยากจะบวชต่อ พอออกพรรษาคิดว่ามันจะครบปีแล้วขอบวชต่อให้ครบปีไปเลย เพื่อนก็ใจดี ทั้งที่ตอนนั้นก็ขาดคนทำงาน พอปฏิบัติไปก็รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำไปนั้นมีประโยชน์ต่อนักกิจกรรม เลยทำโครงการขึ้นมาเพื่อชวนนักกิจกรรมในมหาวิทยาลัยมาปฏิบัติธรรมที่วัด ก็เริ่มจากตรงนี้แหละ เริ่มชวนคนมาเข้าวัด มาปฏิบัติธรรม ต่อมาก็พบว่าป่าในวัดมีปัญหาถูกคุกคาม เลยทำเรื่องสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ป่า ทั้งหมดนี้ก็ทำเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ช่วงก่อน 6 ตุลาฯ ก็มีพระทำกิจกรรม แต่เป็นพระในเมือง ซึ่งทำกิจกรรมในแนวฝ่ายซ้าย ตอนนั้นมีการคุกคามคนที่มาเดินขบวน พระก็เลยเดินนำหน้าเพื่อประกันความปลอดภัยไม่ให้คนยิงใส่คนประท้วง แต่ที่อาตมาทำไม่ได้ทำในเชิงการเมือง แต่ทำเรื่องการชักชวนคนให้เข้ามาเห็นคุณค่าของพุทธศาสนา เอาพุทธศาสนาไปประยุกต์กับการพัฒนา พูดเรื่องการอนุรักษ์ป่า พูดถึงการเชื่อมโยงสมาธิภาวนาเข้ากับการทำงานของสังคม เราก็พยายามพูดว่าคุณทำงานเพื่อสังคมคุณควรมีโอกาสทำสมาธิภาวนาด้วยนะ เพื่อใจจะได้สงบ มีความสุขภายใน ไม่ใช่คุณทำไปเครียดไป หรือทำไปทำมาก็เห็นแก่ตัว แข่งกันเอง ใครเด่นดังเกินหน้าเราไม่ได้ หรือว่าทำไปทำมาจากที่ทำเพื่อคนอื่นกลายเป็นทำเพื่อตัวเอง ซึ่งเราเห็นเยอะในหมู่ผู้นำนักศึกษา ในหมู่ส.ส. นักการเมือง เดิมเป็นคนมีอุดมคติแต่พอมาทำงานด้านพัฒนาสังคมนี่จิตใจร้อนแรง มีความทุกข์ บางคนนอนไม่หลับเข้าหายาเข้าหาเหล้า กลายเป็นคนติดเหล้า ที่สติฟั่นเฟือนก็มี หรือไม่คนที่ประสบความสำเร็จก็ไปติดในยศในอำนาจในชื่อเสียง จากอดีตผู้นำนักศึกษาก็กลายเป็นนักการเมืองที่มีฐานะ แล้วเริ่มขายอุดมการณ์ กลายเป็นนักการเมืองไร้คุณภาพก็มีเยอะ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะว่าเขาขาดมิติด้านศาสนธรรม หรือมิติด้านจิตวิญญาณ ขาดการฝึกฝน ขาดการขัดเกลารู้เท่าทันตัวเอง คือคนเรามีกิเลสทั้งนั้น อยู่ที่ว่าจะให้กิเลสเข้ามาครอบงำหรือเปล่า แต่ถ้ามีสติรู้เท่าทันจะรู้ว่าเรามีกิเลสเยอะ ฉะนั้นจะต้องระมัดระวัง ไม่ประมาท ไม่ให้มันมาครอบงำ แต่ถ้าคุณคิดว่าคุณเป็นผู้ที่เสียสละ มีอุดมคติสูงส่ง คุณอาจจะถูกกิเลสหลอกก็ได้นะ เพราะคุณประมาทตัวเอง ไม่รู้จักมองเข้ามาด้านใน นี่คือสิ่งที่อาตมาพยายามทำในหมู่นักกิจกรรมหรือเอ็นจีโอ อาตมาพยายามสื่อสารกับคนเหล่านี้ เพื่อดึงเขาเข้ามาสู่มิติด้านศาสนธรรมในด้านภาวนา และขณะเดียวกันก็เสนอว่า ถ้าคุณเอาแนวพุทธเข้าไปการพัฒนา สังคมไทยก็จะดีขึ้นกว่านี้มาก คุณไม่ได้แค่พัฒนาวัตถุ คุณไม่ได้ช่วยทำให้ชาวบ้านปลดหนี้สิน หรือมีฐานะการเงินดีขึ้นเท่านั้น แต่คุณยังอาจช่วยให้เขาเป็นอิสระจากวัตถุนิยม เพราะเราพบว่าหลายหมู่บ้านที่พอชาวบ้านเงยหน้าอ้าปากได้ ความเป็นอยู่ดีขึ้น ไม่มีหนี้สิน เขาก็เริ่มติดวัตถุ อยากมีรถมอเตอร์ไซด์ รถกระบะ มีตู้เย็น โทรทัศน์ สมัยนั้นยังไม่มีโทรศัพท์มือถือ พอชีวิตเขาสะดวกสบายแล้วก็เริ่มติดวัตถุ ทีนี้ก็จะตัวใครตัวมันมากขึ้น ที่เคยร่วมมือกันก็ไม่ร่วมมือกันแล้ว กลายเป็นไปหลงกับบริโภคนิยม การพัฒนาส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาวัตถุ แต่ในแง่จิตใจและความสัมพันธ์ในชุมชนกลับถดถอยลงไป เราก็พยายามเสนอเขาอย่างนี้ว่า การพัฒนาแบบพุทธควรจะมีขั้นจิตวิญญาณด้วย ซึ่งในช่วงนั้นได้รับความสนใจมาก เราพูดถึงการพัฒนาแบบผสมผสาน พูดถึงการพัฒนาแบบองค์รวม พูดถึงชุมชนพึ่งตนเอง คือผลิตเพื่อบริโภคก่อน ถ้าเหลือจึงค่อยเอาไปขาย แนวคิดการพัฒนาแบบพุทธเข้ามาในช่วงปี 2530 กว่า ๆ และเริ่มได้รับความนิยม แต่ก็จางลงเมื่อเศรษฐกิจบูม สมัยนายกชาติชายราคาที่ดินพุ่งพรวด ความรวยเข้ามาสู่ชนบทอย่างรวดเร็วเพราะที่ดินราคาแพง ชาวบ้านขายที่ได้ เงินหลั่งไหลเข้ามา เศรษฐกิจพู่งสุดขีด ราคาหุ้นก็พุ่งอย่างไม่เคยมีมาก่อน ชาวบ้านก็เลยไม่สนใจแล้วเรื่องการพึ่งตนเอง ใครมีที่ขายที่ วัตถุนิยมแพร่สะพัด ฉะนั้นกระแสการพัฒนาชุมชนแบบพุทธเลยค่อย ๆ ซาลงไป จนกระทั่งในหลวงท่านพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง แต่มาถึงตอนนี้กระแสวัตถุนิยมบริโภคนิยมมาแรง ถึงแม้จะพูดไป คนก็ไม่สนใจ หลายคนพูดว่าพอเพียง ๆ แต่ว่าพอเพียงของเขาไม่ได้มีความหมายว่าอยู่อย่างเรียบง่าย แต่ทำงานอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ เขาพูดว่าพอเพียงเพื่อให้ดูดี เพื่อสนับสนุนโครงการนั้นโครงการนี้ เงินทองจะได้เข้ามาในชุมชน แต่การผลิตเพื่อบริโภค เหลือแล้วค่อยขายนี่แทบจะไม่เหลือแล้ว พระพุทธศาสนาใช้คำว่าสันโดษ ท่านให้เน้นสันโดษในปัจจัยสี่ ให้มีความพอเพียงในวัตถสิ่งเสพ แต่จะต้องควบคู่ไปกับวิริยะคือความเพียรอย่างถูกต้องชอบธรรม พุทธศาสนาไม่ได้บอกว่าเมื่อคุณพออยู่พอกินแล้วคุณก็งอมืองอเท้า แต่ คุณต้องมีความเพียร ขยันทำมาหากิน คำถามคือว่าขยันทำมากินแล้วเกิดมันได้มาเยอะเกินกว่าที่ต้องการ จะทำอย่างไร พุทธศาสนาก็แนะว่าให้ไปช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน คนไทยสมัยก่อนมีเงินเหลือก็เอาไปช่วยสร้างวัด ช่วยคนตกทุกข์ได้ยาก มีแนวคิดเรื่องเศรษฐี คือรวยแล้วช่วยผู้อื่น อย่าง อนาถบิณฑิกเศรษฐี ในสมัยพุทธกาล ท่านรวยมากแต่บริโภคเท่าที่จำเป็น เหลือนอกนั้นก็เอามาสร้างวัด ตั้งโรงทานช่วยเหลือคนยากคนจน ฉะนั้นสันโดษต้องคู่กับวิริยะ นอกจากความเพียรในเรื่องการทำมาหากิน การช่วยเหลือสังคมแล้วต้องมีความเพียรในเรื่องการปฏิบัติธรรมด้วย ตรงนี้แหละที่พระพุทธเจ้าบอกว่า สันโดษในปัจจัยสี่ แต่ไม่สันโดษในกุศลธรรม หมายถึงกุศลธรรมหรือความดี ไม่ว่าความดีที่คุณทำกับคนอื่น หรือความดีที่คุณทำกับตัวเองเพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านใน คุณต้องทำไปเรื่อย ๆ ทำจนกว่าคุณจะหมดกิเลส แต่ที่นี้ต้องเข้าใจว่าที่พูดถึงพอเพียงเราพูดถึงอะไร คือพอเพียงในด้านการบริโภค เราได้เท่าไหร่เราพอใจเท่านั้น แต่คนสมัยนี้ได้เท่าไหร่ก็ยังไม่พอใจ ยกตัวอย่างง่าย ๆ ชาวบ้านในหมู่บ้านใกล้วัดอาตมาคนหนึ่งไปซื้อหวยใต้ดิน 15 บาท ปรากฏว่าถูก ได้เงินมา 600 แกดีใจ แต่พอรู้ว่าเพื่อนของเขาอีกคนหนึ่งแทงเลขเดียวกัน แต่แทงมากกว่า ได้มา 2 พัน พอรู้แบบนี้แกเศร้าเลย เศร้าเพราะได้น้อยกว่าเขา เสียดายที่น่าจะแทงมากกว่านี้ อย่างนี้เรียกว่าไม่สันโดษ คุณได้มาแล้วแต่ก็ไม่พอใจ ทั้ง ๆ ที่ได้มาด้วยโชค ไม่ได้ลงมือลงแรงด้วยตัวคุณเอง แต่ยังมีความทุกข์เพราะเห็นคนอื่นเขามีมากกว่า คนสมัยนี้เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่แต่ถูกหวยเท่านั้น เวลาได้โบนัส ถ้ารู้ว่าตัวเองได้โบนัสแสนบาท ก็ดีใจมาก แต่พอรู้ว่าเพื่อนได้แสนห้า ใจเหี่ยวเลยเพราะเห็นเขาได้มากกว่าเรา ในทำนองเดียวกันเวลาเราไปเที่ยวต่างจังหวัด เห็นของราคา 500 เราอุตส่าห์ต่อได้ 300 พอกลับมาที่โรงแรม ตั้งใจว่าจะอวดเพื่อนว่าซื้อของได้ถูก ปรากฏว่าเพื่อนซื้อของชิ้นเดียวกันแต่ซื้อได้ถูกกว่าคือ 250 พอรู้อย่างนี้คุณจะรู้สึกยังไง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นทุกข์ขึ้นมาทันที เสียใจว่าน่าจะซื้อได้ถูกอย่างเขาบ้าง ไม่พอใจในของที่ซื้อมา อย่างนี้เรียกว่าไม่สันโดษ คุณไม่ยินดีในสิ่งที่ได้มา ทั้งที่สิ่งที่ได้มามันก็ดี ราคาก็ไม่ไพง ใช้ประโยชน์ได้ แต่ทำไมคุณไม่มีความสุข เพราะคุณไปเปรียบเทียบกับคนอื่นว่าเขามีของดีกว่าคุณ ถูกกว่าคุณ ทุกวันนี้เราไม่พอใจในคอมพิวเตอร์ที่มี ในโทรศัพท์ที่ใช้ เพราะเรารู้สึกเสมอว่าเพื่อน ๆ มีรุ่นที่ดีกว่า ใหม่กว่า ลูกเล่นมากกว่า เราไม่สันโดษแม้กระทั่งกับคู่ครองของเรา คือเห็นแฟนคนอื่นเขาดีกว่าหล่อว่าแฟนเรา พูดเพราะกว่าแฟนเรา แม้กระทั่งลูกก็รู้สึกว่าลูกเขาดีกว่าลูกเรา ลูกเขาเรียนเก่งกว่าลูกเรา พอคิดแบบนี้ก็เป็นทุกข์ทันที ทุกวันนี้คนเป็นทุกข์เพราะเหตุนี้กันมาก คือเปรียบเทียบกับคนอื่นตลอดเวลา แล้วก็จดจ่อกับสิ่งที่ตัวเองไม่มี หรือเคยมีแต่ตอนนี้ไม่มี ถ้าคิดแบบนี้คุณจะทุกข์มาก คุณมีเงินเป็นล้านแต่พอทำเงินหายแค่พันบาท หมื่นบาท คุณเป็นทุกข์ทันที เพราะใจจดจ่อกับเงินที่สูญไป จนนอนไม่หลับ ทั้ง ๆ ที่เงินพันเงินหมื่นที่หายมันเทียบไม่ได้กับเงินล้านที่คุณมี แต่คุณไม่สนใจว่าฉันมีเท่าไหร่ กลับไปสนใจว่าเงินหายเท่าไหร่ ตรงนี้จะเรียกว่าไม่มีสันโดษก็ได้ ให้เราชื่นชมสิ่งที่มี แล้วจะพบว่าหนึ่ง-เรามีไม่น้อยเลย สอง-สิ่งที่เรามีก็ดีทั้งนั้น แต่เรามักไม่ค่อยรู้สึกจนกว่ามันจะหายไป อย่างเพื่อนคนหนึ่งไปซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา ซื้อวันแรกมีความสุขมากเพราะได้ของใหม่ แต่พอใช้ได้สัก 4-5 เดือนก็รู้สึกเฉย ๆ ต่อมาก็รู้สึกว่าเครื่องที่ตัวเองมีสู้ของคนอื่นไม่ได้ แต่พอมันเกิดหายขื้นมา ก็กลับนึกถึงมัน รู้สึกเสียดายขึ้นมา คือเรามักจะเห็นคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ก็ต่อเมื่อมันหายไปแล้ว แต่ตอนที่มันยังอยู่กับเรา เราไม่เคยเห็นคุณค่าของมันเลย อาตมาคิดว่าไม่ใช่แค่กับสิ่งของเท่านั้น กับคนด้วยกัน เช่น พ่อแม่ แฟน พี่น้อง ตอนที่เขาอยู่กับเรา เราไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ แต่พอเขาตายไป จากไป ทิ้งเราไป ก็จะ เศร้าใจ เสียใจมาก แล้วเพิ่งมาคิดได้ว่าตอนที่เขายังอยู่กับเรานั้นเป็นช่วงที่วิเศษมาก แต่กลับมองไม่เห็น ฉะนั้นอาตมาคิดว่าเราจะต้องหัดหันมาชื่นชมสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ แทนที่จะคอยตำหนิว่ามันมีข้อเสียอะไรบ้าง ถ้าเราเริ่มต้นจากการชื่นชมกับสิ่งที่มี จะรู้เลยว่าสิ่งที่เรามีทุกอย่างมีค่าทั้งนั้น บางอย่างเหมือนหญ้าปากคอก เช่นคุณพูดได้ มองได้ เดินได้ คุณมีสุขภาพดี ก็มองว่านี่เป็นธรรมดา แต่เมื่อไหร่ที่คุณพูดไม่ได้ เมื่อตาคุณบอด เมื่อคุณป่วย เมื่อคุณพิการ เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต คุณจะรู้เลยว่าสิ่งเหล่านี้มีค่ามาก มีคนหนึ่งพูดว่าเขารู้สึกละอายใจมากที่ไม่เห็นคุณค่าของสิ่งใกล้ตัว คนที่เขาพูดนี่เขาเคยเป็นคนมองไม่เห็น จมูกไม่ได้กลิ่น เพราะโดนของหนักกระแทกที่หัว ตามองอะไรไม่ได้เลยนะ โดนแสงก็ไม่ได้ จมูกก็ดมกลิ่นไม่ได้เลย ลิ้นรับรสอะไรไม่ได้ หูฟังเสียงคนพูดไม่รู้เรื่อง คือฟังเป็นเสียงแต่ไม่รู้ว่าพูดอะไร ประสาทสัมผัสทั้งห้าเสียหมดเลย แต่อยู่ดี ๆ มันกลับคืนมา เขารู้สึกว่าวันที่เขาได้กลิ่นสปาเกตตีนี่มันหอมที่สุดเลย วันที่เขาได้ยินเสียงคนพูดเป็นครั้งแรกนี่เขามีความสุขมาก เขาบอกเลยว่าละอายใจที่เขาไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่กับตัว ใช่ เมื่อคุณประสบเคราะห์กรรมเมื่อไหร่คุณจะรู้สึกว่าสิ่งที่คุณเคยมีแต่สูญเสียไปนั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก แต่ทำไมต้องรอให้สูญเสียมันก่อนถึงจะเห็นคุณค่า เราควรจะชื่นชมสิ่งเหล่านี้ขณะที่ยังอยู่กับเรา อย่าไปจดจ่อกับสิ่งที่ยังไม่มี ขณะเดียวกันก็อย่าไปจดจ่อกับสิ่งที่เคยมีแต่สูญเสียไปแล้ว เรายังมีสิ่งดี ๆ อีกมากที่ควรได้รับความใส่ใจอย่างเรา ถ้าเราทำอย่างนี้ได้เราจะเป็นคนมองในแง่บวก พอมองในแง่บวกแล้ว เราจะทุกข์น้อยลง แม้แต่เวลาเจอสิ่งที่แย่ ๆ ก็ตาม เราก็จะฉลาดในการมองเห็นว่ามันมีข้อดียังไงบ้าง เช่นเวลาคุณเจ็บป่วย คุณจะรู้ว่าการเจ็บป่วยก็มีข้อดีเหมือนกัน เพราะอย่างน้อยทำให้ได้รู้ว่าตอนที่ไม่เจ็บป่วยคุณมีความสุขแล้ว ตอนที่คุณสุขภาพดีนั้นนับว่าเป็นโชคแล้ว ไม่ต้องรอให้ถูกหวยเสียก่อนถึงจะเรียกว่ามีโชค ความเจ็บป่วยยังเตือนให้คุณหันมาปรับปรุงชีวิตให้มีดุลยภาพมากขึ้น เพราะความเจ็บป่วยคือสัญญาณเตือนว่าคุณใช้ชีวิตไม่สมดุล กินอาหารไม่ถูกต้อง ไม่ได้นอนเพียงพอ หรือว่าคุณสบายมากเกินไป ไม่ออกกำลังกายเลย คุณจะเป็นโรคความดัน โรคหัวใจ เบาหวาน ความเจ็บไข้คือสัญญาณเตือนให้เกิดปัญญา ท่านพุทธทาสเรียกว่าความเจ็บไข้มาเตือนให้เราฉลาด ถ้าเรามองเป็นนะ บางคนถ้าไม่เจ็บไข้ไม่ป่วยหนักก็ไม่หันมาสนใจธรรมะ ก็เลยพบว่าโชคดีนะที่เรามาเจ็บป่วย เพราะทำให้เราค้นพบธรรมะ ได้พบว่าความสุขที่แท้อยู่ที่ใจเรา นักปฏิบัติธรรมจำนวนไม่น้อยขอบคุณวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้ธุรกิจล้มละลาย เพราะธุรกิจล้มลายทำให้ต้องหันหน้าเข้าวัด หันหน้าเข้าวัดด้วยเจตนาของตนเองบ้าง เพราะคนอื่นมาชักชวนบ้าง พอเข้าวัดก็ได้ค้นพบว่าความสุขที่แท้มันอยู่ในใจเรานี้เอง ขอบคุณธรรมะ ขอบคุณวิกฤตเศรษฐกิจ จริง ๆ มันมีวิกฤตทุกระดับ เริ่มต้นเป็นลำดับ คนเราต้องมีพัฒนาการ หรือสุขภาวะใน 4 ด้าน คือด้านกาย ด้านสังคม ด้านสติ ด้านปัญญา ด้านกายนี้เรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าจะว่าไปแล้วสังคมไทยดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน เราไม่มีคนขาดอาหารเป็นล้าน ๆอย่างแต่ก่อน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือคนไทยเจ็บป่วยเพราะการมีอาหารมากเกินไป 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่มีน้ำหนักเกิน แล้วเด็กที่มีน้ำหนักเกินมีมากขึ้นเรื่อย ๆ คนไทยตายเพราะโรคขี้เกียจประมาณชั่วโมงละ ๙ คน เพราะว่าเป็นโรคหัวใจ โรคความดัน มะเร็ง และเบาหวาน ทั้งหมดนี้เนื่องจากใช้ชีวิตสะดวกสบายเกินไป ไม่ออกกำลังกาย แล้วปัญหาอันหนึ่งที่เกิดขึ้นคือช่องว่างระหว่างคนมีกับคนจน คนยากจนก็มากขึ้น ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมแย่ลง ฝนแล้ง น้ำท่วม มลภาวะ นี่เป็นปัญหาด้านกายภาพ ปัญหาด้านสังคม อาชญากรรม ความรุนแรงในครอบครัวรุนแรงมาก ความร้าวฉานในครอบครัว ง 1 ใน 4 ของคู่แต่งงานมีการหย่าร้างกัน ลูกขาดความอบอุ่นจากพ่อแม่ 30% ของเด็กในชนบทไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ แต่อยู่กับคนอื่น หรือไม่ก็อยู่กับพ่อคนเดียว แม่คนเดียว ความทุกข์ทางจิตใจก็มีมาก ความเครียด จนกระทั่งเข้าหายาเสพติด คนมีความทุกข์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 1 ใน 4 ของใบสั่งยาของโรงพยาบาลชุมชนทั้งประเทศเป็นยาเกี่ยวกับเรื่องระงับความเครียด แล้วที่สำคัญคือการขาดความสุขอันเนื่องมาจากปัญญา ภาษาสมัยใหม่เรียกว่าสุขภาวะทางปัญญา ถึงที่สุดนี้มันโยงมาถึงเรื่องปัญหาตัวเดียวคือ วิกฤตด้านจิตวิญญาณ วิกฤตด้านจิตวิญญาณมันมีสองส่วน หมายถึงทัศนะการมองโลก คุณมีทัศนะการมองโลกอย่างไร และสองคุณให้คุณค่ากับอะไร ตอนนี้ทัศนะการมองโลกของคนไทยเป็นทัศนะแบบวัตถุนิยมมาก คือเห็นว่าความสุขมาจากวัตถุเป็นเรื่องใหญ่ คือเห็นวัตถุเท่านั้นที่มีจริง สิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาไม่มีจริง ไม่ต้องพูดเรื่องนิพพาน แม้กระทั่งบุญกุศลคนจำนวนมากก็ไม่เชื่อว่ามี การให้คุณค่าของสิ่งต่าง ๆ วัดด้วยตัวเงินหรือตัวเลข คุณค่าของคนวัดที่เงินว่าใครมีมากกว่ากัน เงินเดือนเป็นตัววัดคุณค่าหรือความสำเร็จของคน เดี๋ยวนี้เด็กที่เพิ่งเรียนจบไม่ได้สนใจแล้วว่าทำอย่างไรจะเป็นคนที่มีความสุขและเป็นคนดี แต่คิดว่าจะมีรถและบ้านของตัวเองเมื่ออายุ ๓๐ ปีได้อย่างไร ถ้าคุณจบหมอคุณก็เริ่มคิดแล้วว่ามีรายได้กี่บาทต่อชั่วโมง ตอนนี้ผลประโยชน์มันเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างทุกฝ่าย เช่น พระกับฆราวาส เวลามีฆราวาสมาพระก็นึกแล้วว่าจะเอาอะไรมาถวาย หรือทำบุญกี่บาท ฆราวาสก็คิดแต่ว่าท่านจะให้หวยไหม และให้แม่นแค่ไหน เวลาหมอรักษาคนไข้ก็ต้องคิดว่าคนไข้จะมีเงินจ่ายไหม ส่วนคนไข้เวลาจะไปหาหมอต้องคิดแล้วว่าจะต้องจ่ายเท่าไหร่ หรือคิดแล้วว่าถ้าหากตัวเองล้มป่วยเพราะหมอ จะฟ้องร้องเท่าไหร่ แม้กระทั่งพ่อแม่กับลูกก็ใช้วัตถุเป็นตัวเชื่อม การแสดงความรักของพ่อแม่คือต้องให้วัตถุกับลูก ถ้าลูกต้องการอะไรคุณให้หมด ก็แสดงว่าคุณรักลูก ส่วนลูกก็คาดหวังวัตถุจากแม่พ่อ อันนี้สะท้อนทัศนคติเรื่องวัตถุนิยม นำไปสู่ความขัดแย้งในครอบครัว สู่ความเสื่อมทรามของชุมชน ทำให้คนในสังคมแตกแยกกัน เพราะว่ามุ่งแต่แก่งแย่งผลประโยชน์กัน เราคิดว่าเมืองไทยปัญหาวุ่นวายคือทัศนคติและการให้คุณค่ากับสิ่งซึ่งมันนำไปสู่ความทุกข์ และความทุกข์แบบนี้เราเรียกว่าเป็นทุกข์เกิดจากการขาดปัญญา อาตมากับเครือข่ายพุทธิกาจึงจัดทำโครงการเสริมสร้างสุขภาวะทางปัญญาขึ้น คือต้องการส่งเสริมความสุขที่เกิดจากการมีทัศนคติที่ถูกต้อง โดยเฉพาะทัศนคติต่อชีวิตต่อโลก ตอนนี้ถ้าพูดรวม ๆ คนไทยมีปัญหาทัศนคติ ๔ ประการที่ทำให้เกิดความทุกข์ทุกระดับ หนึ่งคือ การคิดถึงตัวเองมากกว่าส่วนรวม สอง-การยึดติดกับความสุขทางวัตถุ สาม-การหวังลาภลอยคอยโชคและรวยรัด เดี๋ยวนี้คนไทยชอบทางลัดมาก เพราะฉะนั้นอบายมุข การพนัน หวย จึงเฟื่องฟู ทำไมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น จตุคามรามเทพถึงแพร่ระบาด เพราะช่วยให้รวยลัดได้ ทำไมถึงต้องโกง ทำไมถึงต้องคอรัปชั่น ทำไมถึงมีปัญหานักเรียนขายตัวแลกเกรด เพราะเป็นทางลัด ไม่ต้องเหนื่อยก็สามารถบรรลุความสำเร็จได้ สี่คือการขาดวิธีคิดที่ถูกต้อง คือคิดไม่เป็น แยกไม่ออกระหว่าง ถูกใจ กับ ถูกต้อง ทีนี้ทัศนคติที่นำไปสู่สุขภาวะทางปัญญาก็คือ หนึ่ง-รู้จักคิดถึงคนอื่นมากกว่าตนเอง -คือแทนที่จะถามว่า ทำแล้วฉันจะได้อะไร จะต้องถามว่า ทำแล้วสังคมจะดีขึ้นมั้ย ทำแล้วสังคมจะได้อะไร ส่วนรวมจะได้อะไร ถ้าคุณเป็นนักเรียนต้องถามว่าทำแล้วโรงเรียนจะดีขึ้นมั้ย ทำแล้วสิ่งแวดล้อมจะดีขึ้นมั้ย สอง-คุณสามารถจะเข้าถึงความสุขที่ไม่อิงวัตถุ เห็นว่าความสุขไม่ได้มาจากวัตถุอย่างเดียว อาจจะจากการทำความดี จากการมีเวลากับครอบครัว มาจากการทำสมาธิภาวนา มาจากการเสียสละ และมาจากการทำงาน ทำงานด้วยความพากเพียรคุณก็มีความสุขได้ สาม-คุณพึ่งความเพียรของตัวเอง ไม่หวังลาภลอยคอยโชคหรือนิยมรวยทางลัด อันที่สี่คือมีความคิดความเห็นที่เป็นเหตุเป็นผล แยกออกระหว่าง ถูกใจกับ ถูกต้อง อีกทั้งสามารถแก้ทุกข์ด้วยด้วยสติปัญญาของตนเอง ตอนนี้เราเครียดเพราะความคิดมาก อย่างที่อาตมายกตัวอย่าง ถึงแม้คุณถูกหวย 600 บาทคุณก็ยังมีความทุกข์ หากคุณไปเปรียบเทียบกับคนอื่นที่ได้มากกว่า แต่ถ้าคิดเป็นก็มีความสุขได้ทั้ง ๆ ที่เป็นมะเร็ง อย่างมีครั้งหนึ่งอาตมาจัดหาอาสามัครไปเยี่ยมผู้ป่วยระยะสุดท้าย เด็กหญิงอายุ 14 ขวบ ผมร่วงทั้งหัวเลยเพราะแกเป็นมะเร็งสมอง แต่หน้าตาแจ่มใสมาก อาสาสมัครแปลกใจมาก คุยไปคุยมาแกบอกว่าแกโชคดีที่ไม่ได้เป็นมะเร็งปากมดลูก เพราะมีญาติคนหนึ่งที่เป็นมะเร็งมดลูกปวดมากเลย แกเลยรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่เป็นแค่มะเร็งสมอง ขนาดเป็นมะเร็งยังบอกว่าโชคดี อันนี้เป็นเพราะวิธีคิดหรีอวิธีมอง ถ้าคุณมองให้เป็นคุณก็เห็นความสุข คือเห็นว่าคุณก็โชคดี สุขหรือทุกข์จึงอยู่ที่วิธีคิด ทางที่ดีคือต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก แต่เราก็สามารถสร้างได้โดยเรียนรู้จากชีวิตประจำวัน ประสบการณ์ในชีวิตจะทำให้พบว่าการช่วยเหลือคนอื่นทำให้มีความสุขนะ อย่างเช่นโครงการที่เราเคยทำเมื่อ 3-4 ปีก่อน มีโครงการหนึ่งคือการไปนวดเด็กที่บ้านปากเกร็ด ซึ่งเป็นเด็กกำพร้าไม่มีพ่อไม่มีแม่ ถูกทิ้งให้นอนอยู่ ไม่ได้ขยับไม่ได้เดินเลย อาสาสมัครก็ไปนวดเด็ก3-4ขวบ อาทิตย์ละ 2 ครั้ง มีอาสาสมัครคนหนึ่งเป็นไมเกรน ต้องกินยาทุกวัน แต่พอไปนวดเด็กสักสองสามครั้ง แกบอกแกลืมกินยา ไมเกรนหาย แกเลยพูดว่าการได้ไปช่วยเหลือคนอื่นก็เป็นความสุขได้ ถ้าเขานำมาแลกเปลี่ยนปรับปรุงจะพบว่าการคิดถึงผู้อื่นก็มีประโยชน์นะ ไม่ได้เป็นการช่วยเหลือผู้อื่นอย่างเดียวแต่ยังเป็นการช่วยเหลือตัวเราเองด้วย หรือมีคนหนึ่งไปปลูกป่าที่วัดอาตมา วันแรกเขาบอกว่ามองไปนอกป่าเห็นทุ่งไร่มันแล้วก็เห็นแต่ต้นไม้สูงโด่เด่ไม่กี่ต้น เขารู้สึกสะท้อนใจว่าชีวิตเขาเหมือนทุ่งหญ้าทำอะไรไม่ได้ในโลกนี้ เดี๋ยวก็ถูกทำลายแต่พอไปปลูกป่ากับเพื่อน 2 วัน ล้มลุกคลุกคลานเพราะฝนตกเฉอะแฉะกันไปหมด สุดท้ายเขาเล่าว่าตอนนี้เขารู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เป็นทุ่งหญ้าแล้ว แต่เป็นต้นไม้ที่โต มีพลัง ก็จะเห็นได้ว่าการที่เราได้คิดถึงบุคคลคนอื่นเมื่อไร ความทุกข์เราจะน้อยลงด้วย วิธีการอย่างหนึ่งคือต้องมีการชักชวนกัน ไปทำร่วมกัน เพราะอยู่บ้านก็สบายดี บางคนเจอแดดก็เหนื่อยแล้ว แค่เดินไปปากซอยไม่อยากเดินแล้ว นั่งรถมอเตอร์ไซค์ดีกว่า แต่ว่าการชักชวนจากเพื่อน ๆ สามารถจะดึงให้คนออกไปเจอความยากลำบาก และหลายคนก็พบว่าการทนความยากลำบากเป็นสิ่งที่ฝึกได้ อาตมาจัดธรรมยาตราทุกปี มีนักเรียนจากกรุงเทพมา เดินกลางแดดร่วมกับชาวบ้านเป็นเวลา 7 วันในช่วงหน้าหนาว เดินกันทั้งวัน นอนกลางดินกินกลางทราย ค่ำที่ไหนนอนที่นั่น อาหารก็ไม่อร่อย น้ำแข็งไม่มี น้ำอัดลมไม่มี 3 วันแรกหลายคนอยากกลับ แต่พอวันที่4ที่ 5เริ่มมีความสุข ทีแรกสนุกก่อนเพราะว่ามีเพื่อน พอได้ท้าทายตัวเอง ทดลองทำในสิ่งที่ยากแล้วก็พบว่าตัวเองทำได้ ก็จะเกิดความสุขขึ้นมา เป็น ความปลื้มใจที่เราเองก็ทำได้ นักเรียนหลายคนขอเดินต่อ เพราะเขาได้เรียนรู้ว่าความยากลำบากก็ทำให้มีความสุขได้ และเป็นความสุขที่เกิดจากการทำอะไรเป็นกลุ่ม การไปทำอะไรเป็นกลุ่มทำให้เกิดบรรยากาศแห่งความเข้าอกเข้าใจ ความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล อาตมาจึงส่งเสริมกระบวนการกลุ่ม เพราะการทำงานเป็นกลุ่มจะทำให้เราสามารถข้ามพ้นขีดจำกัดของตนเองได้ สามารถเอาชนะความยากลำบากได้ และจะทำให้เราได้ค้นพบความสุข แล้วก็ได้แง่คิดที่น่าสนใจจากคนอื่น ซึ่งบางทีเราอาจไม่ได้คิด เช่นบางคนเดินธรรมยาตรา เขาบอกว่าแต่ก่อนเขาไม่อยากกินข้าวกินน้ำที่เราเอามาให้ เพราะว่ามันไม่อร่อย เป็นน้ำจืดสนิท ที่อยากกินต้องเป็นน้ำอัดลม แต่พอมาเดินจริงๆ แค่ได้กินน้ำจืด น้ำฝนก็มีความสุข แค่ได้นั่งพักอยู่ใต้ต้นไม้ มีลมพัดเบา ๆ ก็มีความสุขแล้ว การใช้ชีวิตที่ลำบากทำให้เขาเป็นคนสุขง่าย ที่ผ่านมาเขาเป็นคนสุขยากเพราะว่าเขาสบายเกินไป ตรงนี้ทำให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เกิดแง่คิดแล้วเป็นประสบการณ์ที่รับรู้ด้วยตัวเอง ตอนนี้เป็นปัญหาเพราะคนไทยมีทัศนคติที่ไม่เชื่อมั่นในตนเองมานานแล้ว เดิมทีเกิดจากความเข้าใจว่าถ้าคุณทำความดี คุณจะมีโชคตามมา หรือว่าถ้าคุณทำความดีแล้วเทวดาจะมาช่วยเหลือ ทั้ง ๆ ที่ค่านิยมของคนไทยสมัยก่อนเลยคือการมีศีล มีธรรม การช่วยเหลือเกื้อกูลคือการทำความดี แต่ปัจจุบันการช่วยเหลือผู้อื่นมีความหมายแคบลง เหลือเพียงแค่การให้ทานที่เราเรียกว่าทำบุญ จึงเกิดความเข้าใจว่าทำบุญให้ทานมาก ๆ แล้วเดี๋ยวโชคจะตามมา คนก็เลยชอบถวายสังฆทาน บริจาคเงินให้วัด เพราะอยากได้โชค เช่น ถูกหวย แต่อย่างอื่นคุณไม่ทำ คุณเอาแต่ทำบุญด้วยเงิน แล้วคอยโชคว่าเมื่อไหร่จะเกิดขึ้น ตรงนี้ทำให้เกิดทัศนคติว่าถ้าอยากจะรวยก็ต้องไปทำบุญเยอะ ๆ ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นว่าถ้าคุณซื้อวัตถุมงคลให้ถูกรุ่นถูกยี่ห้อถูกสเป๊กก็จะรวยได้ ความเข้าใจ ค่อย ๆ กร่อนไปทีละนิด ๆ จากการทำความดี รักษาศีล มีธรรมะ ตอนนี้เหลือแค่การทำบุญด้วยการใช้เงิน ด้วยความหวังว่าจะเกิดโชค ทีนี้โชคมันจะเกิดขึ้นคุณก็ต้องเล่นหวยด้วย ก็เลยเกิดค่านิยมการทำบุญควบคู่ไปกับการเล่นหวย นักเล่นหวยจะเก่งเรื่องการทำบุญมาก ก็นำไปสู่ค่านิยมการพึ่งพาอาศัยอบายมุข แต่ระยะหลังคนใจร้อนมากขึ้น รอโชคจากหวยไม่ทันใจ โกงเลยดีกว่า แล้วก็มีคอรัปชั่นตามมาเป็นค่านิยม แต่ก่อนคุณใช้วิธีถ้าอยากถูกหวยก็ไปติดสินบนเทวดา ตอนนี้นำวิธีติดสินบนมาใช้กับการอยากได้เกรดดี ๆ ก็ไปติดสินบนอาจารย์ ถ้าไม่มีเงินก็เอาตัวไปแลก นี่เป็นค่านิยมติดสินบนด้วยการเอาเงินเป็นทางลัดที่นิยมกันแพร่หลาย คนไทยเวลานี้ใช้ทางลัดหลายอย่าง เช่น หวย การพนัน หรือไม่ก็ใช้เงินเป็นใบเบิกทาง ค่านิยมแบบนี้ทำให้สังคมไทยแย่ลง ๆ เพราะคนไม่เชื่อความเพียรหรืออุตสาหะ อาตมาคิดว่าถ้าเราไม่ส่งเสริมไม่รื้อฟื้นการพึ่งพาความเพียร สังคมไทยจะไปไม่รอด อีกเหตุผลหนึ่งที่คนเราควรเชื่อมั่นในความเพียรของตน คือ เมื่อเพียรแล้วคุณไม่เพียงแต่บรรลุความสำเร็จเท่านั้น แต่คุณยังจะเกิดความสุข เกิด ความภาคภูมิใจซึ่งซื้อไม่ได้ด้วยเงิน เมื่อมีความเพียรจิตใจก็จะจดจ่ออยู่กับสิ่งที่คุณทำ เมื่อคุณทำงานที่ชอบใจคุณก็ไม่วอกแวก เมื่อใจอยู่กับงานก็มีความสุข ใจที่จดจ่ออยู่กับงานเรียกว่าจิตตะ เมื่อเป็นเช่นนั้นงานก็จะสำเร็จ แล้วยิ่งถ้ารู้จักไตร่ตรองพิจารณาว่างานต้องปรับปรุงแก้ไขยังไงที่เราเรียกว่าวิมังสา ก็มีโอกาสสำเร็จได้มาก ตรงนี้เราเรียกว่าหลักธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จคืออิทธิบาท 4 เวลาพูดถึงอิทธิเรามักนึกถึงอิทธิปาฏิหาริย์ใช่มั้ย แต่อิทธิปาฏิหาริย์ไม่ดีเท่ากับอิทธิบาท อิทธิบาทคือคุณทำสำเร็จได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของคุณเอง มันเป็นปาฏิหาริย์ยิ่งกว่าอิทธิปาฏิหาริย์ อย่างพระมหาชนก เรือล่มก็ว่ายน้ำเข้าหาฝั่ง แม้มองไม่เห็นฝั่งเลยแต่ก็ว่ายไม่เลิก 7 วัน 7 คืน โดยไม่คิดจะขอให้นางมณีเมขลาหรือพระอินทร์มาช่วย แต่นางมณีเมขลามาช่วยเอง เพราะทนไม่ไหวที่เห็นคนดีทำความเพียร แต่ถึงแม้นางมณีเมขลาจะมาช่วย พระมหาชนกก็ยังว่ายน้ำต่อไปไม่หวั่นไหว นางมณีเมขลาก็ถามพระมหาชนกว่าทำไมไม่ขอให้เทวดามาช่วย พระมหาชนกบอกว่าเมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ก็ต้องเพียรพยายามเต็มที่ คนเราถ้าทำความเพียรอย่างถึงที่สุดแล้วเมื่อตายไปก็ไม่อายใคร ได้ภูมิใจว่าใช้ความเพียรของตนเอง นี่เป็นคติที่เน้นว่าคุณต้องพึ่งความเพียร ถึงแม้จะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทวดา แต่เราไม่พึ่งพาเทวดา เราพึ่งความเพียรของตนเอง เทวดาจะช่วยหรือไม่เป็นเรื่องของท่านไม่ใช่เรื่องของเรา เแต่คนไทยชอบขออย่างเดียวโดยไไม่ทำอะไรเลย
|
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|