|
|
การเพิกเฉยเป็นความไม่รับผิดชอบต่อธรรมะ หลังโศกนาฏกรรมที่ตากใบ นราธิวาส ความสลดหดหู่ร้องระงมอยู่ภายใน แข่งกับเสียงกู่ก้องด้วยความสะใจในสื่อออนไลน์ ขณะที่อีกลู่วิ่งกลับได้แต่มองดู ความตั้งใจถกปัญหาธรรมว่าด้วยศีลข้อ 1 ธรรมะบรรทัดแรกในชุดคู่มือชีวิตของพุทธศาสนิกชนทุกผู้นามก็เกิดขึ้น
คือถึงแม้เราไม่ฆ่า แต่เรายินดี เราสรรเสริญการฆ่านั้น พระพุทธเจ้าก็บอกว่า ก็มีนรกเป็นที่สุด คือท่านไม่เห็นด้วยกับการสนับสนุนให้มีการฆ่า หรือการไปยินดีกับการฆ่า อันนี้มันเป็นหลักพื้นฐานของพุทธศาสนาอยู่แล้ว อย่าว่าแต่อะไรเลย แม้กระทั่งการไปตอบโต้คนที่ทำร้ายเราด้วยความรุนแรงก็ไม่ถูกต้อง คติของพุทธศาสนาก็คือว่า อย่าว่าแต่การสรรเสริญหรือว่าอยู่เฉยๆ เวลาคนอื่นเขาถูกฆ่าเลย แม้แต่เราเองถูกกระทำ ก็ไม่สมควรที่เราจะไปตอบโต้ หรือโกรธแค้น นี่คือหลักการของพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นการฆ่าเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในทุกกรณีอยู่แล้ว แต่ชาวพุทธก็ย่อหย่อนมากในเรื่องนี้
ปัญหาคือเมืองไทยเราขาดขันติธรรมและเมตตาธรรม อย่างง่ายๆ เมื่อ 200 ปีก่อน
มีคนพูดถึงหมอบรัดเลย์ หมอบรัดเลย์นี่แกเป็นหมอเผยแพร่ศาสนา วันหนึ่งก็ไปประกาศศาสนาหน้าร้านขายพระพุทธรูป
แล้วก็โจมตีการนับถือพระพุทธรูป เจ้าของร้านก็นั่งฟังเฉยๆ เผอิญตอนนั้นมันร้อน
หมอบรัดเลย์พูดจนเหนื่อย เจ้าของร้านซึ่งนั่งฟังอยู่ตลอดเห็นเช่นนั้นก็เลยเชิญชวนเข้ามานั่งในร้าน
หาน้ำให้กิน แล้วถามว่าทำไมถึงพูดอย่างนั้น ถ้าเป็นสมัยนี้หมอบรัดเลย์ทำอย่างนี้ไม่ได้แล้ว
อาจจะโดนไล่ตะเพิดหรือว่าโดนตีหัวกันไปแล้ว เมืองไทยตอนนี้มันเป็นอย่างนี้ ขันติธรรมและเมตตาธรรมมันน้อยลง กระทั่งยอมรับไม่ได้กับคนที่คิดต่างจากตัว
อย่าว่าแต่การอยู่เฉย ๆ เวลาคนอื่นได้รับความเดือดร้อน เพียงแค่อยู่เฉย
เวลาคนอื่นถูกตำหนิต่อว่า ก็ถือว่าไม่ควร พระพุทธองค์เคยตำหนิพระอานนท์ที่อยู่เฉย
ๆ ปล่อยให้พระสารีบุตรถูกพระรูปหนึ่งจ้วงจาบ ถือว่าขาดเมตตา การที่เราไม่มีจิตเมตตาที่จะช่วยเหลือคนที่เขาเดือดร้อนมันเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมอยู่แล้ว
เมื่อเราเห็นคนเขาเดือดร้อนแล้วเราเฉย ก็แสดงว่าเราไม่มีจิตที่เมตตาเพียงพอ
คือบางทีคนเราเฉยเพราะหลายสาเหตุ อย่างเช่น เราเฉยเพราะกลัวว่าเราจะถูกเล่นงาน
เหมือนอย่างที่ภาคใต้เวลานี้ หลายคนก็รู้ว่าใครเป็นโจร แต่เขาก็ไม่กล้าบอกเจ้าหน้าที่รัฐ
หรืออย่างเช่น รู้ว่ามีการข่มขืนอยู่หลังตึก ได้ยินเสียงร้อง แต่ก็ไม่มาช่วย
คือการกระทำอย่างนี้มันไม่ถูกอยู่แล้วล่ะ การที่ไม่มีความเมตตา ไม่มีความใส่ใจ
ไม่มีความรับผิดชอบร่วมกัน
อาตมาคิดว่าที่นายกฯพูดนี่ ไม่ใช่เป็นเรื่องเกี่ยวกับโลกสมัยใหม่ แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับว่าจะอยู่ในสายตามากน้อยแค่ไหน คือมีความระแวงว่า อะไรที่ไม่ได้อยู่ในกำกับของรัฐก็ต้องระแวง เพราะฉะนั้นก็อยากให้การสอนศาสนามาอยู่ในสายตาของรัฐ คืออยู่ในระบบโรงเรียนที่รัฐดูแลอยู่ ซึ่งก็เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นกันทั่วไป
กับสงฆ์หรือกับพระอันนี้ชัด จะเน้นเรื่องความสามัคคี การร่วมมือกัน การรับผิดชอบร่วมเด่นมาก
อย่างเช่นว่า จะไปอยู่ที่ไหนก็ตาม 15 วันต้องมาเจอกัน มาสวดปาติโมกข์ ก็คงคล้ายๆ
กับมุสลิมที่ทุกวันศุกร์ต้องมาเจอกัน มาละหมาด แต่ของพระนี่จะมีกำหนดเรื่องนี้ไว้มาก
การทำให้สงฆ์แตกสามัคคีนี่ถือว่าไปลงนรกนะ เป็นอนันตริยกรรมอย่างหนึ่ง แต่ในหมู่ฆราวาสนี่เราไม่มีระเบียบ พุทธศาสนาจะอ่อนเรื่องของข้อกำหนดที่จะทำให้ฆราวาสเข้มแข็งหรือรวมตัวกัน ที่ผ่านมา อาศัยประเพณี หรือวัฒนธรรมของสังคมที่ทำให้คนอยู่ด้วยกันได้เป็นชุมชน อันนี้จะต่างจากมุสลิมที่เขามีข้อกำหนดกับฆราวาสด้วย เพราะเขาไม่มีความคิดเรื่องพระอย่างพุทธ มันไม่ใช่เป็นธรรมชาติของพุทธ แต่มันเด่นชัดขึ้นในช่วงระยะหลัง เพราะพุทธศาสนาแต่ก่อนมีมิติในทางสังคม พุทธศาสนาเน้นเรื่องการรับผิดชอบสังคม การที่จะปรับปรุงตัวเองได้ต้องทำให้สังคมมันดี เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ในสมัยก่อนสิ่งที่เรียกว่าโลกกับธรรมจึงไม่แยกจากกัน การปกครองหรือว่าเศรษฐกิจ ต้องเป็นไปเพื่อให้เกิดความเจริญทางศีลธรรมด้วย แต่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มานี่เองที่แนวคิดถูกทำให้เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล เกี่ยวข้องกับสังคมน้อยลง อย่างเช่น ศีล ศีลก็กลายเป็นเรื่องความสัมพันธ์ในเรื่องฉันกับคุณ เป็นเรื่อง Personal-Interpersonal ไม่ใช่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างฉันกับสังคมหรือชุมชนโดยรอบ ในอดีตพุทธศาสนาแบบนี้ไม่ค่อยเป็นปัญหา เพราะพุทธศาสนาอยู่คู่กับความเชื่อเรื่องผี ผีเป็นเรื่องของฉันกับชุมชน ฉันไม่ตัดไม้เพราะว่ามันจะทำให้เกิดความวิปริตแปรปรวนหรือความเดือดร้อนในหมู่บ้าน ผีจะโกรธ พอมาขณะนี้เรื่องผีมันอ่อนแรง เหลือแต่พุทธศาสนาเป็นหลัก จริยธรรมของคนไทยจึงเหลือเพียงมิติเดียว คือเป็นเรื่องเกี่ยวกับฉันกับผู้อื่น แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องของฉันกับสังคม คนจึงไม่มีสำนึกต้องรับผิดชอบต่อสังคม แล้วก็จะเริ่มนิสัยตัวใครตัวมันมากขึ้น และพุทธศาสนาก็ไม่ได้มีความพยายามที่จะปรับตัวให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่โดยพยายามที่จะเข้ามาเน้นเรื่องบทบาทระหว่างบุคคลกับสังคม ทั้งๆ ที่เป็นประเด็นที่พุทธศาสนาเน้นมาก อาตมาคิดว่าประเด็นเบื้องหลังนี่มันไม่ใช่เรื่องพุทธหรือไม่พุทธ แต่มันเป็นเรื่องของความคิดชาตินิยมแบบคับแคบ ชาตินิยมแบบคับแคบคือชาตินิยมที่เน้นความเหมือน คือต้องพูดภาษาไทย ต้องนับถือศาสนาพุทธ และต้องนับถือวัฒนธรรมแบบไทย อย่างพระสงฆ์เองก็ถูกทำให้ต้องนั่งแบบเดียวกันหมด จะนั่งแบบหลวงพ่อคูณไม่ได้ ใช่ เพราะว่าเราไปถูกทำให้เข้าใจว่า ไทยกับพุทธเป็นเรื่องเดียวกัน อาตมาคิดว่า แนวคิดแบบพุทธมันมีอิทธิพลต่อคนไทยน้อยกว่าความคิดชาตินิยมแบบคับแคบ ซึ่งเน้นเรื่องความเหมือน แทนที่เราจะมีชาตินิยมที่กว้างคือว่า ถึงแม้ว่าเราจะต่างกันอย่างไร แต่ว่าเรามีจุดร่วมอย่างหนึ่ง อาจจะมีจุดร่วมที่เหมือนกัน คือ เราจะอยู่ในสังคมนี้ และเราจะร่วมกันสร้างสังคมนี้ให้ผาสุกอย่างไร คำสอนเรื่องขันติธรรมและเมตตาธรรม แม้กระทั่งความคิดพื้นฐานว่ามนุษย์เราเป็นเพื่อนร่วมโลก อย่าว่าแต่มนุษย์เลย กับสัตว์เองเราก็ต้องมีเมตตา และเราต้องตระหนักว่าเป็นเพื่อนร่วมโลก ร่วมทุกข์ในวัฏสงสาร ต้องมองข้ามความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา เผ่าพันธุ์ และก็สปีซี่ส์ด้วยซ้ำ พุทธศาสนาบอกว่าทุกคน แทบจะไม่มีคนใดคนหนึ่งเลยที่ไม่เคยเป็นพ่อแม่ พี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาว ไม่ในชาตินี้ก็ในอดีตชาติ ในพุทธศาสนาจะมีความคิดว่า ทุกอย่างเป็นญาติกัน
อันนั้นพูดได้ในเชิงวัฒนธรรม แต่จะเป็นปัญหาขึ้นมาถ้าเกิดทำให้มันกลายเป็นข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ซึ่งมันเป็นปัญหาในหลายประเทศ แต่ ถ้าพูดในเชิงวัฒนธรรมว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ มันก็ได้ แต่ก็มีข้อโต้แย้ง อาตมาเองไม่รู้สึกว่า เราจะพูดแบบนี้ได้เต็มปาก เพราะเราจะพูดได้ยังไงในเมื่ออาชญกรรมในเมืองไทยมันติดอันดับโลก ใช่ไหม การคอรัปชั่นเยอะแยะไปหมด เรามีการลักขโมยต่างๆ มากมาย ถ้าเราพูดว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ก็แสดงว่าเรากำลังประจานศาสนาพุทธ เพราะว่าคุณนับถือศาสนาพุทธกันทั้งชาติแล้วคุณยังเป็นอย่างนี้อีกเหรอ คุณยังลักขโมย คุณยังคอรัปชั่น คุณยังฆ่าอย่างนี้อยู่เหรอ พูดอย่างนี้แล้วมันอายนะ มันประจานศาสนานะ เพราะไปคิดว่า ไทย คือพวกนับถือพุทธ นี่แหละมันถึงเกิดความคิดแบบนี้ขึ้นมา ความคิดแบบนี้มันเกิดขึ้นมาจากความเป็นไทยที่คับแคบ พอคิดว่า พวกที่พูดไทย นับถือพุทธนี่เป็นไทยเท่านั้น ก็ต้องสรุปว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ มันผิดมาตั้งแต่คอนเซ็ปต์พื้นฐานแล้ว เราไม่ได้มองว่าคนมลายูนี่เป็นไทย เราเรียกเป็นแขกใช่ไหม มันผิดพลาดมาตั้งแต่ตรงนี้แล้ว มันถึงเวลาที่เราต้องยอมรับว่า คนที่มีเชื้อชาติมลายู พูดภาษายาวีก็เป็นไทยเหมือนกัน มันต้องขยาย ถ้าเรายอมรับความหมายความเป็นไทยในแง่นี้ได้ ก็จะไม่พูดหรอกว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ
กรณีภาคใต้ อาตมาเป็นห่วงคนไทยมาก เพราะสิ่งทีเรียกว่าความเชื่อที่มันคับแคบ มันทำให้เราได้รัฐบาลอย่างนี้ คือรัฐบาลทักษิณเป็นภาพสะท้อนของประชาชนปัจจุบัน ที่เน้นแต่วัตถุนิยม ที่เน้นแต่เรื่องของการมองอีกฝ่ายหนึ่งว่าเป็นพวกไม่รักชาติ เป็นฝ่ายตรงข้าม อันนี้เป็นภาพสะท้อนของคนไทยทั้งหมด ซึ่งอาตมาเรียกว่ามันเป็นความรุนแรงทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง พุทธศาสนามีหลักธรรมข้อหนึ่งที่เรียกว่า สัจจานุรักษ์ ถ้าแปลตามตัวก็คือการคุ้มครองสัจจะ
หมายความว่า เมื่อเชื่ออะไรสักอย่าง เราพูดได้แต่เพียงว่านี่คือความเชื่อของเรา
แต่ไม่ใช่จะบอกว่าความเชื่อของฉันเท่านั้นที่จริง ความเชื่ออื่นนั้นเหลวไหล
ความคิดของฉันเท่านั้นที่จริง ความคิดอื่นนั้นเหลวไหล พูดอย่างนี้ไม่ได้
ซึ่งถ้าเรามีสัจจานุรักษ์แบบนี้ เราจะไม่ไปผูกขาดความจริง แล้วไปมองอุดมการณ์
ศาสนา ความคิดอื่นว่ามันแย่ มันเลว
มันมีความเชื่ออยู่ แต่ถามว่ามีจริงไหม อาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่มันไม่ใช่เป็นภัยคุกคามที่สำคัญ คือปัจจัยภายนอกไม่สำคัญเท่ากับปัจจัยภายใน สมัยรัชกาลที่ 4 ก็ใช้หมอสอนศาสนามาเทศน์สอนศาสนาคริสต์ในวัดบวรนิเวศด้วยซ้ำ คือถ้าเรามั่นใจในตัวเราเองแล้ว ปัจจัยภายนอกนี่ไม่น่ากลัวเลย ปัญหาคือว่าตอนนี้เราไม่มีความมั่นใจในตัวเอง พอเกิดเหตุวิกฤตอะไรขึ้นมาเราก็มักจะมองว่า เป็นเพราะคนอื่น มือที่สาม คือทฤษฎีมือที่สามยังใช้ได้กับเมืองไทยไปได้อีกนาน คือการพยายามที่จะมองปัจจัยไปที่ภายนอก เช่นวิกฤตเศรษฐกิจก็ว่าจอร์จ โซรอสทำ กรณีภาคใต้ก็บอกว่าไอ้นี่มีพวกแบ่งแยกดินแดนมาอยู่เบื้องหลัง คำถามก็คือว่า ทำไมมันปลุกได้ล่ะ ก็เพราะว่ามันมีความไม่พอใจอยู่แล้วใช่ไหม หรือเราเองมีไปมีส่วนทำให้เกิดเหตุยังไงบ้าง พระพุทธเจ้าบอกว่า มือนี่นะถ้าไม่มีแผลจับยาพิษก็ได้ ยาพิษมันจะเป็นอันตรายก็ต่อเมื่อมือนี่มีแผล อาตมาคิดว่า พระจำนวนไม่น้อยเวลานี้เชื่อ ซึ่งน่าเป็นห่วง แสดงว่าเขาไม่มีความมั่นใจในตัวเอง
และก็ไม่พยายามที่จะมองมาที่ตัวเองว่า ปัญหาที่แท้จริงที่เกิดจากวงการคณะสงฆ์
หรือเกิดจากวงการพุทธศาสนาคืออะไร หรืออย่างกรณีโฆษณาพลังแห่งชีวิต ก็ตื่นเต้นตกใจกันเยอะแยะ
เพราะว่าขาดความมั่นใจในตัวเอง
คือไม่ว่าเป็นใครก็ตาม เราควรจะเสียใจที่เขาตาย ในฐานะชาวพุทธเลยอาตมาคิดว่า ปฏิกิริยาแรกที่เราควรจะรู้สึกก็คือ รู้สึกเสียใจที่มีคนตาย ยังไม่ต้องถามว่าเขาเป็นใคร ค้ายา หรือว่าเป็นอาชญากรหรือไม่ เพราะในทางศาสนา ทุกชีวิตมีคุณค่า เมื่อเขาตายเราควรจะเสียใจ เพราะมนุษย์เราไม่สมควรตายเพราะการถูกฆ่า การเป็นมนุษย์เป็นเรื่องที่มีค่า
การเป็นมนุษย์ในแง่ของพุทธมันวัดกันตรงนี้ วัดกันที่คุณมีความรู้สึกอ่อนไหวต่อการสูญเสียต่อการตายหรือเปล่า แล้วคุณมีความรู้สึกมั่นคงบนพื้นฐานของความถูกต้องหรือเปล่า ไม่ใช่เอาความถูกใจหรือเอาความสะใจเป็นหลัก เวลานี้ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยอยู่ด้วยความสะใจ ไม่ได้ถามว่าถูกต้องหรือเปล่า มนุษย์เราไม่ได้อยู่ด้วยความรู้สึกนั้นอย่างเดียว มนุษย์เราต้องอยู่ด้วยมโนธรรม ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธต้องอยู่ด้วยมโนธรรม ความจริงไม่ใช่แค่ศาสนาพุทธอย่างเดียว ศาสนาอื่นก็อยู่ด้วยมโนธรรมด้วยกันทั้งนั้น ถามว่าตายแบบนั้นมันเหมาะสมไหม ถ้าเขาตายเพราะขบวนการทางยุติธรรมอันนั้นก็พอจะรับฟังได้ แต่ถ้าตายเพราะเอาไปนอนทับกันอย่างทุกข์ทรมาน ไม่ต่างจากที่ทำในอิรักนี่ อาตมาคิดว่าเป็นเรื่องที่เราที่เป็นชาวพุทธหรือเป็นคนที่มีมโนธรรมยอมรับไม่ได้ เช่นเดียวกับเรื่องฆ่าตัดตอน การตายแบบนั้นหรือว่าการใช้ความรุนแรง มันไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเลย มันเพียงแต่กำจัด คนชั่วร้าย ไปได้แค่คนหนึ่ง แต่ไม่ได้กำจัด ความชั่วร้าย เราคิดกันแต่กำจัดคนชั่ว แต่เราไม่คิดกำจัดความชั่ว และที่เราใช้ความรุนแรงในการกำจัดคนชั่ว มันกลับทำให้ความชั่วระบาดมากขึ้น สังเกตดูสิ ตำรวจที่ใช้วิธีนอกกฎหมายกับโจร ในที่สุดตำรวจคนนั้นก็จะกลายเป็นโจรเสียเอง มีคนบอกว่า เอาชนะอสูรหรือเอาชนะคนชั่ว เราต้องระวังที่เราจะไม่กลายเป็นคนชั่วเสียเอง
นี่ก็ตรงกับหลักพุทธศาสนาที่ว่า ต้องเอาชนะความชั่วด้วยความดี เอาชนะความโกรธด้วยเมตตา
เอาชนะความเท็จด้วยสัจจะ ถ้าคุณใช้หลักเอาชนะความเท็จด้วยความเท็จ ความชนะความโกรธด้วยความโกรธ
มึงบ้ามากูบ้าไป ความชั่วมันก็ระบาดไปทั่วโลก
ตอนที่อาตมาไปปาฐกถา 14 ตุลา ทางออกจากความรุนแรง มันน่าจะมีสัก 3 อย่างที่เราจะทำกันได้ ไม่ว่ารัฐบาลหรือประชาชน ก็คือว่า อันที่ 1 เปิดหน้าต่าง อันที่ 2 สร้างสะพาน อันที่ 3 สมานใจ เปิดหน้าต่างคือเปิดมุมมองเราได้ให้กว้างขึ้น ให้เราได้รู้จักคนมากขึ้น ได้ยอมรับความคิดใหม่ๆ มากขึ้น สร้างสะพาน เราพยายามเชื่อมคนให้ได้ ยกตัวอย่าง เอาคนที่เป็นแม่ เป็นเมียของคนที่ตายทั้งที่กรือเซะและที่ตากใบ มาเล่ามาเปิดใจให้ฟังว่าเขาลำบากอย่างไรบ้าง เหมือนตอนที่แม่ใหญ่ไฮมาออกรายการโทรทัศน์ แม่ใหญ่ไฮแกก็ประท้วงมาหลายครั้งแล้วในสมัชชาคนจน คนกรุงเทพก็ด่า แต่พอแม่ใหญ่ไฮมาออกรายการโทรทัศน์แล้วพูดว่าเขาทำอะไรบ้าง ทำให้เราเห็นชีวิต เห็นเลือดเนื้อ เห็นความรู้สึก เห็นความทุกข์ของเขา อามตมาเชื่อว่ามนุษย์มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจอยู่ ก็สามารถจะเข้าและช่วยแม่ใหญ่ไฮได้
ใช่ คนไทยไม่ขาดความเมตตาสงสาร มันมี แต่ว่ามันถูกปิดเอาไว้ ถูกครอบเอาไว้ในความติดยึดในอุดมการณ์ ติดยึดในความเป็นไทยแบบคับแคบ อันนี้เห็นด้วย แล้วสิ่งหนึ่งที่ขาดก็คือการเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งหมายถึงการเคารพในสิทธิของกันและกัน สิทธิของคนที่จะมีชีวิต สิทธิของการประท้วงที่ไม่ควรได้รับการตอบโต้ด้วยกระสุนปืน คนไทยนี่ยังไม่ตระหนักเรื่องสิทธิ อาตมาคิดว่ามันมีโอกาสเชื่อมโยงให้เห็นว่า สิทธิกับธรรมะไม่ใช่เรื่องที่แยกจากกัน สิทธิกับเมตตาธรรมมันเป็นสิ่งที่ไปด้วยกันได้ ถ้าเรามีเมตตาต่อผู้อื่น เราก็ควรจะช่วยพิทักษ์รักษาสิทธิของเขาด้วย เมตตาไม่ใช่การให้เงินให้ทองอย่างเดียว แต่คือการช่วยรักษาสิทธิของเขาเพื่อไม่ให้เขาถูกเอาเปรียบ ถูกรังแก อาตมาคิดว่า อาจจะใช้คำว่าความเห็นใจ เราสามารถเห็นใจคนโดยที่เราไม่จำเป็นต้องเหนือกว่าคนอื่นก็ได้ เราอาจจะต่ำกว่าด้วยซ้ำ แต่เราไม่จมอยู่กับความทุกข์ความเศร้าของเราเอง แต่เรายังสามารถมองเผื่อไปถึงคนอื่นได้ อันนี้มันต้องอาศัยจิตที่ฝึกแล้วในระดับหนึ่ง กรณีแม่ใหญ่ไฮหรือกรณีชาวมุสลิม ส่วนหนึ่งถูกครอบ คือเวลาไปประท้วง เขาจะไม่เห็นแม่ใหญ่ไฮในฐานะปัจเจก แต่เขาจะเห็นยี่ห้อ ยี่ห้อที่เป็นนามธรรม มันไม่มีชีวิต เห็นสมัชชาคนจน เห็นพวกแบ่งแยกดินแดน พวกค้ายาบ้า พวกนี้มันเป็นยี่ห้อซึ่งทำให้เรามองไม่เห็นมนุษย์ ก็เหมือนกับทหารเวลาจะยิงกัน ต้องพยายามสร้างภาพให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นพวกชั่วร้าย เอายี่ห้อมาสวมใส่มาประทับตราเสียก่อน ในแง่มนุษย์แบบพุทธนี่ ไม่ว่าใครจะดีจะชั่วก็เป็นมนุษย์อยู่แล้ว จะเป็นมุสลิมจะเป็นคริสต์ก็มนุษย์อยู่แล้ว ไม่รู้ว่ามุสลิมเขามองมนุษย์ยังไง ในแง่พุทธ ความเป็นมนุษย์มันไปพ้นจากลัทธิ อุดมการณ์ ภาษา เชื้อชาติ ในแง่เราชาวพุทธนะ เราควรจะขยายความเป็นมนุษย์ให้กว้าง กว้างยิ่งกว่าความเป็นเป็นไทย คือไม่เป็นไทยเราก็รักกันได้ พวกที่ด่ามุสลิมในเวบบอร์ดอะไรต่างๆ อาจจะเป็นพวกนักเรียนอาชีวะ ซึ่งเวลาเจอหน้ากันก็มาตีกัน ทั้งๆ ที่เป็นไทยด้วยกัน แต่ทำไมมันตีกันล่ะ คือเราอ้างความเป็นไทยเวลาเราเจออีกฝ่ายหนึ่ง แต่พอไม่มีอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว เราก็เป็นอีกฝ่ายหนึ่งของกันและกัน เราก็ตีกัน ทะเลาะกัน มันก็เป็นสมมตินั่นแหละ ที่เราไม่ควรไปยึดติด คือต้องตระหนักเสียก่อนว่า ความรุนแรงไม่อาจแก้ปัญหาได้ พระพุทธเจ้าบอกว่า เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ไม่ว่าเขาจะใช้ความรุนแรงกับเราก็ตาม ให้ตระหนักอย่างหนึ่งว่า เราไม่สามารถเอาชนะความรุนแรงด้วยความรุนแรงได้ เรื่องนี้พระพุทธเจ้าสอนไว้เยอะเลย ถ้าเราโกรธคนที่มาทำเรา ก็แสดงว่าเราโง่กว่าเขา เราชั่วกว่าเขา นี่พระพุทธเจ้าสอนเลยว่า เมื่อโจรมาเลื่อยอวัยวะน้อยใหญ่ของเรา หากเรามีจิตคิดแปรผัน เรากล่าววาจาชั่วหยาบ เราคิดจะตอบโต้ทำร้ายเขาก็เท่ากับว่าไม่ได้ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว การไถ่บาปนี่ไม่มี ก็ไม่ทำบาป และสอง พยายามทำความดีให้มากขึ้น ก็เหมือนพระพุทธเจ้าเปรียบไว้ว่า เหมือนหยดน้ำหยดหมึก ถ้าคนใส่ในแก้วนี่มันดำไหม แต่ถ้าใส่ในโองน้ำ ไอ้ความดำมันคลายไหม มันก็คลาย เพื่อที่จะทำให้บาปนั้นมีผลน้อยลง แม้มันไม่หาย แต่มันจะเจือจางไปได้ คือมันต้องเริ่มต้นตั้งแต่การไม่ไปเบียดเบียนเขาอยู่แล้ว อาตมาคิดว่า อย่างแรกที่ทำได้ง่าย แต่ทำยากก็คือว่าขอโทษ ขออภัย สำคัญมากเลย ก็เหมือนพระที่มาปลงอาบัติ พระก็มีแบบนี้เหมือนกัน ทำผิดไปแล้วก็มาปลงอาบัติ ทักษิณก็มาปลงอาบัติ หรือว่าแม่ทัพภาคก็มาปลงอาบัติ มันไม่ยากที่จะพูด แต่ว่าทิฏฐิมานะ หรือเหตุผลทางการเมืองก็แล้วแต่ ทำให้เราไม่อยาก และสอง มาตั้งสติและมาพิจารณาว่าปัญหาทั้งหมดนี่มันเกิดจากอะไร โดยที่ไม่คิดที่จะไปโทษมือที่ 3 แต่ต้องไปพิจารณาว่าเราผิดพลาดอะไรบ้าง เหมือนที่ชอบพูดกันว่า เอาวิกฤติเป็นโอกาส ต้องมองคำวิพากษ์วิจารณ์เป็นขุมทรัพย์ พระพุทธเจ้าบอกเลยว่า ต้องถือคำวิพากษ์วิจารณ์เป็นขุมทรัพย์ คนวิจารณ์เป็นผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้เรา แต่อาตมาเชื่อว่ากว่าจะถึงขั้นนั้น การที่เราจะทำใจให้ชาวพุทธพ้นจากความเป็นไทยแบบคับแคบนี่สำคัญมากเลยนะ ตอนนี้เราอยู่ในอุปาทาน อุปทานตัวใหญ่เลย ก็คือความเป็นไทยที่คับแคบ คือตอนนี้เชื้อไฟมันมีทั่วไปหมด สิ่งที่เราต้องระวังคือไม่ให้ประกายไฟมันเกิดขึ้น ตอนนี้ประกายไฟมันสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ระดับนายกรัฐมนตรีที่จะจุดประกายไฟ ระบบราชการ โดยเฉพาะในภาคใต้ ทหาร กลไกรัฐ พูดง่ายๆ กลไกรัฐพร้อมจะจุดประกายไฟ ประการที่สามคือระดับล่างคือประชาชน อาตมาคิดว่าทำอย่างไรประชาชนถึงจะไม่จุดประกายไฟให้เชื้อมันติด แต่ละคนต้องช่วยกัน เราอาจจะไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงใครได้ และเราจะเรียกร้องเพียงแค่ให้นายกรัฐมนตรีหยุดจุดไฟ เราอาจจะเรียกร้องให้กลไกรัฐหยุดจุดไฟ ก็อาจจะลำบากแต่ยังต้องทำต่อไป แต่สิ่งที่เราทำได้เลยวันนี้คือว่า เราแต่ละคนต้องไม่เป็นประกายไฟเสียเอง ประกายไฟในที่นี้ก็คือ การใช้ความโกรธ การไม่มีขันติ การไม่มีเมตตา ต้องอดทนรับฟังคนที่คิดต่างจากตัว ต้องมีความเมตตาต่อผู้คนให้มากๆ ต้องศรัทธาในความดีว่า ขันติเมตตานี่มันจะแก้ปัญหาได้ เหมือนกับที่เราเอาชนะคอมมิวนิสต์ได้ด้วยหลักการความใจกว้าง คือประชาธิปไตย และความเมตตา เราไม่น่าจะลืมบทเรียนตรงนี้ อาตมากลัวว่า ถ้าทุกคนช่วยกันจุดประกายไฟมันจะไหม้ มันจะลามทั้งประเทศเหมือนกับที่ลังกาเป็น ลังกาเนี่ยลุกไหม้เป็นไฟเพราะว่านักการเมืองพยายามเล่นกับความรู้สึกชาติ รักชาติแบบคับแคบ ทุกนักการเมืองพยายามทำตัวแบบสุดขั้ว รักชาติแบบสุดขั้ว เพื่อให้ได้คะแนนเสียง แล้วตอนนี้มันใกล้เลือกตั้ง อาตมากลัวว่านักการเมือง โดยเฉพาะคุณทักษิณเล่นกับกระแสนี้ เหมือนกับพูดในรัฐสภากรณีตากใบ ไปพูดว่าผมจะไม่ยอมเสียแผ่นดินแม้กระทั่งหนึ่งตารางนิ้ว มันเกี่ยวอะไรกับตากใบล่ะ การประท้วงสถานีตำรวจตากใบเกี่ยวอะไรกับการแบ่งแยกดินแดง เขาไม่ได้วิจารณ์ว่าคุณปล่อยให้พวกแบ่งแยกดินแดนเหิมเกริม เขาวิจารณ์ว่าคุณลำเลียงเขาไปยังไงเขาถึงตายกันมากถึงขนาดนี้ มีคนถามว่ารัฐบาลจะรับผิดชอบกับ 78 ศพไหม คุณทักษิณบอกว่าแล้วใครจะรับผิดชอบ ทหาร ตำรวจ พระ ผู้พิพากษาที่ตาย มันเกี่ยวอะไรกัน พูดอย่างนี้ไม่ได้ตอบอะไรเลย ตกลงจะรับผิดชอบหรือเปล่า จะรับผิดชอบหรือไม่รับผิดชอบก็บอกมาเลย นี่คือวิธีการที่จะตัวรอดหรือว่าใช้โวหารรักชาติเพื่อจะมาหลบซ่อนความผิดพลาดของตัวเอง หรือยิ่งกว่านั้นใช้โวหารรักชาติเพื่อที่จะมาสร้างคะแนนนิยมในช่วงอีกสองสามเดือนข้างหน้านี้อาจจะมีมากขึ้น ซึ่งน่าเป็นห่วง เพราะมันยิ่งทำให้แผ่นดินลุกเป็นไฟมากขึ้น ถ้าเราไม่ยอมตัวให้ไปเล่นเกมนี้นะ มันจะช่วยชาติได้มาก
คืออาจพูดได้ว่า การเพิกเฉยเป็นความไม่รับผิดชอบต่อธรรมะ นี่พูดได้ ไม่รับผิดชอบต่อส่วนรวมก็พูดได้
คือเป็นอุเบกขาแบบผิดๆ คนไปคิดว่าการเฉยๆ คือการอุเบกขา แต่อุเบกขาในพุทธศาสนาคือคุณต้องมีความรับผิดชอบต่อธรรมะ
อย่างเช่นลูกไปขโมยของ ครูจับได้ ลงโทษลูก สิ่งที่แม่ควรทำคือวางเฉย ปล่อยให้ครูทำโทษลูก
เพราะลูกทำไม่ถูกต้อง แม่ต้องรับผิดชอบต่อธรรมะด้วยการวางเฉย แต่ถ้ามีการละเมิดธรรม
จะวางเฉยไม่ได้ ต้องเข้าไปแก้ไขจัดการ ถ้าไม่ทำถือว่าไม่รับผิดชอบต่อธรรมะ
จะว่าบาปก็ได้ เพราะทำให้ความเป็นมนุษย์เสื่อมถอยลง |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|