|
|
|
หลังควันไฟในป่าภูหลง สัมภาษณ์ พระไพศาล วิสาโล
|
ไฟไหม้ครั้งนี้สาเหตุเกิดจากอะไร ไฟไหม้ป่าครั้งนี้แรงมาก ในรอบ ๑๒ ปีนี้ ไฟไม่เคยเข้ามาลึกหรือใกล้ๆ ขนาดนี้ ใกล้หอฉัน ใกล้กุฏิพระ ครั้งนี้ไหม้แปลงปลูกป่าของวัดซึ่งอยู่ชั้นนอก ตรงด้านทิศใต้และทิศเหนือ เรียกว่าแทบจะทุกแปลงเลย หลายปีแล้วที่ป่าไม่ได้ถูกไฟไหม้ จึงมีเชื้อไฟสะสมอยู่มาก หญ้าแห้งใบไม้แห้งสะสมกันหนาเป็นนิ้วๆ เลย พอไฟไหม้มันก็ลุกพรึ่บอย่างรวดเร็วและแรงมาก และดับได้ยากเพราะพื้นที่มันกว้างมาก บางแห่งเป็นหน้าผาขึ้นไปดับยาก การส่งน้ำขึ้นไปดับก็เป็นเรื่องยาก และใช้เวลามาก ตรงนี้ถ้าประเมินความเสียหาย มากขนาดไหน ไฟไหม้ทั้ง ๒ ครั้ง ประมาณ ๒,๐๐๐ ไร่เป็นอย่างต่ำ อาจจะถึง ๓,๐๐๐ ไร่ รวมถึงป่าชุมชนด้วย ป่าชุมชนถูกไฟไหม้ต้นเดือนนี้ก็ประมาณ ๑,๐๐๐กว่าไร่ แล้วช่วงที่ไฟไหม้วันที่ ๑๖-๑๙ นี้ก็อีกประมาณ ๑,๕๐๐ ไร่เป็นอย่างต่ำ ถ้าคิดเป็นเงินก็มหาศาล ประเมินค่าไม่ได้ ยังไม่ต้องพูดถึง ความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นลักษณะเด่นของป่าที่นี่ ก็จะเสียหายไปด้วย นี่ก็เป็นสิ่งที่ประมาณค่าไม่ได้เหมือนกัน เพราะเราไม่มีความรู้พอที่จะประเมินว่ามันมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง แต่มันก็สูญหายไปกับไฟ กว่าจะฟื้นตัวก็คงใช้เวลานาน พวกท่อประปาที่ถูกไฟไหม้ไป พรุ่งนี้มะรืนนี้ก็วางท่อใหม่ได้ แต่ป่าที่ถูกทำลายไปแล้ว มันใช้เวลา ๑๐ ปี ๒๐ ปีกว่าจะฟื้นตัวขึ้นมา แล้วก็ไม่รู้ว่าจะกลับมาเหมือนเดิมได้หรือเปล่า ป่าเป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกันรักษา แต่การรักษาไม่ใช่เรื่องง่าย ปัญหาตอนนี้เกิดจากคนเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงต้องสร้างความเข้าใจให้ผู้คน สร้างสำนึกให้คนที่อยู่รอบป่า ว่าป่ามีคุณค่าอย่างไร ปัญหาของการดับไฟตอนนี้มีอะไรบ้าง ปัญหาของการดับไฟที่เหลือตอนนี้คือ การดับไฟสุมขอน แต่ที่หนักกว่าไฟสุมขอนคือต้นไม้ยืนต้นที่แห้งตาย แล้วมีไฟลามขึ้นไปถึงยอด มันสามารถปล่อยลูกไฟ สะเก็ดไฟให้ลอยไปติดตามที่ต่างๆ ขณะเดียวกันต้นไม้เหล่านี้ ถ้ามันล้มลงเมื่อไร ก็อาจจะล้มทับเชื้อเพลิง ใบไม้แห้ง แล้วไฟก็จะลามต่อไปเรื่อย ๆ ไฟไหม้แบบนี้ใช้เวลาเป็นอาทิตย์ในการตามดับไฟสุมขอน ถ้าไม่ทำอย่างนั้นประเดี๋ยวสองสามวัน หรืออาทิตย์นึง ไฟก็มาอีกแล้ว เกิดขึ้นบ่อย ทุกวันที่เราดับไฟ เราก็เจออย่างนี้ เรื่องภัตกิจ มีการปรับเปลี่ยนไปบ้างไหมครับ ก็ไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไร พระเราก็ยังฉันก่อนเที่ยงเหมือนเดิม แต่ว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ไม่ธรรมดา เป็นช่วงที่ต้องเข้าป่าดับไฟ ได้เวลาเพลตรงไหนก็ฉันตรงนั้น พอมีแรงก็ทำงานต่อ ที่นี่เป็นป่าของเราอยู่แล้ว เป็นป่าที่เราคุ้นเคย ฉันตรงไหนก็ได้ทั้งนั้น บางทีมาฉันในป่า แม้จะเป็นป่าที่ถูกไฟไหม้ เราก็ยังรู้สึกว่าใกล้ชิดกับป่า รู้สึกผูกพันกับป่า ได้มารับรู้ความทุกข์ของเขา มันก็ทำให้เราได้เห็นและเกิดความผูกพันกับป่ามากขึ้น พื้นที่ที่เห็นว่าถูกทำลายไปเยอะขนาดนี้ เมื่อไรจะกลับมา จริงๆ ป่าฟื้นตัวเร็ว สมมติว่าเราป้องกันไฟป่าได้สัก ๕ ปี ๑๐ ปี ป่าก็จะรกทึบแน่นเหมือนเดิม แต่ต้องระวังป้องกันไม่ให้ไฟเข้า แต่อย่างที่บอกมันไม่มีอะไรแน่นอน แต่ถ้าเราป้องกันไฟได้สักสิบปีก็จะเขียว ส่วนเรื่องเมื่อไรอย่าเพิ่งไปสนใจ ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ผมเห็นหลายแปลง ปักป้าย ร่วมกันปลูกป่า แต่มาวันนี้ป่ามันหายไปกับตา ธรรมดานะ เหมือนกับการเล่นกีฬา มันก็ต้องมีแพ้ มีชนะ จะให้มีแต่ชนะเป็นไปไม่ได้ เราต้องรู้ว่าปลูกป่ามันมีความเสี่ยง และความเสี่ยงก็คือไฟ ปลูกป่าแล้วไฟไหม้เป็นเรื่องธรรมดา ต้องเผื่อใจสำหรับอุปสรรคหรือว่าปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วเราก็ไม่ได้ท้อถอย เราก็รู้ว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง เราก็ทำใหม่ปลูกใหม่ มันมาเมื่อไรเราก็ไม่ถอย ดับแล้วเราก็ปลูกใหม่ แล้วก็ทำให้ดีกว่าเดิม ป้องกันไม่ให้ไฟไหม้เกิดขึ้นอีก "มีพลั่วเปล่า" เซดพระไพศาล ผมได้ยินคำว่า ใกล้จะแล้วเสร็จ ใกล้จะควบคุมสถานการณ์ได้ ใกล้อยู่ทุกวัน ใกล้ทุกเวลา ตอนนี้ยังใช้คงนี้ได้อยู่หรือเปล่าครับ ใช้ได้ อย่างเมื่อวานอาจจะใกล้มา ๙๙.๕ วันนี้ก็ใกล้มา ๙๙.๘ จริงๆ ต้องเรียกว่าการดับไฟเสร็จทุกวัน สมัยที่หลวงพ่อพุทธทาสท่านยังมีชีวิตอยู่ คนก็ถามอยู่นั่นแหละว่าเมื่อไรโรงมหรสพทางวิญญาณจะเสร็จ เพราะว่าสร้างมาหลายปีแล้ว ลูกศิษย์คนหนึ่งมาดู เห็นว่าไม่เสร็จ ผ่านไปสองสามเดือนกลับมาเยี่ยมสวนโมกข์ใหม่ ก็ถามหลวงพ่อพุทธทาสว่าเสร็จหรือยัง ท่านก็บอกว่าเสร็จแล้ว เขาไปดูก็เห็นว่ายังไปได้ไม่ถึงไหน ก็เลยมาถามหลวงพ่อพุทธทาสว่า ยังไม่เห็นเสร็จเลย ท่านก็บอกว่า เสร็จทุกวัน พรุ่งนี้ก็เสร็จ มะรืนนี้ก็เสร็จ เสร็จทุกวันหมายความว่าอย่างไร ก็หมายความว่า ทำได้เท่าไรก็เท่านั้น ทำเต็มที่แล้วไม่ต้องมาวิตกกังวล วันรุ่งขึ้นก็มาทำใหม่ ถ้าเราเอาหลักนี้มาใช้กับการดับไฟ มันก็ดับเสร็จทุกวัน ไฟป่านั้นเผาผลาญได้ไม่นานพอหมดเชื้อมันก็ดับ แต่ไฟที่น่ากลัวกว่าไฟในป่าคือไฟในใจ แต่ไฟในใจคนไม่ค่อยมองเห็นว่าเป็นปัญหาเท่าไร เราเห็นไฟป่าเป็นปัญหามากกว่าเราก็เลยตื่นตัวกันเยอะ แต่ว่าเมื่อเราพยายามจะดับไฟป่าแล้วก็อย่าลืมดับไฟในใจเราด้วย ไฟในใจเรานี่สามารถเผาผลาญได้มากกว่าไฟป่า อาจจะเผาผลาญทั้งสังคม ทั้งประเทศชาติ รวมทั้งเผาผลาญทั้งโลกได้ ไฟในใจแยกไม่ออกจากไฟข้างนอก ถ้าเรามีไฟในใจเยอะมันก็จะนำไปสู่การทำลายป่าไม้ได้ง่าย มันไม่ใช่แค่ไฟในใจของพรานบางคนที่มาทำลายป่าด้วยการจุดไฟเผา ไฟอาจเกิดขึ้นจากผู้คนที่อยู่ในเมือง ที่ใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือย ต้องการที่จะหาความสุขมาปรนเปรอตน โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ก็สามารถทำให้เกิดการทำลายป่า ทำลายธรรมชาติได้ หลายคนอาจจะไม่ตระหนักว่าการบริโภคของตน วิถีชีวิตของตนนั้นทำลายป่าอย่างไรบ้าง ทำลายธรรมชาติอย่างไรบ้าง ในขณะที่คนในเมืองชี้หน้าประณามคนที่จุดไฟเผาป่าเพื่อล่าสัตว์หรือตัดไม้ บางทีจะต้องย้อนกลับมาดูตัวเราเองด้วย ว่ามีส่วนช่วยในการทำลายป่าด้วยหรือเปล่า อาจจะมีส่วนช่วยในการทำลายป่าในสเกลที่กว้างกว่า ใหญ่กว่าด้วยซ้ำ เช่น การใช้พลังงานและการบริโภคทรัพยากรที่ฟุ่มเฟือย เพราะฉะนั้นอาตมาคิดว่านี่เป็นการทำลายป่าที่เกิดจากไฟโลภะ หรือไฟโมหะ คือความไม่รู้ ไม่รู้ว่าวิถีชีวิตของตนนั้นส่งผลอย่างไรต่อการทำลายสิ่งแวดล้อม ต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมของโลกถูกทำลาย จนเข้าสู่ภาวะวิกฤติ เกิดภาวะโลกร้อนขึ้นมา เกิดการขาดแคลนทรัพยากร เพราะความโลภที่ไม่มีวันสิ้นสุด อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องไปจัดการ ธรรมะมีความสำคัญมากที่จะช่วยแก้ปัญหาภัยธรรมชาติ วิกฤติสิ่งแวดล้อมได้ อาตมาพูดอยู่เสมอว่า ธรรมะกับธรรมชาติเป็นเรื่องเดียวกัน ถ้าธรรมะไม่ได้ฟื้นฟูขึ้นมาในใจ ผู้คนยังมีความโลภ เราจะพัฒนาเทคโนโลยีให้ดีแค่ไหนก็ตาม ประหยัดพลังงานเพียงไหนก็ตาม กำจัดมลภาวะ มลพิษได้เร็วเพียงไหนก็ตาม วิกฤติธรรมชาติก็จะยังเกิดขึ้นต่อไป เพราะฉะนั้นเราต้องกลับมาฟื้นฟูธรรมะในใจเราด้วย อย่ามัวแต่คิดอนุรักษ์ฟื้นฟูธรรมชาติภายนอกเท่านั้น เราต้องกลับมาฟื้นฟูธรรมชาติในใจเราด้วย |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|