|
|
|
มงคลที่แท้ของชีวิต พระไพศาล วิสาโล
แบ่งปันบน
facebook Share
|
ปี 2556 ที่ผ่านมา ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์มากมายที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้คน ทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และการเมือง แต่เมื่อมองย้อนไปไกลกว่าปีที่แล้ว เหตุการณ์ที่คล้ายกับเหตุการณ์เหล่านั้นล้วนเคยเกิดขึ้นมาก่อน เพียงแต่มีตัวละครอื่นสลับสับเปลี่ยนกันเข้ามาแสดงบทบาทซ้ำๆ ในบริบท ปัจจัย และช่วงเวลาที่ต่างกัน พระไพศาล วิสาโล ชี้ให้เราเห็นวัฎจักรของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุก 10 ปี 20 ปี หรือ 30 ปีนี้ว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพียงแต่เราจะปรับตัวอย่างไรที่จะไม่ต้องแบกรับเอาความทุกข์จากการรับรู้เหตุการณ์เหล่านั้นไว้ในชีวิตประจำวัน โดยนอกจากการสนทนาครั้งนี้จะเป็นการทบทวนเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปี 2556 เพื่อเป็นบทเรียนในปี 2557 และปีต่อๆ ไปแล้ว ท่านยังกระตุ้นเตือนถึงความหมายของมงคลชีวิตที่สร้างให้เกิดขึ้นกับตนเองได้ทุกวันอีกด้วย ปี 2556 ที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์มากมายที่กระทบความรู้สึกของผู้คน รวมถึงวงการศาสนาด้วย พระอาจารย์มองว่าเราสามารถพิจารณาเหตุการณ์เหล่านี้เป็นบทเรียนอย่างไร “ข่าวใหญ่เรื่องหนึ่งซึ่งกระทบกับความรู้สึกของผู้คนในปีที่ผ่านมาก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับพระสงฆ์ ทั้งเรื่องเณรคำ หรือวิรพล สุขผล และอาจารย์มิตซูโอะ ซึ่งตอนนี้กลายเป็น นายมิตสึโอะ ชิบะฮะชิ ไปแล้ว ทั้งสองกรณีนั้นแตกต่างกัน แต่ก็สะเทือนความรู้สึกของคนที่ศรัทธาบุคคลทั้งสอง บางคนถึงกับผิดหวังในพระสงฆ์และเสื่อมศรัทธาในพุทธศาสนาไปเลย แต่ที่จริงเหตุการณ์เหล่านี้ แทนที่เราจะปล่อยให้มันมากระทบใจให้เป็นทุกข์ ควรใช้เหตุการณ์เหล่านี้มาเปิดใจของเราให้เห็นธรรมะ ให้เห็นว่าไม่ควรยึดติด ถือมั่น หรือว่าฝากใจไว้กับตัวบุคคล” “พึงตระหนักว่า ครูบาอาจารย์หรือพระที่เรานับถือนั้น สามารถผันแปรเป็นอื่นไปได้ อาจจะไม่ได้เป็นไปอย่างที่เรานึก ไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราคาดหวัง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับอดีตพระทั้งสองรูปนี้ทำให้คนมีความสะเทือนใจ เสียใจ ผิดหวัง หรือโกรธแค้นเหมือนกับถูกหลอก แต่จริงๆ แล้วเป็นเหตุการณ์ที่น่าจะเปิดใจเราให้เห็นธรรมะว่า ทุกอย่างล้วนตกอยู่ภายใต้พระไตรลักษณ์ (อนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา) พระอาจารย์ที่เรานับถือ วันดีคืนดีก็อาจจะสึกหาลาเพศไป พระบางรูป เริ่มต้นอาจจะดีแต่ปลายๆ กลับติดในลาภสักการะจนเสียผู้เสียคนไป กรณีแบบนี้น่าจะเป็นเครื่องเตือนใจเราว่าขนาดพระที่ฝึกฝนตนมานานก็ยังลุ่มหลงในลาภสักการะหรือกามสุขถึงเพียงนี้ แล้วฆราวาสอย่างเราซึ่งไม่ค่อยมีเวลาฝึกฝนพัฒนาตน ยิ่งมีโอกาสที่จะถูกกิเลสตัณหาชักพาไปในทางต่ำได้ ยิ่งต้องระมัดระวัง อย่าประมาท “ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ทุกเหตุการณ์ไม่ว่าดีหรือร้าย สามารถสอนธรรม หรือเป็นบทเรียนให้กับเราได้ทั้งนั้น อย่างน้อยก็สอนเรื่องอนิจจังให้แก่เรา รวมทั้งช่วยเตือนใจให้เราไม่ประมาท และตระหนักว่าเราจะต้องฝึกฝนพัฒนาตนอย่างจริงจัง และระแวดระวัง ควรจะต้องขอบคุณท่านเหล่านั้น ที่เปิดใจเราให้เห็นธรรมะ” “มีบ้างเพราะญาติโยมจำนวนไม่น้อยเสื่อมศรัทธาในพระสงฆ์ ทำให้ระแวงพระสงฆ์ไปหมด ในช่วงที่มีข่าวคราวเรื่องเณรคำ อาตมาไปบรรยายที่ธนาคารแห่งหนึ่ง พนักงานคนหนึ่งพอเห็นโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์การบรรยายของอาตมา ก็พูดกับเพื่อนว่า ‘ไม่รู้จะเชื่อได้หรือเปล่า’ คือเกิดความระแวงพระไปหมด ความเสื่อมศรัทธาเณรคำรูปเดียวก็ส่งผลต่อพระรูปอื่นด้วย อาตมาก็พลอยได้รับผลกระทบด้วย แต่ดีแล้วที่เขาตั้งข้อสงสัย ดีกว่าเขาศรัทธาแบบหัวปักหัวปำ “ของแบบนี้เกิดขึ้นชั่วคราว ไม่นานคนก็ลืม อย่าง 20 ปีก่อน ก็มีข่าวเรื่องอาจารย์ยันตระ หรือ วินัย ละอองสุวรรณ คนก็เสื่อมศรัทธาไปพักใหญ่ แล้วก็มาหลงศรัทธาเณรคำอีก เรื่องแบบนี้มักจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ ทุก 10-20 ปี คือ จะมีพระเด่นพระดังขึ้นมาให้คนศรัทธาถึงขั้นหลงใหลแล้วในที่สุดผู้คนก็พบความจริงว่าไม่ได้เป็นอย่างที่ตนคาดหวัง แต่พระที่บวชมานานๆ ส่วนใหญ่จะรู้สึกว่านี้เป็นเรื่องธรรมดา เพราะก่อนที่จะเกิดกรณีอาจารย์มิตซูโอะ ก็มีพระหลายรูปที่บวชมานานหลายสิบพรรษาแล้วสึกหาลาเพศไป อันนี้เป็นเรื่องปกติ แต่คนไม่ค่อยรู้ เพราะท่านไม่ได้เป็นพระดัง” “ญาติโยมไม่ควรฝากใจไว้กับตัวบุคคล แต่ควรฝากใจไว้กับพระธรรม พระพุทธเจ้าได้สอนว่าเราควรเอาธรรมะเป็นใหญ่ เรียกว่า ธรรมาธิปไตย ถ้าเราจะฝากความหวังก็ฝากไว้กับพระธรรม ศรัทธาในพระธรรม ส่วนศรัทธาในตัวบุคคลก็ให้เป็นเรื่องรอง จะศรัทธาในตัวบุคคลก็ต้องมีศรัทธาในธรรมเป็นหลัก หมายความว่า จะศรัทธาท่านหรือไม่ ก็ดูก่อนว่าท่านเหล่านั้นปฏิบัติถูกต้องตามหลักธรรมไหม ท่านตั้งมั่นในธรรมหรือเปล่า อย่าไปศรัทธาเพียงเพราะว่าพูดจาถูกใจเรา หรือเห็นว่าเป็นผู้วิเศษมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ที่จะทำให้เราร่ำรวย หรือไปเชื่อง่ายๆ ว่าเขาเป็นพระอรหันต์ ญาติโยมเองก็ต้องมีความรู้มากพอที่จะตัดสินได้ว่าพระรูปนี้สอนถูกธรรมไหม ถ้าจะเคารพนับถือก็เคารพนับถือเพราะว่าสอนถูกธรรม ไม่ใช่เพราะว่ามีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เป็นเกจิอาจารย์สร้างวัตถุมงคล หรือว่าเหมาเอาดื้อๆ ว่าเป็นพระอรหันต์ โดยที่เราก็ไม่รู้ว่าพระอรหันต์มีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง” “ทุกวันนี้ผู้คนถูกผลักให้เข้าวัดด้วยความปรารถนาที่จะร่ำรวย อันนี้เป็นกิเลสตัณหาชนิดหนึ่ง ดังนั้นจึงคาดหวังให้พระสนองกิเลสของตัว เพราะฉะนั้นวัดไหนที่มีวัตถุมงคลที่จะทำให้ตัวเองร่ำรวยได้ก็ไปวัดนั้น วัดไหนบอกว่าทำบุญแล้วรวยก็ไป อย่างบางวัดชูคำขวัญว่า รอดตาย หายป่วย ร่ำรวย มีชื่อเสียง คนก็แห่ไปหาใช่ไหม แล้วก็ติดอยู่แค่นั้น โดยที่พระเองก็ไม่คิดจะทำให้คนก้าวพ้นจากกิเลสตัณหา คือทีแรกมาวัดเพราะกิเลสตัณหาก็ไม่เป็นไร หน้าที่ของพระคือช่วยนำพาเขาให้ออกจากกิเลสตัณหาหรือทำให้กิเลสตัณหาเบาบางลง ตรงนี้วัดจำนวนมากไม่ได้ทำ ถึงจะทำชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ไม่ชอบ เพราะยังอยากจะรวย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นมากในยุคปัจจุบัน ซึ่งทำให้คนอย่างเณรคำกลายเป็นที่นิยม มองในแง่นี้ค่านิยมที่ผิด ๆ ของญาติโยมก็ทำให้มีคนอย่างเณรคำมากมาย เพื่อสนองกิเลสญาติโยม สมมุติว่าเณรคำถูกจับเข้าคุก วันหน้าก็จะมีคนอย่างเณรคำตามมาอีก” “แน่นอนการไปวัด การถวายทาน ถวายสังฆทานก็เป็นมงคลอันหนึ่งที่ทำให้เกิดความเจริญงอกงาม แต่ควรให้ทานเพื่อมุ่งประโยชน์แก่ผู้รับ เช่น อุปถัมภ์พระสงฆ์ อุปถัมภ์พระศาสนา รวมทั้งลดละความตระหนี่ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทานคือเครื่องละความตระหนี่ ถ้าเราให้ทานเพื่อลดความโลภ ความโกรธ ความหลง นั่นนับว่าเป็นมงคลอย่างยิ่ง แต่ถ้าเราให้ทานเพราะเราอยากจะได้ผลตอบแทนเข้าตัว เช่น ถวายสิบอยากได้ร้อย ถวายร้อยอยากได้ล้าน ก็แสดงว่า ทำบุญด้วยกิเลส ยังเป็นการทำบุญที่ไม่ถูกต้อง” “ขณะเดียวกันไม่ควรคิดว่าทำบุญช่วงนั้นช่วงนี้เท่านั้นถึงจะได้บุญมาก คุณจะทำช่วงเวลาไหนก็ได้ แต่แน่นอนคนเราส่วนใหญ่จะทำบุญก็ต้องอาศัยเทศกาลหรือบรรยากาศพาไป อย่างเช่นเทศกาลปีใหม่คนส่วนใหญ่มองว่าเมื่อจะเริ่มต้นปีใหม่ทั้งที ก็อยากทำสิ่งที่เป็นสิริมงคล เช่นทำบุญ แบบนี้ย่อมดีกว่าการฉลองปีใหม่ด้วยการไปเที่ยวผับเที่ยวบาร์หรือกินเหล้าฉลองกัน ในเมื่อจะฉลองปีใหม่และเริ่มต้นปีใหม่ด้วยสิ่งที่เป็นสิริมงคล คุณก็ไปวัด แต่ว่านอกจากทำบุญที่วัดแล้ว เรายังสามารถทำบุญอย่างได้ เช่น ไปเลี้ยงอาหารเด็กกำพร้า ไปจัดงานเลี้ยงให้แก่คนชรา ให้อาหารสัตว์หรือหมาจรจัด เราสามารถทำบุญกับคนหรือสัตว์ที่ตกทุกข์ได้ยากก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไปทำที่วัดที่เดียว การทำความดีเหล่านี้ช่วยให้จิตใจคุณมีความปิติอิ่มเอิบ เป็นมงคลที่เหมาะสำหรับเริ่มต้นปีใหม่” “การตั้งจิตอธิษฐานด้วยการปฏิบัติจะก่อให้เกิดสิริมงคลจริงๆ เพราะว่าทำตลอดปี ทำทุกวัน ไม่ใช่ชั่วครั้งชั่วคราว ย่อมต้องเกิดความเจริญงอกงามกับชีวิตแน่ นี้เป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง” การปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลต่อชีวิตต้องทำต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจึงจะเห็นผล แล้วสำหรับคนที่อยากเห็นผลเร็วๆ จะทำอย่างไร “อยากให้นึกถึง ๓ ข้อนี้ คือ “มองไกล ใจกว้าง วางได้” ความใจกว้างอาตมาหมายถึง เขาอาจจะถูกแล้วเราผิดก็ได้ วางได้คือรู้จักปล่อยวาง อย่าแบกเอาเรื่องการเมืองมาจนกระทั่งกินไม่ได้นอนไม่หลับ กินก็คิดนอนก็คิด การเมืองไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต เป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวหนึ่งของชีวิตเรา เรายังมีงานการที่ต้องทำ มีพ่อแม่ที่ต้องเลี้ยงดู มีลูกที่ต้องดูแล ถ้าเราหมกมุ่นกับการเมือง เราก็จะละเลยหน้าที่ที่ควรทำหรือทำได้ไม่ดี รวมทั้งกินไม่ได้นอนไม่หลับ ดังนั้นจึงควรปล่อยวางบ้าง” “สอง ไม่ว่าจะขัดแย้งกันอย่างไรขอให้ใช้สันติวิธี ทะเลาะกันอย่างอารยชน อย่าถึงขั้นลงไม้ลงมือกัน อย่าถึงขั้นด่าทอใส่ร้ายกันจนไม่เป็นผู้ไม่เป็นคน เพราะเมื่อสงครามสงบ เมื่อฝุ่นตลบ เราก็ต้องอยู่ด้วยกันที่นี่ ถ้าด่ากัน ทำร้ายกัน แล้วจะอยู่กันอย่างไร เราไปไหนไม่ได้เพราะนี่คือประเทศของเรา นี่คือบ้านของเรา เราต้องมีสติ นี่คือสิ่งที่อาตมาเรียนรู้จากความขัดแย้งในเมืองไทยในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา ในที่สุดความรุนแรง ความขัดแย้งก็ยุติ เราควรจะอยู่ด้วยกันฉันมิตร ไม่ใช่อยู่ด้วยกันอย่างกินแหนงแคลงใจกัน มองหน้ากันไม่ติดเพราะในอดีตเคยทำร้ายกันถึงขั้นจะกินเลือดกินเนื้อกัน ทั้งๆ ที่ต้นเหตุของเรื่องไม่มีอะไรนอกจากเห็นต่างกัน ควรใช้สติและสันติวิธีแก้ปัญหา สันติวิธีดีตรงที่ว่าขัดแย้งอย่างไรก็ไม่ถึงกับทำร้ายกันถึงตาย ไม่ถึงกับเลือดตกยางออก ถ้ายึดหลักสันติวิธี โดยพยายามควบคุมวาจาและกาย ไม่ต่อว่าหรือทำร้ายกันจนบาดเจ็บ หรือเจ็บแค้นพยาบาท เมื่อความขัดแย้งสงบเราก็ยังสามารถกลับมาเป็นเพื่อนกันได้” “ดังนั้นหนึ่ง หากประท้วงด้วยวิธีที่ไม่ทำร้ายร่างกายและทรัพย์สิน นั่นเป็นสันติวิธี หรือ ถ้าเป็นการทำลายทรัพย์สินในเชิงสัญลักษณ์ซึ่งไม่เสียหายอะไรก็ทำได้ สอง ไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้คน ไม่ไปข่มขู่คุกคามหรือว่าใช้กำลังให้เขารู้สึกว่าไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน นี่ถือว่าเป็นสันติวิธีอย่างต่ำนะ ถ้าทำตามหลักอหิงสาอย่างมหาตมะ คานธี แม้กระทั่งกล่าวร้าย ใส่ร้าย หรือความรุนแรงด้วยวาจาก็ไม่ทำ แม้กระทั่งความโกรธเกลียดก็ไม่มี” อย่างแรกคือทำอะไรให้ช้าลง สอง มีเวลาให้กับจิตใจตัวเองบ้าง ทุกวันนี้เวลาทั้งหมดของเราแทบจะหมดไปกับร่างกาย เรื่องการหาอาหาร การหาสิ่งอำนวยความสะดวกทางกาย การปรนเปรอ ตา หู จมูก ลิ้นกาย ด้วยสิ่งของที่ทำให้เราต้องเสียเงินมากมาย เราจึงต้องทำงานหนักมากขึ้น มีเวลาน้อยลง เพราะต้องการใช้เงินมากขึ้น ถ้าเรามีเวลาให้กับตัวเองมากขึ้น มีเวลาให้กับจิตใจตัวเองมากขึ้น ก่อนนอนนั่งสมาธิ มีเวลาปล่อยวาง ก็จะรู้สึกสงบขึ้น สาม เวลาทำอะไรถ้าเรามีสติในการดำเนินชีวิต มีสติในการทำงาน ชีวิตเราจะเย็นลง กินข้าวก็มีสติ อาบน้ำก็มีสติ ถูฟันก็มีสติ ตัวอยู่ไหน ใจอยู่นั่น จะช่วยให้เรามีจิตใจที่ผ่อนคลายได้ สี่ เสพบริโภคให้น้อยลง อันนี้รวมถึงข่าวสารด้วย ทุกวันนี้เราเสพมากเกินไป ใช้เวลาว่างที่มีหมดไปกับการเสพต่างๆ จนไม่มีเวลาว่าง เสพทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น จนกระทั่งเราไม่มีเวลาพักผ่อน ไม่มีเวลาให้กับลูก ให้ครอบครัว ให้กับพ่อแม่ ที่ว่ามานี้รวมถึงการเสพข้อมูลข่าวสาร หรือเสพเทคโนโลยี ถ้าเราเสพให้น้อยลง เราจะมีเวลามากขึ้น ความจำเป็นต้องใช้เงินก็น้อยลง เพราะการเสพสิ่งเหล่านี้ต้องใช้เงินทั้งนั้น” เมื่อมองกลับมาที่ตัวเองตามการหมุนของฟันเฟืองชีวิต ก็พบกับความสุขและความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการทำหน้าที่ในชีวิตประจำวัน บทบาทของการเป็นลูก การเป็นพนักงานบริษัท การเป็นพ่อหรือแม่ การเป็นเพื่อน ซึ่งการดำเนินชีวิตของเราก้าวไปเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อผลกระทบให้กับผู้คนรอบข้างอีกหลายสิบคน ปัจเจกบุคคลอีกหลายสิบคนนั้นจึงไปกระทบอีกเป็นร้อยคน หมื่นคน ล้านคน หากมองเห็นเช่นนี้ การใช้ชีวิตของเราเพียงคนเดียวย่อมส่งผลกระทบในกลไกการทำงานในระดับประเทศได้เหมือนกัน ดังนั้นเพียงคนไทยสามารถดำเนินชีวิตอย่างมีสติแล้วรู้เท่าทันกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบ ย่อมเกิดมงคลกับชีวิตและสามารถรับมือกับทุกปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างแน่นอน |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|