|
|
![]() |
พุทธศาสนาวิวาทะ กับ พระไพศาล วิสาโล นิตยสาร WAY
แบ่งปันบน
facebook Share
|
|||
|
||||
way ?
จากหลายเหตุการณ์ในบ้านเราเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่เพิ่งผ่านไปและกำลังเป็นประเด็น
อาทิ งดรายการวิพากษ์ศาสนา กิจกรรมทางศาสนาบางอย่าง เช่น การอุปสมบทหมู่ ธุดงค์หมู่
ถูกบรรจุไว้ในโครงการรัฐอย่างเป็นระบบ แม้แต่ ร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนา
ที่เริ่มมีการนำเสนอจากสื่อ ตอนนี้ในมุมมองคนทั่วไป องค์กรศาสนาดูเหมือนกำลังจะผนวกตัวเองเข้าไปในระบบรัฐ
หมายความว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นกึ่งรัฐศาสนาใช่หรือไม่
พระไพศาล องค์กรศาสนา โดยเฉพาะสถาบันสงฆ์ ได้ผนวกรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐมานานแล้ว จนกระทั่งพระสงฆ์เองก็มีความเข้าใจว่าท่านเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ และมองกิจการของคณะสงฆ์กับของรัฐก็เป็นอันเดียวกัน จนเกิดมีวลีว่า ราชการคณะสงฆ์ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้ ในความเห็นของอาตมา เป็นความพยายามที่จะดึงรัฐเข้ามาค้ำจุนพุทธศาสนาที่เห็นได้ชัดว่ากำลังซวดเซ โดยฝ่ายหลังนั้นหวังพึ่งทั้งเงินทุนสนับสนุนและอำนาจรัฐ แต่ในความเห็นของอาตมา เป็นการแก้ที่ไม่ถูกจุด เพราะยิ่งเท่ากับทำให้การปฏิรูปพุทธศาสนาเกิดขึ้นได้ยาก และทำให้พุทธศาสนาตลอดจนสถาบันสงฆ์ แนบแน่นกับรัฐมากขึ้น แต่เหินห่างจากการอุปถัมภ์ของประชาชนยิ่งกว่าเดิม ทั้งหมดนี้ล้วนก่อผลเสียต่อพุทธศาสนาในระยะยาว
way ? ขณะที่มีความพยายามจะออกกฎเกณฑ์เพื่อปกป้องคุ้มครององค์กรศาสนา แต่ขณะเดียวกัน พุทธศาสนาในประเทศไทยกลับไม่มีความชัดเจนในตัวเอง (เช่น กรณี พุทธ พราหมณ์ ผี, สักยันต์, พิธีทางไสยศาสตร์) หากเปรียบเทียบกันระหว่างป้องกันตัวเอง กับปฏิรูปตัวเอง สิ่งใดควรกระทำก่อน พระไพศาล พุทธศาสนาในเมืองไทยเวลานี้อยู่ในภาวะซวดเซและอ่อนแอมาก อันเป็นผลมาจากปัญหาภายในของชาวพุทธเอง รวมทั้งสถาบันสงฆ์ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ความเข้าใจและการปฏิบัติที่คลาดเคลื่อนจากหลักธรรมคำสอน ทำให้หมกมุ่นหลงใหลในวัตถุนิยม ไม่เว้นแม้กระทั่งพระสงฆ์ ซ้ำยังมีการปล่อยปละละเลยมาโดยตลอด จนเกิดเรื่องอื้อฉาวและสร้างความเสื่อมศรัทธาแก่ผู้คน ในสภาพเช่นนี้ การปฏิรูปตนเองของพุทธศาสนาไทยเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน การป้องกันตัวเอง โดยเฉพาะป้องกันจากคำวิพากษ์วิจารณ์ มีแต่จะทำให้การปฏิรูปพุทธศาสนาเกิดขึ้นได้ยาก และย่อมทำให้พุทธศาสนาเสื่อมโทรมเร็วขึ้น จะว่าไปแล้ว การมุ่งป้องกันตนเองนั้น เกิดจากการมองว่าสาเหตุที่พุทธศาสนาซวดเซในเวลานี้เกิดจากภายนอก เช่น จากศาสนาอื่น หรือจากคนไม่มีศาสนา ซึ่งเป็นการมองที่สวนทางกับความจริง เป็นการปฏิเสธที่จะยอมรับว่าสาเหตุแท้จริงนั้นเกิดจากชาวพุทธด้วยกันเองมากกว่า
way ? การใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือวิพากษ์วิจารณ์ศาสนา ถ้าเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ส่วนรวม เป็นสิ่งที่กระทำได้หรือไม่ พระไพศาล พุทธศาสนามองว่า ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่คำวิพากษ์วิจารณ์ แต่อยู่ที่ท่าทีต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างหาก พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อมีคนวิจารณ์หรือต่อว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พวกเธออย่าได้อาฆาตแค้นโทมนัสน้อยใจ เพราะถ้าพวกเธอทำเช่นนั้นจะไม่เกิดผลดีอะไรเลย...ถ้าคำตำหนินั้นเป็นจริง ก็ควรแก้ไข ถ้าไม่จริงก็ให้รับรู้ว่าไม่จริง นอกจากนั้นยังตรัสว่า ผู้โกรธตอบคนที่ด่า เลวกว่าคนด่าเสียอีก จะว่าไปแล้ว พุทธศาสนาเห็นประโยชน์ของคำวิจารณ์ ดังทรงชี้ให้มองผู้วิจารณ์ว่าเป็นผู้ชี้ขุมทรัพย์ ดังนั้นชาวพุทธจึงไม่ควรห้ามการวิพากษ์วิจารณ์ ยิ่งถ้าทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ก็ยิ่งควรสนับสนุน และสิ่งที่ควรทำมากไปกว่านั้น ก็คือ เปิดใจกว้างรับคำวิจารณ์ หากเขาพูดถูก ก็พึงแก้ไข หากพูดไม่ถูก ก็ไม่ควรโมโหโกรธเคือง
way ? เริ่มมีคนกังวลว่า หากร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนา ผ่านขึ้นมาจริงๆ ผลที่ออกมา จะกลายเป็นเหมือน ม.112 แต่เปลี่ยนตัวละครเป็นศาสนาแทนหรือไม่ พระไพศาล มีความเป็นไปได้เช่นนั้น เพราะมาจากความคิดที่คล้ายกันว่า การวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนจะทำให้สถาบันเกิดความสั่นคลอนหรือเสื่อมทรุดได้ แต่มองในมุมของพุทธศาสนา ความเสื่อมทรุดนั้นเกิดจากปัจจัยภายในเป็นหลัก หาใช่ปัจจัยภายนอกไม่ ดังมีพุทธพจน์ว่า เรือจะอับปางก็เพราะต้นหนเท่านั้น (หาใช่เพราะลมพายุไม่) นอกจากนั้นพระพุทธองค์ยังตรัสว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้พระสัทธรรมเลือนหาย (ศาสนาเสื่อม) ก็คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ไม่เคารพพระรัตนตรัย ไม่ใส่ใจในการศึกษา และไม่ฝึกฝนจิต นั่นหมายความว่า ตราบใดที่พุทธบริษัท 4 มีการศึกษาและปฏิบัติอย่างถูกต้องมั่นคง ไม่ว่าใครจะวิพากษ์วิจารณ์พุทธศาสนารุนแรงเพียงใด ก็ไม่ทำให้พุทธศาสนาซวดเซได้เลย
way ? การกำหนดโทษใน ร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา* จำเป็นหรือไม่ พระไพศาล ถ้าถามว่าจำเป็นหรือไม่ ก็ตอบว่าไม่จำเป็น เพราะกฎหมายที่มีอยู่ก็มากเกินพออยู่แล้ว จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลายปีที่ผ่านมา กฎหมายทำนองนี้มักจะไม่สามารถใช้ให้เกิดผลตามความมุ่งหมายแต่ดั้งเดิม เช่น แทนที่จะยุติเสียงวิพากษ์วิจารณ์ กลับทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์หนักขึ้นจนควบคุมไม่ได้ แทนที่จะทำให้พุทธศาสนาเข้มแข็ง กลับทำให้พุทธศาสนาอ่อนแอลง ขณะที่ปัญหาในวงการชาวพุทธและคณะสงฆ์มีแต่จะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เพราะแทนที่จะใช้ปัญญา กลับเป็นการแก้ที่มุ่งใช้อำนาจเป็นหลัก ปัญหาใหญ่ๆ ในเมืองไทยที่ผ่านมา ไม่มีปัญหาใดเลยที่ใช้อำนาจแล้วจะแก้ไขได้อย่างแท้จริง
--------------------------------------- * ร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์ และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ. ... เสนอโดย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปี 2550 "มาตรา 9 การจาบจ้วง ละเมิด ลอกเลียน บิดเบือน หรือการกระทำอื่นใดให้พระศาสดา ศาสนธรรม ศาสนศึกษา ศาสนบุคคล ศาสนสถาน ศาสนวัตถุ ศาสนสมบัติ และศาสนพิธี ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสีย มัวหมอง หรือวิปริตผิดเพี้ยน จะกระทำมิได้ มาตรา 21 ผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา 9 ในส่วนที่
เกี่ยวกับพระศาสดาและศาสนธรรม ต้องระวางโทษ มาตรา 22 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 9 ในส่วนที่เกี่ยวกับศาสนศึกษา ศาสนบุคคล ศาสนสถาน ศาสนวัตถุ ศาสนสมบัติ และศาสนพิธี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท ผู้ใดร่วมประเวณีไม่ว่าทางใดและวิธีการใดกับพระภิกษุ
สามเณร หรือแม่ชี ตลอดจนผู้ชักจูง จัดหา หรือจ้างวาน ให้มีการร่วมประเวณีดังกล่าว
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท" |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|