![]() |
|
เมื่อพบว่าคนรักป่วยด้วยโรคร้าย อาการลุกลามจนอยู่ในระยะสุดท้าย สุดวิสัยที่จะเยียวยาให้หายได้ สิ่งเดียวที่ผู้คนส่วนใหญ่นึกออก คือ ทำทุกอย่างเพื่อยืดชีวิตของเขาให้ยืนยาวที่สุด อะไรที่ช่วยให้เขาอยู่ได้นานขึ้น ก็ดิ้นรนไปหามาให้เขา และเมื่อเขาเพียบหนัก ความหวังสุดท้ายคือหมอและโรงพยาบาล วลีที่หมอได้ยินจากญาติผู้ป่วยคนแล้วคนเล่าก็คือ “ทำทุกอย่างเลยนะหมอ” ผลก็คือ ผู้ป่วยระยะสุดท้ายจำนวนไม่น้อยถูกนำมาที่ห้องไอซียู โดยมีท่อสอดใส่ทั่วร่างกาย และถูกกำกับด้วยเครื่องนานาชนิด หลายคนสิ้นชีวิตในสภาพดังกล่าว การยืดชีวิตของผู้ป่วยให้นานที่สุดเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกในความรู้สึกของลูกหลานและญาติ แต่นั่นอาจไม่ใช่ความต้องการสูงสุดในความนึกคิดของผู้ป่วยก็ได้ ความปรารถนาอันดับต้น ๆ ของผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย ก็คือ เจ็บปวดให้น้อยที่สุด อยากอยู่ใกล้คนรัก ไม่เป็นภาระของลูกหลาน อยากมีสติรู้ตัวจนสิ้นลม และอยากตายสงบ อย่างไรก็ตามบ่อยครั้งที่ความปรารถนาดังกล่าวของผู้ป่วยไม่เป็นที่รับรู้เลย สาเหตุสำคัญก็เพราะญาติมักคิดแทนผู้ป่วย หาไม่ก็เอาความต้องการของตัวเองเป็นใหญ่ ทนไม่ได้ที่จะเห็นคนรักจากไปทั้ง ๆ ที่มีโอกาสยืดชีวิตต่อไปได้ จึงตัดสินใจแทนผู้ป่วยด้วยความหวังดี ผลที่ตามมาก็คือ ผู้ป่วยนอนทุกข์ทรมานอยู่ในห้องไอซียู แม้จะมีลมหายใจยืนยาวขึ้น แต่คุณภาพชีวิตกลับถดถอย หลายคนส่งสายตาวิงวอนขอกลับบ้าน หรือขอให้ถอดท่อช่วยหายใจ แต่ลูกหลานก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากรอให้ผู้ป่วยสิ้นลมไปเอง มีกรณีมากมายที่ชี้ชัดว่า การทำทุกอย่างเพื่อยืดชีวิตผู้ป่วยนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเขาเลย มีวิธีอื่นที่ดีกว่านั้น เช่น การช่วยให้เขาสุขสบายมากที่สุด เจ็บปวดน้อยที่สุด โดยไม่เน้นการยืดชีวิตให้ยืนยาว ดังนั้นแทนที่จะระดมเทคโนโลยีนานาชนิดมาใช้กับผู้ป่วยจนอยู่ในสภาพทุกข์ทรมาน ก็ช่วยประคับประคองให้ เขาได้ทำสิ่งที่อยากทำมากที่สุดในวาระสุดท้าย ขณะเดียวกันแทนที่จะมุ่งแทรกแซงร่างกายของเขาด้วยวิธีการที่รุนแรง ก็หันมาดูแลจิตใจของเขาควบคู่กับการลดความทุกข์ทรมานทางกาย กล่าวอีกนัยหนึ่ง ช่วยประคองคุณภาพชีวิตของเขาให้อยู่ในสภาพดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ วิธีการหลังนั้นให้ทางเลือกแก่ผู้ป่วย แทนที่จะอยู่ห้องไอซียูจนสิ้นลม ก็อาจกลับมาอยู่บ้าน หรืออยู่โรงพยาบาลก็ได้ ในหลายประเทศมีการสร้างสถานดูแลผู้ป่วยระยะท้าย (hospice) ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างบ้านกับโรงพยาบาล แม้ใช้เทคโนโลยีไม่มาก ทุนรอนก็น้อยกว่า แต่ปรากฏว่าผู้ป่วยที่เลือกวิธีการหลังได้รับผลดีอย่างเห็นได้ชัด ในสหรัฐอเมริกามีการวิจัยพบว่า ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายที่อยู่ได้ด้วยเครื่องช่วยหายใจ เครื่องกระตุ้นหัวใจ ถูกปั๊มหัวใจ หรืออยู่ในห้องไอซียูนั้น คุณภาพชีวิตของเขาในอาทิตย์สุดท้ายย่ำแย่กว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือด้วยวิธีการดังกล่าวเลย ยิ่งกว่านั้นยังพบว่า ผู้ป่วยที่เลือกมาอยู่ในสถานดูแลระยะท้าย มีความทุกข์ทรมานน้อยกว่า ช่วยตัวเองได้มากกว่า สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นดีกว่าและยืนยาวกว่า ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ การวิจัยในผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะท้ายจำนวน ๑๕๑ คนที่โรงพยาบาลแมสสาชูเสทได้จัดทำขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๓ พบว่า ผู้ป่วยที่เลิกรับเคมีบำบัด (คือไม่คิดยื้อชีวิตให้ยืนยาวขึ้น) แล้วหันมาใช้วิธีแบบประคับประคองในสถานดูแลระยะท้าย นอกจากจะมีความทุกข์ทรมานน้อยกว่าผู้ป่วยที่ใช้เคมีบำบัดแล้ว ยังกลับมีชีวิตยืนยาวกว่าคนกลุ่มหลังถึงร้อยละ ๒๕ ด้วย ในการดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะระยะสุดท้าย เราจะคำนึงแต่การเยียวยาทางกายหาได้ไม่ การดูแลจิตใจก็สำคัญอย่างยิ่ง การยื้ออวัยวะต่าง ๆ ให้อยู่นานขึ้น ยืดลมหายใจให้ยืนยาวขึ้น ไม่ควรเป็นจุดหมายสำคัญของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย สิ่งสำคัญกว่าก็คือการช่วยให้เขาสุขสบายทั้งกายและใจ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ไม่พึงคำนึงถึงแต่ปริมาณหรือตัวเลขของสัญญาณชีพ แต่ควรให้ความสำคัญแก่คุณภาพชีวิตของเขาด้วย ใช่หรือไม่ว่าประการหลังคือสิ่งดีที่สุดที่เราควรมอบให้แก่คนรักก่อนที่เขาจะสิ้นลม |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|
![]() บทความ โดย Phra Paisal Visalo อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International. อยู่บนพื้นฐานของงานที่ http://www.visalo.org/article/secret255711.htm. |