![]() |
บางมุมของหลวงพ่อคำเขียน แสดงธรรมก่อนฉันเช้า วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๗ ณ วัดป่าสุคะโต
|
หลวงพ่อคำเขียนเคยพูดว่า ซีกหนึ่งของท่านก็คือ การรักษาธรรมชาติ เพราะท่านรักธรรมชาติ รักป่าเขา ลำห้วยลำธาร ซีกนี้ของท่านพาท่านไปสู่การอนุรักษ์ป่า ปลูกป่า รวมทั้งริเริ่มจัดทำธรรมยาตราซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ ถึงปีนี้ก็จะเป็นปีที่ ๑๕ แล้ว ปีนี้เราจะจัดโดยใช้ชื่อว่า “ตอบแทนครู บูชาคุณ” ซึ่งหมายถึง หลวงพ่อนั่นเอง ตอนนั้นพวกเราคิดว่าหลวงพ่อยังมีชีวิตอยู่จนถึงธรรมยาตรา ก็เลยตั้งหัวข้อนี้ขึ้นมาเป็นอาจาริยบูชา อีกซีกหนึ่งคือการสอนธรรมะ สอนกรรมฐาน ซีกนี้ท่านก็ได้ทำมาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ท่านสอนเราแม้กระทั่งในยามป่วย และยามละสังขาร แต่ยังมีอีกมุมหนึ่ง จะเรียกว่าซีกหนึ่งก็ไม่รู้จะถูกหรือเปล่า เรียกว่ามีอีกมุมหนึ่งของท่านก็คือการสงเคราะห์ชาวบ้าน พัฒนาชุมชน นอกเหนือเรื่องธรรมชาติและธรรมะแล้ว นี้เป็นอีกเรื่องที่หลวงพ่อใส่ใจไม่น้อยเลย งานด้านนี้ของท่านมีพื้นที่หลักคือที่ท่ามะไฟหวาน เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าท่านไปจำพรรษาที่ท่ามะไฟหวานตั้งแต่ปี ๒๕๒๐ ช่วงที่อยู่ที่นั่นก็ช่วยสงเคราะห์ชาวบ้านมาโดยตลอด นอกจากเป็นนักอนุรักษ์และอาจารย์กรรมฐานแล้ว ท่านยังเป็นที่รู้จักในฐานะของพระนักพัฒนา งานด้านนี้เป็นเหตุให้ท่านได้มีโอกาสรู้จักพระที่ทำงานพัฒนาชุมชนอยู่หลายรูป ประมาณปี ๒๕๓๓ มีการประชุมสัมมนาพระนักพัฒนาทั่วประเทศ ทั้งอีสาน เหนือ กลาง และใต้ แต่ส่วนใหญ่มาจากภาคอีสาน การประชุมครั้งนั้นทำให้เกิดกลุ่มเสขิยธรรมขึ้น กลุ่มเสขิยธรรมเป็นกลุ่มของพระนักพัฒนา ที่มีบทบาทเด่น หลวงพ่อประจักษ์ซึ่งมีชื่อเสียงเมื่อ ๒๐ ปีก่อน ก็อยู่ในกลุ่มนี้ด้วยกลุ่มเสขิยธรรมนี้มีหลวงพ่อนานเป็นประธาน หลวงพ่อคำเขียนเป็นรองประธาน หลวงพ่อนานเป็นพระมีชื่อมาก ในด้านการพัฒนาชุมชนที่จังหวัดสุรินทร์ จุดเด่นของหลวงพ่อในกลุ่มเสขิยธรรม ก็คือการชี้ชวนให้พระนักพัฒนาสนใจเรื่องกรรมฐาน ความสงบเย็นของท่านทำให้พระหลายรูปตระหนักว่า กรรมฐานเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพระที่ทำงานด้านชุมชนควรจะมี ตอนหลัง ๆ ก็มีพระหลายรูปนัดกันมาเข้ากรรมฐานที่วัดป่าสุคะโตติดต่อกันหลายปี เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างมิติด้านจิตใจ ประมาณปี ๒๕๓๙ มีเหตุการณ์หนึ่งที่น่าสนใจ พระนักพัฒนาได้รับนิมนต์ไปดูงานที่ประเทศฟิลิปปินส์ หลวงพ่อก็ไปด้วย ตอนนั้นท่านอายุ ๖๐ ปี พอดี เป็นครั้งแรกที่ท่านได้เดินทางไปกับหมู่พระที่ท่านคุ้นเคย มีทั้งที่เป็นภันเตคือพรรษามากกว่า และพระที่มีอาวุโสน้อยกว่า เป็นครั้งเดียวและครั้งสุดท้ายที่ท่านไปต่างประเทศในลักษณะนี้ คือไปกับหมู่พระ และมีญาติโยมอุปัฏฐากไปด้วย ทั้งคณะประมาณ ๒๕ คน มีพระประมาณ ๒๐ รูป วัตถุประสงค์หลักก็เพื่อไปดูงานของนักบวชที่นั่น ว่าเขาทำงานประสานศาสนาเข้ากับชุมชนอย่างไรบ้าง เพราะที่นั่นบาทหลวงหลายคนทำงานแข็งขันมาก พวกเราไปดูงานกันอย่างจริงจัง มีช่วงหนึ่งถึงกับไปนอนในสลัมเลย อาตมากับหลวงพ่อ และพระครูจากจังหวัดอุบลราชธานีอีก ๒ รูป ซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่ทั้งนั้น ได้เข้าไปสัมผัสกับชาวบ้านที่ยากจน ไปนอนในบ้านของเขา ซึ่งเป็นบ้านเล็ก ๆ แต่คงดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ ประสบการณ์แบบนี้หลวงพ่อชอบเพราะไม่ค่อยได้เจอและไม่มีอีกเลยหลังจากนั้น ถึงแม้ต่อมาท่านมีโอกาสไปทัศนศึกษาที่อินเดียบ้าง ภูฐานบ้าง แต่ไปกับโยมเป็นส่วนใหญ่ มีพระเป็นส่วนน้อย การไปฟิลิปปินส์ครั้งนั้นท่านไปกับพระที่คุ้นเคย ไปรับฟังประสบการณ์และแลกเปลี่ยนกับบาทหลวงที่ทำงานด้านพัฒนา สิ่งหนึ่งที่ท่านสนใจก็คือ การที่นักบวชเป็นแกนนำในการรวมกลุ่มชาวบ้านเป็นกลุ่ม ๆ โดยมีงานหลักงานหนึ่งคือศึกษาพระคัมภีร์ และสนทนาธรรมกับบาทหลวง และขณะเดียวกันชาวบ้านกลุ่มนี้ก็เป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาหมู่บ้าน เรียกว่าประสานธรรมกับโลกเข้าด้วยกัน ศึกษาธรรมแต่ไม่ทิ้งโลก โดยที่พระก็ไม่ได้เป็นผู้นำโดด ๆ แต่ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการนำหรือเป็นแกนในการพัฒนาด้วย หลวงพ่อคำเขียนเห็นแล้วก็ชอบ ท่านว่าน่าสนใจ อยากริเริ่มแบบนี้ที่ท่ามะไฟหวานบ้าง เพราะว่าการพัฒนาในเวลานั้นพระเป็นตัวหลัก ชาวบ้านเป็นตัวรอง อะไร ๆ ก็ให้พระชี้นำ ชาวบ้านแค่ทำตาม หลวงพ่ออยากให้ชาวบ้านมาเป็นตัวหลักในเรื่องนี้บ้าง และไม่ได้ทำแต่เรื่องการพัฒนา แต่มีการศึกษาธรรมะ มีการปฏิบัติธรรมด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อกลับมาเมืองไทยแล้ว ท่านก็ไม่สามารถทำอย่างที่คิดได้ เพราะปี ๒๕๔๐ ท่านก็ได้รับนิมนต์ให้ไปบรรยายที่อเมริกา ไปกัน ๒ รูปกับอาตมา แล้วหลังจากนั้นก็มีงานบรรยาย งานสอนกรรมฐานติดตามมาอีกมากมาย ขณะที่วัดภูเขาทองก็หาพระมาช่วยงานท่านไม่ได้ งานพัฒนาชุมชนจึงไม่ได้ทำจริงจัง แต่ว่าประสบการณ์ครั้งนั้นท่านก็ชอบ เพราะว่าได้ไปพบเห็นหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่ค่อยได้พบในเมืองไทย รวมทั้งการได้เสวนาวิสาสะกับหมู่มิตรที่เป็นพระด้วยกัน อาตมาได้มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศกับหลวงพ่อหลายครั้ง ปี ๒๕๓๔ ไปอินเดีย ปี ๒๕๓๖ ไปบาหลี เป็นคณะเล็ก ๆ คราวที่ไปอินเดียก็มีพระ ๒ โยม ๒ คือรสนา โตสิตระกูล กับ โอภาส เชฏฐากุล หรือตู่ ซึ่งมาเป็นผู้ประสานงานการจัดงานปลงสรีระหลวงพ่อในช่วงนี้ ครั้งนั้นหลวงพ่อชอบมากเพราะไปกันอย่างสบาย ๆ เป็นกลุ่มเล็ก ๆ ไม่มีพิธีรีตองมาก และมีการผจญภัยพอสมควร ใช้พาหนะทุกอย่าง รวมทั้งรถไฟด้วย รถไฟอินเดียนั้นมีชื่อมากอยู่แล้วในเรื่องความวุ่นวาย ได้เจออะไรหลายอย่างระหว่างนั่งรถไฟในอินเดีย สนุกกันมาก แต่ตอนนั้นก็ไม่สนุกหรอกนะ เพราะว่าต้องบู๊กับแขกเป็นระยะ ๆ หลวงพ่อเป็นพระที่น่ารัก ท่านเป็นหัวหน้าคณะก็จริงแต่ว่าท่านปล่อยให้พวกเราจัดการเองหมด จะทำอะไรก็ขอให้บอกท่านแล้วกัน ท่านยินดีทำตาม ไม่มีการเรียกร้อง ไม่จู้จี้หรือบ่นอะไร ทั้งที่เราพาท่านไปลำบาก ท่านก็ให้สิทธิพิเศษแก่พวกเราในการจัดการ ใครที่เคยไปต่างประเทศกับหลวงพ่อจะรู้เลยว่าไปกับท่านสบาย คือว่าท่านไว้วางใจพวกเรา เราจะพาท่านไปไหนท่านก็ยินดี ท่านปล่อยให้เราจัดการอย่างเต็มที่ ไม่แทรกแซงการตัดสินใจของเราเลย เพียงแต่บางครั้งท่านก็เห็นใจแขก อยากให้เราเพลา ๆ กับแขกบ้าง มีคราวหนึ่งพวกเรานั่งรถสามล้อ ไปมหาวิทยาลัยพาราณสี ตกลงกับสารถีว่าค่ารถคันละ ๑๐ รูปี เราก็นั่งคันละ ๒ คน พอไปถึงที่หมายแขกก็บอกว่าคนละ๑๐ รูปี ไม่ใช่คันละ ๑๐ รูปี พวกเราก็ไม่ยอม จะมาเล่นตลกกับเราประหนึ่งว่าเราเป็นหมูสยามได้ไง รสนากับตู่ให้เขา ๒๐ รูปี สำหรับรถสามล้อ ๒ คัน เขาไม่ยอม เราก็เลยเดินไป ไม่สนใจเขา เขาก็ขับรถตาม รบเร้าจะเอาเงินให้ได้ หลวงพ่อเห็นแล้วก็สงสารเขา บอกว่าให้เงินเขาไปเถอะ แต่รสนา ตู่ และอาตมาด้วย เห็นว่าเรื่องนี้ไม่ควรยอมเขา จะมาโกงเราไม่ได้ แต่หลวงพ่อก็แนะว่าให้เรายอมเขาเถิด กรณีนี้เป็นกรณีพิเศษ ปกติแล้วท่านจะปล่อยให้เราจัดการกันเอง จะพาท่านไปไหน จะให้ท่านรอนานแค่ไหน ท่านก็ไม่ว่า แม้แต่การเปลี่ยนเส้นทางอย่างกะทันหัน เช่น ตอนที่เดินทางไปเชตวัน พอเรารู้ว่าแขกหลอกเราเกี่ยวกับตั๋วเครื่องบิน เราตัดสินใจให้โชเฟอร์ขับรถกลับไปพาราณสีเพื่อไปต่อว่าเขา รวมทั้งเอาเงินคืน เพราะเห็นว่าเรื่องนี้ปล่อยไว้ไม่ได้ ต้องสั่งสอนเขา ไม่เช่นนั้นเขาจะได้ใจ ท่านก็ไม่ว่าอะไร พูดถึงการไปเมืองนอกกับหลวงพ่อ มีเรื่องน่าเล่าอีกมากมาย แต่ขอพูดเพียงเท่านี้ก่อน เพราะได้เวลาฉันแล้ว |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|