![]() |
|
ก่อนที่เราจะมองอนาคตผ่านฐานคิดและชีวิตของท่านพุทธทาสภิกขุ
ควรได้ย้อนกลับไปดูว่าท่านพุทธทาสภิกขุมองอนาคตอย่างไรตอนที่ท่านเริ่มตั้งสวนโมกขพลาราม
เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๔๗๕ เวลานั้นพุทธศาสนาดำเนินมาใกล้ถึงยุคกึ่งพุทธกาลแล้ว
ห่างกันเพียง ๒๕ ปีเท่านั้น ในชาวพุทธจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าเมื่อพุทธศาสนายุกาลผ่านไปได้
๕๐๐๐ ปีก็จะสิ้นอายุขัย ยุคกึ่งพุทธกาลจึงเป็นเครื่องเตือนใจถึงความเสื่อมถอยของพุทธศาสนาและกลียุคที่จะรุนแรงมากขึ้น
ความเชื่อดังกล่าวดูเหมือนจะมีอิทธิพลต่อความคิดของท่านพุทธทาสภิกขุในเวลานั้นไม่มากก็น้อย
คือมองเห็นว่าความเสื่อมทางศีลธรรมจะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ และความทุกข์จะแผ่ซ่านไปทั่ว
ทัศนะดังกล่าวยังปรากฏให้เห็นจากปาฐกถาธรรมของท่านแม้ในระยะหลัง อาทิ ปาฐกถาธรรมเรื่อง
โลกวิปริต ซึ่งแสดงในปี ๒๕๑๙ มีบางตอนกล่าวว่า เราเกิดมาในโลกที่วิปริต
กำลังวิปริตอย่างยิ่ง และแสนจะวิปริต คือเต็มไปด้วยวิกฤตการณ์และความทุกข์
๑
แต่ท่านพุทธทาสภิกขุไม่ได้มองโลกในแง่ร้ายอย่างเดียว ท่านมองว่าความทุกข์นั้นมีประโยชน์ในแง่ที่กระตุ้นให้ผู้คนขวนขวายหาหนทางดับทุกข์และเกิดปัญญาขึ้นมา ๒ ในทำนองเดียวกันความตกต่ำเสื่อมโทรมหรือวิกฤตการณ์ในทางศีลธรรมก็มีประโยชน์ตรงที่ช่วยกระตุ้นเร่งเร้าให้ผู้คนช่วยกันฟื้นฟูศีลธรรมเพื่อมาทัดทานกับสภาพที่ตกต่ำ แม้เวลานั้นพระหนุ่มวัย ๒๖ อย่างท่านอาจมิได้รู้สึกว่าตน โชคดีที่ได้มาเกิดในยุคที่พุทธศาสนากำลังเสื่อมลง แต่ท่านก็หาได้รู้สึกท้อแท้หมดหวังไม่ ตรงกันข้ามกลับมีความมุ่งมั่นที่จะ ช่วยกันส่งเสริมความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในยุคซึ่งเราสมมติกันว่าเป็นกึ่งพุทธกาล ๓ นี้คือจุดเริ่มต้นของสวนโมกขพลาราม ท่านพุทธทาสภิกขุมองว่าทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย การที่พุทธศาสนาจะเสื่อมลงไปนั้นก็เพราะมีเหตุปัจจัย ขณะเดียวกันท่านก็เชื่อว่าเหตุปัจจัยเหล่านั้น บางส่วนก็อยู่ในวิสัยที่มนุษย์หรือคนเล็กๆ คนหนึ่งสามารถที่จะทัดทาน แปรเปลี่ยนหรือบรรเทาลงได้ อย่างไรก็ตามท่านตระหนักดีว่าท่านเองเป็นพระชั้นผู้น้อยที่มีกำลังไม่มาก จึงเริ่มต้นที่จุดเล็ก ๆ ด้วยการสร้างสวนโมกข์ให้เป็นสถานที่ส่งเสริมฟื้นฟูการปฏิบัติธรรมอย่างที่เคยทำในสมัยพุทธกาล โดยเน้นชีวิตที่เรียบง่าย อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ และไม่แยกระหว่างปริยัติกับปฏิบัติ โดยหวังว่าการกระทำเช่นนั้น อาจเป็นเครื่องสะดุดตาสะกิดใจ ให้เพื่อนพุทธบริษัทเกิดสนใจในการส่งเสริมการปฏิบัติธรรม หรือรักการปฏิบัติด้วยตนเองขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย ในตอนนั้นท่านคิดเพียงว่า เราทำตนเป็นเพียงผู้ปลุกเร้าความสนใจ ก็นับว่าได้บุญกุศลเหลือหลายแล้ว ๔ จะเห็นได้ว่าท่านพุทธทาสภิกขุมิได้คิดว่าท่านเป็นบุคคลสำคัญหรือมหาบุรุษที่เกิดมาเพื่อทำภารกิจทางประวัติศาสตร์ เช่น เปลี่ยนแปลงโลก หรือพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน ท่านมีสำนึกอย่างชาวพุทธธรรมดาคนหนึ่งซึ่งตระหนักว่าตนมีหน้าที่ต่อพระศาสนา อย่างไรก็ตามในฐานะปัจเจกบุคคล ท่านเชื่อว่าถ้าเรามีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวแล้ว ก็สามารถทำสิ่งที่ยากได้ โดยเฉพาะการบรรลุถึงอุดมคติของชาวพุทธ ในจดหมายที่ท่านเขียนถึงนายธรรมทาส พานิช ผู้น้อง ก่อนจะทิ้งชีวิตที่สะดวกสบายในกรุงเทพ ฯ และกลับไปยังบ้านเกิดเพื่อสร้างสวนโมกข์ ท่านได้ประกาศความมุ่งมั่นว่า เราเดินตามโลกตั้งแต่นาทีที่เกิดมา จนถึงนาทีที่มีความรู้สึกตอนนี้ ต่อนี้ไปเราจะไม่เดินตามโลก และลาโลกไปค้นหาสิ่งที่บริสุทธิ์ ตามรอยพระอริยะที่ค้นแล้วจนพบ...ถึงแม้ว่าเราะได้เกิดอีกตั้งแสนชาติก็ดี บัดนี้เราจะไม่เดินตามหลังโลกอีกต่อไป จะอาศัยโลกสักแต่กาย ส่วนใจเราจะทำให้เป็นอิสระจากโลกอย่างถึงที่สุด เพื่อเราจะได้พบความบริสุทธิ์ในขณะนั้น ๕ แล้วท่านก็เริ่มต้นก่อร่างสร้างสวนโมกข์โดยเริ่มต้นจากศูนย์ คือไปเช่าที่วัดร้าง โดยมีท่านพำนักแต่ผู้เดียว แต่ด้วยความเพียรอย่างยิ่งยวด และการใช้สติปัญญาอย่างถึงที่สุด โดยมุ่งที่จะทำสิ่งที่ดีที่สุด ทั้ง ๆ ที่ไม่มีวาสนาบารมีอะไรเลย แต่แล้วผลงานของท่านก็สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนให้แก่วงการพระศาสนา และก่อให้เกิดความตื่นตัวในหมู่ชาวพุทธจำนวนไม่น้อย มองในแง่นี้จะเห็นได้ว่าท่านพุทธทาสภิกขุมองอนาคตโดยไม่ตกอยู่ในภาวะจำยอม หากท่านมองอนาคตที่ยากลำบากว่าเป็นเรื่องท้าทาย และปลุกเร้าให้ต้องระดมความเพียรมากขึ้น จนในที่สุดก็มองเห็นว่าเป็นความโชคดีด้วยซ้ำที่เกิดมาเกิดในยุคสมัยเช่นนี้ ท่านพุทธทาสภิกขุมองว่าโลกนี้จะดำเนินไปได้ก็ด้วยธรรม ท่านมองโดยอาศัยแว่นของศาสนาหรือธรรมะอย่างชัดเจน จึงเห็นว่าธรรมะเท่านั้นที่จะค้ำจุนโลกได้ ไม่ใช่ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ หรือประชาธิปไตย แม้ว่าตอนที่เริ่มสร้างสวนโมกข์ใหม่ๆ ท่านดูจะมีศรัทธาในประชาธิปไตยอยู่ไม่น้อย ถึงกับบันทึกไว้ว่า การที่สวนโมกข์สร้างปีเดียวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น เป็นนิมิตแห่งการเปลี่ยนยุคใหม่ เพื่อการแก้ไขสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้นเท่าที่เราจะพึงทำได้ ๖ ในเมื่อธรรมคือสิ่งที่จะยังโลกให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า ถ้าโลกจะเสื่อมก็เพราะธรรมะนั้นเสื่อมถอยลงไป เพราะฉะนั้นท่านถือว่าภารกิจของท่านคือการฟื้นฟูธรรมะขึ้นมาโดยพยายามทำสวนโมกข์ให้เป็นแบบอย่าง ท่านพุทธทาสภิกขุมีหลักการอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ ท่านเชื่อว่าการที่เราจะพุ่งไปข้างหน้าได้อย่างมีพลัง จำต้องถอยกลับมาก่อน ดังนั้นเมื่อท่านตั้งใจที่จะขับเคลื่อนธรรมะหรือพระศาสนาไปข้างหน้า ท่านจึงถอยกลับไปที่การประพฤติปฏิบัติสมัยพุทธกาล ท่านสนใจค้นคว้าว่าพระภิกษุสงฆ์สมัยพุทธกาล มีชีวิตความเป็นอยู่ มีการศึกษาและปฏิบัติกันอย่างไร จนเกิดแบบแผนความเป็นอยู่ในสวนโมกข์ที่เรียกว่า ฉันข้าวจานแมว อาบน้ำในคู นอนกุฏิเล้าหมู ฟังยุงร้องเพลง ๗ ขณะเดียวกันในด้านการศึกษาและปฏิบัติธรรม ท่านก็ถอยกลับไปที่พระไตรปิฎกในฐานะแหล่งที่มาสำหรับการเข้าถึงแก่นแท้ของพุทธศาสนา โดยถือว่าคัมภีร์อรรถกถามีความสำคัญรองลงมา นับว่าสวนทางกับแนวทางปริยัติศึกษาในเวลานั้นซึ่งสืบทอดกันมามาหลายศตวรรษตามแบบแผนที่มาจากลังกาทวีป ท่านพุทธทาสภิกขุศึกษาพระไตรปิฎกอย่างแตกฉาน จนถือได้ว่าพระไตรปิฎกคือครูที่สำคัญที่สุดของท่านทั้งในทางปริยัติและปฏิบัติ ซึ่งต่างจากครูบาอาจารย์ท่านอื่นๆ ทั้งก่อนหน้านั้นและร่วมสมัยเดียวกับท่านที่มีครูเป็นตัวบุคคล ดูเหมือนว่าครูที่มีความสำคัญที่สุดรองลงมาจากพระไตรปิฎก ในทัศนะของท่านพุทธทาสภิกขุ ก็คือ อาจารย์คลำ หมายถึงการปฏิบัติด้วยตนเองอย่างลองผิดลองถูก จนรู้ว่าอะไรควรไม่ควร ท่านได้ศึกษาปฏิบัติด้วยการทดลองทำหลายวิธี อาทิ การฉันผักอย่างเดียว หรือฉันแต่ของหวาน ไม่ฉันของคาว การอดนอน รวมทั้งการนั่งให้ยุงกัดนานเป็นชั่วโมง ประสบการณ์เหล่านี้ส่วนหนึ่งท่านได้บันทึกไว้ในสมุดส่วนตัว ซึ่งต่อมาได้ตีพิมพ์ในชื่อ อนุทินปฏิบัติธรรม หรือ บันทึกรายวันขณะฝึกฝนตนอย่างเข้มข้นในวัยหนุ่ม นอกจากการถอยกลับไปที่แบบแผนสมัยพุทธกาลและพระไตรปิฎกแล้ว ท่านพุทธทาสภิกขุยังถอยกลับไปตั้งหลักที่บ้านเกิดคืออำเภอไชยา สุราษฎร์ธานี แทนที่จะอยู่กรุงเทพ ฯ ต่อไป ทั้ง ๆ ที่ในสายตาของคนทั่วไป กรุงเทพ ฯ คือศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งการพระศาสนา แต่แล้วทุกคนก็ได้ประจักษ์ว่า การที่ท่านถอยกลับมาที่บ้านเกิด และสร้างสวนโมกข์ขึ้นที่นั่น สามารถก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปถึงกรุงเทพ ฯ ได้ ประการสุดท้ายคือท่านพุทธทาสภิกขุได้ถอยกลับมาเริ่มต้นที่จิตใจของตนเอง ท่านให้ความสำคัญอย่างมากในการศึกษาและพัฒนาจิตใจของตนเอง เพื่อเอาชนะกิเลส ตัณหา อวิชชา ทั้งนี้เพราะท่านเห็นว่าจิตใจนั้นเป็นต้นตอของทุกสิ่งทุกอย่าง ท่านพยายามเรียนรู้จิตใจของตนเอง และพยายามฝึกฝนขัดเกลาตนอย่างจริงจังชนิดที่ อาศัยโลกสักแต่กาย ส่วนใจเราจะทำให้เป็นอิสระจากโลกอย่างถึงที่สุด กล่าวได้ว่าสำหรับท่านแล้ว จิตใจเป็นเป็นสมรภูมิสำคัญที่สุดสำหรับการต่อสู้เพื่อสร้างพื้นฐานให้แก่การฟื้นฟูพระศาสนา และท่านก็ได้พิสูจน์แล้วว่า เมื่อถอยกลับไปฝึกฝนถึงต้นตอคือจิตใจ จนกิเลสเบาบาง ความเห็นแก่ตัวลดน้อยลง และมีปัญญาถึงพร้อมแล้ว ย่อมสามารถสร้างสรรค์สิ่งดีงาม และขับเคลื่อนโลกไปข้างหน้าอย่างสอดคล้องกับหลักธรรมได้ จะว่าไปแล้วนี้ก็ไม่ต่างจากการยิงธนู ลูกศรจะพุ่งไปข้างหน้าได้ต่อเมื่อน้าวสายธนูมาข้างหลังให้มากที่สุด ยิ่งน้าวมาข้างหลังได้มากเท่าไร ลูกธนูก็จะพุ่งไปข้างหน้าได้ไกลมากเท่านั้น บทเรียนจากท่านพุทธทาสภิกขุก็คือ ในการมองอนาคตและการขับเคลื่อนไปข้างหน้า เราจำต้อมองกลับไปยังอดีตและถอยกลับไปยังต้นตอหรือรากเหง้าของตนเอง โดยเฉพาะการกลับไปที่ตัวเอง เพื่อฝึกฝนขัดเกลาตนให้ถึงพร้อมสำหรับภารกิจข้างหน้า น่าสังเกตว่าทั้ง ๆ ที่ท่านพุทธทาสภิกขุสามารถขับเคลื่อนการพระศาสนาของไทยไปข้างหน้าได้อย่างยากที่คน ๆ หนึ่งจะทำได้ แต่ท่านให้ความสำคัญกับปัจจุบันยิ่งกว่าที่จะสนใจอนาคต เมื่อบุกเบิกสวนโมกข์ใหม่ ๆ ท่านไม่ได้มองไกลหรือวางแผนการระยะยาว หากตั้งใจเพียง ทำไปตามมีตามได้ ตามที่จะทำได้ ๘ และไม่เคยฝัน ไม่เคยคิด ไม่เคยกะแผนการอะไรมากมาย ๙ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือทำไปตามเหตุปัจจัย แต่เมื่อลงมือทำแล้วก็ตั้งใจทำอย่างเต็มที่ โดยถือหลักว่า ทำอะไรต้องให้ดีกว่าใคร ๑๐ แม้กระนั้นก็ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นในผลงานที่เกิดขึ้น แม้แต่สวนโมกข์ท่านก็พร้อมจะเลิกได้ทุกเวลา ๑๑ ท่านพุทธทาสภิกขุเชื่อในเรื่องวิริยภาพ ท่านไม่เชื่อในเรื่องของโชคชะตา ในขณะที่ คนโบราณเชื่อว่าพุทธศาสนาจะเสื่อมโทรมลงไปเป็นลำดับ จึงปล่อยให้เป็นไปเช่นนั้น แต่ท่านพุทธทาสภิกขุไม่ได้เห็นอย่างนั้น ท่านเห็นว่าแต่ละคนควรทำตามกำลังด้วยความเพียรและใช้สติปัญญาอย่างที่สุด ทัศนะดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการมองอนาคตจากจุดที่เรายืนอยู่ในปัจจุบัน โลกอนาคตนั้นมีแนวโน้มที่ค่อนข้างชัดเจนว่าจะถูกท่วมทับด้วยกระแสโลกาภิวัตน์อันเชี่ยวกราก ซึ่งอาจนำไปสู่โลกาวินาศ เนื่องจากมีการทำลายสิ่งแวดล้อมทั่วโลก เกิดความวิบัติในชั้นบรรยากาศโลก นำไปสู่การทำลายชั้นโอโซน ปรากฏการณ์เรือนกระจก และความผันผวนของดินฟ้าอากาศทุกมุมโลก นอกจากนั้นยังมีการเอารัดเอาเปรียบกันขนานใหญ่โดยระบบทุนนิยมและสิ่งที่เรียกว่าตลาดเสรี เกิดช่องว่างที่ถ่างกว้างอย่างไม่เคยมีมาก่อนระหว่างคนรวยกับคนจน และระหว่างประเทศรวยกับประเทศจน มิพักต้องกล่าวถึงการเกิดสงคราม อาชญากรรม ความล่มสลายของครอบครัวและชุมชนทุกหัวระแหง ซึ่งล้วนเป็นภาพสะท้อนของความเสื่อมโทรมทางศีลธรรม สภาพการณ์เหล่านี้ไม่ควรที่จะทำให้เราเกิดความท้อแท้ ในยามนี้สิ่งสำคัญที่เราพึงมี คือ ความสำนึกอย่างที่ท่านพุทธทาสภิกขุมีในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ยอมอยู่นิ่งเฉย หากพยายามใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นตัวอย่างของพระบ้านนอกคนหนึ่งซึ่งสามารถก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลให้แก่พระพุทธศาสนาไทย ถ้าเปรียบเทียบกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ท่านพุทธทาสภิกขุอ่อนด้อยทั้งชาติวุฒิและคุณวุฒิ ท่านเป็นลูกชาวบ้านธรรมดา ไม่มีอำนาจวาสนาใด ๆ ทั้งสิ้น ขณะที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯเป็นทั้งพระโอรสและพระอนุชาของพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ ๒ พระองค์ อีกทั้งยังได้ครองตำแหน่งสูงสุดในคณะสงฆ์ คือเป็นถึงสมเด็จพระสังฆราช แต่แล้วท่านพุทธทาสภิกขุสามารถก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแก่พุทธศาสนาไทยไม่น้อยไปกว่าสมเด็จพระมหาสมณเจ้า แม้จะในลักษณะที่ต่างกัน นี้หมายความว่า คนเล็กๆ คนหนึ่งหรือไม่กี่คนสามารถก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญได้ ถ้าใช้ปัญญาอย่างถึงที่สุดและมีจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยธรรมฉันทะ ไม่ได้คิดถึงตัวเอง แต่มุ่งเอาธรรมะเป็นใหญ่ มาถึงยุคของเรา มีความจำเป็นอย่างมากที่ชาวพุทธในปัจจุบันจะต้องช่วยกันสืบทอดปณิธานและภารกิจของท่านพุทธทาสภิกขุ เมื่อท่านพุทธทาสภิกขุบุกเบิกสวนโมกข์ ท่านมีความประสงค์ที่จะฟื้นฟูการปฏิบัติอย่างสมัยพุทธกาลที่สูญหายไปให้กลับคีนมา แต่ในระยะหลังท่านมีปณิธานที่มากกว่านั้น นั่นคือฟื้นฟูศีลธรรมให้กลับมา ดังท่านย้ำอยู่เสมอว่า ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ ท่านพุทธทาสภิกขุมองไกลถึงทั้งโลก แต่เรา ๆ ท่าน ๆ อาจไม่หาญกล้าพอที่จะฟื้นฟูศีลธรรมให้กับทั้งโลกได้ แต่เราน่าจะกล้าพอที่จะคิดฟื้นฟูศีลธรรมให้กับประเทศไทย โดยประกาศว่า ศีลธรรมไม่กลับมา สยามรัฐนาวาจะวิบัติ อย่างไรก็ตามการฟื้นฟูศีลธรรมให้กลับมานั้นจะได้ผล ต้องใช้วิธีการที่สมสมัย ลำพังการเผยแผ่พุทธศาสนาอย่างที่นิยมทำในปัจจุบัน เช่น การเทศน์ให้มากขึ้น พิมพ์หนังสือหรือทำซีดีธรรมะเผยแพร่ให้มากขึ้น รวมทั้งการสอนศีลธรรมในห้องเรียนให้มากขึ้น เท่านี้ไม่น่าจะเพียงพอ เพราะปัญหาความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมในปัจจุบัน มิได้เกิดจากการสอนธรรมะน้อยไปเท่านั้น หากยังเป็นเพราะธรรมะทุกวันนี้ไม่สามารถไล่ทันอธรรมหรือความชั่วร้ายของยุคสมัยได้ ทุกวันนี้สิ่งที่เรียกว่าอธรรมนั้น ไม่ว่าจะความโลภ ความมักมากในกาม การฉ้อโกง ได้พัฒนาไปมาก จนสามารถอำพรางตนให้คนเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ผิดศีลธรรม หรือยิ่งกว่านั้นคือเห็นเป็นเรื่องดี ดังผู้คนจำนวนมากในปัจจุบันเห็นว่าความโลภเป็นของดี เพราะถูกระบบทุนนิยมกระตุ้นเร้าความโลภอยู่ทั้งวันทั้งคืน ทั้งโดยวิถีชีวิตที่ต้องแข่งขันกันและการโฆษณาผ่านสื่อ จนเกิดความเข้าใจไปว่าถ้าไม่โลภก็อยู่รอดได้ยากในสังคมปัจจุบัน ผลก็คือแม้แต่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยก็สอนให้ผู้คนมีความโลภจนเป็นเรื่องธรรมดา อุบายที่สำคัญที่สุดของอธรรมมิได้อยู่ที่การหว่านเสน่ห์เย้ายวนให้คนหลงใหล แต่อยู่ที่การอำพรางตนจนคนเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา คือเป็นสิ่งชอบธรรม หรือเห็นเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมี ตราบใดที่เรายังรู้สึกว่าอธรรมเป็นอธรรม แม้จะถลำไปเพราะหลงใหลในรสอร่อยของมัน แต่ลึก ๆ ก็ยังรู้สึกผิดที่ทำสิ่งไม่ถูกต้อง แต่หากว่าเห็นอธรรมเป็นธรรมแล้ว จะไม่มีวันสำนึกผิดได้เลย เพราะทิฏฐิวิปลาสไปแล้ว ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราได้เห็นการพรางตัวของอธรรมอย่างแพร่หลาย อาทิ การทำให้การคอร์รัปชั่นกลายเป็นเรื่องธรรมดา โดยเริ่มจากการทำให้มันกลายเป็นสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมาย วิธีการก็คือการ ฟอกด้วยกระบวนการต่าง ๆ ที่ซับซ้อน อาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย จนกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องขึ้นมา วิธีการนี้ได้ถูกนำใช้อย่างกว้างขวาง จนกระทั่งทำให้การขายหุ้นโดยไม่เสียภาษี นอกจากจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมายแล้ว ยังกลายเป็นความชอบธรรมขึ้นมา การที่คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยเห็นว่า การที่ครอบครัวนายกรัฐมนตรีขายหุ้น ๗๓,๐๐๐ ล้านบาทโดยไม่เสียภาษีให้แก่รัฐแม้แต่บาทเดียว เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายและชอบธรรม เป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่าทุกวันนี้อธรรมได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็วจนธรรมะตามไม่ทัน หรืออย่างน้อยก็ไม่สามารถทำให้คนทั่วไปเห็นคล้อยตามว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นสิ่งที่ผิด สภาพดังกล่าว ทางแก้จึงมิได้อยู่ที่การสอนศีลธรรมหรือเทศนาสั่งสอนให้มากขึ้นเท่านั้น หากยังมีความจำเป็นที่ธรรมะจะต้องพัฒนาให้สามารถไล่ทันอธรรมและความชั่วร้าย ไม่ว่าอธรรมจะซิกแซก อาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย เลี้ยวลดคดเคี้ยวไปตามช่องทางต่าง ๆ อย่างสลับซับซ้อนเพียงใดก็ตาม ทันทีที่มันปรากฏสู่สาธารณะ ธรรมะจำต้องตามดักให้ทันและสามารถตราหน้าว่า นี่เป็นอธรรม เป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม ทุกวันนี้แม้แต่กฎหมายยังต้องมีการพัฒนาปรับปรุงเพื่อตามให้ทันกลโกงและความชั่วร้ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะใช้กระบวนการต่าง ๆ ฟอก เงินที่ได้มาโดยไม่บริสุทธิ์เพียงใด ก็ไม่สามารถหนีเงื้อมมือของกฎหมายได้ แม้แต่กฎหมายอันเป็นเรื่อง ทางโลก ซึ่งมีมาตรฐานทางศีลธรรมไม่สูงเท่าศาสนายังพยายามไล่ทันความชั่วให้จนมุม ศาสนาหรีอธรรมะก็ยิ่งจำเป็นต้องพัฒนาตนให้ตามทันอธรรม จนสามารถดักหน้าและไม่ปล่อยให้หลุดมือไปได้ การเอาชนะอธรรมหรือความชั่วร้าย ย่อมไม่อาจทำได้ด้วยการการแก้ไขกฎหมายเท่านั้น หากยังจำเป็นต้องมีการสร้างมาตรฐานทางศีลธรรมใหม่ๆ ขึ้นมา ปัญหาคือว่าตอนนี้ศาสนาส่วนใหญ่รวมทั้งพุทธศาสนานอกจากจะไม่ประสบความสำเร็จแล้ว ยังไม่สนใจด้วยซ้ำที่จะสร้างเกณฑ์ทางจริยธรรมใหม่ๆ ขึ้นมาเลย ขอให้สังเกตดูว่าจริยธรรมอย่างใหม่ที่ยึดถือในปัจจุบันส่วนใหญ่แทบไม่ได้มาจากศาสนาเลย เช่น จริยธรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่า การไม่ทิ้งของเสียลงแม่น้ำ การประหยัดพลังงาน การไม่ใช้โฟมหรือพลาสติก ไปจนถึงการอนุรักษ์ป่า ล้วนมาจากแนวคิดทางด้านด้านสิ่งแวดล้อม (environmentalism) ในทำนองเดียวกันจริยธรรมทางเพศ เช่น การไม่เอาเปรียบผู้หญิง การไม่ล่วงละเมิดทางเพศ การเคารพสิทธิของผู้หญิง ก็เป็นผลพวงของแนวคิดแบบสตรีนิยม (feminism) การไม่รังเกียจเดียดฉันท์เพียงเพราะความต่างกันทางด้านศาสนา อุดมการณ์ สีผิว การเคารพความเห็นของคนที่แตกต่างกัน รวมไปถึงการทำงานอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก อันเป็นจริยธรรมซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลก ก็มาจากแนวคิดทางด้านประชาธิปไตยและมนุษยนิยม (humanism) จะเห็นได้ว่าศาสนาแทบไม่ได้มีบทบาทในการสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมสำหรับคนยุคใหม่เลย ในขณะที่แนวคิดทางโลก (secularism) มีบทบาทอย่างสำคัญ ไม่เว้นแม้แต่แนวคิดทุนนิยม เช่น กำหนดว่า การซื้อซีดี ดีวีดี หรือซอฟต์แวร์ ที่ไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ผลิต ไม่เพียงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเท่านั้น แต่ยังถือเป็นการขโมย หรือผิดศีลด้วย แต่ว่าในทางกลับกัน เมื่อนายจ้างกดค่าแรงหรือเอาเปรียบคนงาน จนแทบจะไม่พอยังชีพ ทุนนิยมกลับไม่ถือว่าผิดศีลธรรม ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะนายทุนเป็นฝ่ายได้ประโยชน์นั่นเอง น่าสังเตว่าศาสนาไม่ได้ถือเป็นหน้าที่ที่จะเข้าไปอุดช่องโหว่ดังกล่าวด้วยการชี้ให้เห็นว่า การกดค่าแรงหรือการเอาเปรียบคนงานเป็นสิ่งผิดศีลธรรมเลย ไม่เพียงการเอาเปรียบผู้อื่นเท่านั้น แม้แต่การละเลยผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก หรือช่วยเหลือพอเป็นพิธี ทั้ง ๆ ที่ตนมีฐานะที่ดีกว่า ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ศาสนาควรเข้าไปตอกย้ำว่า เป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรม คนรวยมีหน้าที่ทางศีลธรรมที่จะต้องช่วยเหลือผู้ที่ลำบากกว่า ผู้ที่มีเงินหลายหมื่นล้านบาทแต่ช่วยเหลีอผู้ประสบภัยสึนามิเพียงแสนบาทเท่านั้น ย่อมถือว่าไม่ได้ทำหน้าที่ทางศีลธรรมเพียงพอ หน้าที่ทางศีลธรรมไม่ควรจำกัดอยู่แค่การรักษาศีล ๕ เท่านั้น แต่ควรรวมไปถึงการช่วยเหลือผู้ที่ลำบากกว่าด้วย เพราะเหตุนี้การที่คนรวยไม่เสียภาษีทั้ง ๆ ที่ได้เงินมหาศาลจากการขายหุ้น จึงเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม เพราะเท่ากับว่าไม่เผื่อแผ่รายได้ที่ล้นเหลือไปช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติที่ลำบากยากจน นอกจากการสร้างเกณฑ์ใหม่ทางด้านศีลธรรมอย่างสมสมัยแล้ว สิ่งที่ศาสนาควรจะให้ความสนใจประการต่อมาก็คือ การชิงพื้นที่ทางศีลธรรม ไม่ใช่เฉพาะในหน้าหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และสื่ออื่น ๆ เท่านั้น แต่ยังต้องขยายพื้นที่ทางศีลธรรมเข้าไปในวิถีชีวิตของผู้คน ในปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ตลอดจนในสถาบันต่าง ๆ ของสังคม ไม่ว่าทางเศรษฐกิจ การเมือง และธุรกิจ ไม่เว้นแม้แต่ตลาดหุ้น ซึ่งแทบจะเป็นอาณาบริเวณที่ปลอดศีลธรรมไปแล้ว ปัจจุบันมีความเข้าใจกันอย่างแพร่หลายว่า ศีลธรรมเป็นเรื่องส่วนบุคคล และพื้นที่ทางศีลธรรมในชีวิตของแต่ละคนก็จำกัดอยู่เฉพาะเวลาไปวัดหรือปฏิบัติธรรมเท่านั้น ความจริงพื้นที่ทางศีลธรรมควรขยายไปถึงด้านอื่น ๆ ของชีวิตด้วย เช่น การประกอบอาชีพที่เป็นสัมมาอาชีวะ การทำงานและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนด้วยเมตตา และอดทนต่อถ้อยคำที่ไม่น่าพอใจ แต่เท่านั้นยังไม่พอ จำต้องมีการขยายพื้นที่ทางศีลธรรมเข้าไปในสังคมวงกว้างด้วย นั่นคือทำให้สังคมมีกลไกและสภาพแวดล้อมที่สอดคล้องกับศีลธรรม ปัญหาก็คือชาวพุทธในปัจจุบันไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการเข้าไปมีส่วนในการปรับปรุงระเบียบสังคมให้เอื้อต่อศีลธรรม ในข้อนี้พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตโต) ได้เตือนมากว่า ๒ ทศวรรษแล้วว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ เขตแดนแห่งการปฏิบัติตามหลักการของพระพุทธศาสนาหรือวงการดำเนินชีวิตแบบพุทธ จะรัดตัวแคบเข้าและจะเป็นแต่ฝ่ายรับ ไม่ได้เป็นฝ่ายรุกเลย ทำให้ชุมชนชาวพุทธถอยร่นห่างออกไปจากสังคมมนุษย์ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เหมือนหนีไปรวมกันอยู่บนเกาะที่ถูกน้ำล้อมรอบ ขาดจากมนุษย์คนอื่น...และเมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปในทางที่ไม่เกื้อกูลต่อการปฏิบัติตามหลักการของพระพุทธศาสนา สภาพเช่นนั้นก็จะมีผลกระทบต่อพระพุทธศาสนา ซึ่งอาจเป็นไปถึงขั้นที่การปฏิบัติตามหลักการของพระพุทธศาสนามไม่อาจเป็นไปได้เลย ๑๒ การที่ชาวพุทธถือว่าศีลธรรมเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ไม่เกี่ยวข้องกับสังคม ทำให้พื้นที่ทางศาสนาหดแคบจนชาวพุทธเหลือที่ยืนน้อยลง ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องขยายพื้นที่ทางศีลธรรมให้กว้างออกไป จนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจการเมือง การเคลื่อนไหวคัดค้านการคอร์รัปชั่นไม่ว่าอย่างโจ่งแจ้งหรือเชิงนโยบาย ตลอดจนการที่ผู้นำประเทศเข้าไปเกี่ยวข้องกับการซุกหุ้นและขายหุ้นโดยไม่เสียภาษี น่าจะถือเป็นส่วนหนึ่งของการขยายพื้นที่ทางศีลธรรมเข้าไปสู่การเมือง และเป็นการฟื้นฟูศีลธรรมให้กลับมาสู่บ้านเมือง แต่นอกเหนือจากการคัดค้านสิ่งที่ไม่ชอบด้วยศีลธรรมแล้ว ควรที่จะมีการเสนอแบบแผน กลไก และนโยบายทางเศรษฐกิจการเมืองที่เอื้อต่อศีลธรรมเป็นต่างหากออกไปด้วย ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นผู้หนึ่งที่เห็นว่าการเมืองต้องมีศีลธรรม ในทัศนะของท่านระบบศีลธรรมกับระบบการเมืองเป็นเรื่องเดียวกัน ท่านเคยกล่าวว่า ระบบศีลธรรมนี้มันเนื่องกันอยู่กับระบบการเมือง หรือว่าระบบศีลธรรมที่ถูกต้องนั่นเอง มันเป็นรากฐานอันแท้จริงของระบบการเมืองที่ดี ที่จะทำให้โลกนี้มีสันติสุข ๑๓ ต้องถือว่านี้เป็นมิติใหม่ของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทไทยในปัจจุบัน ซึ่งไม่สู้ให้ความสนใจกับเรื่องนี้เท่าไร ทั้ง ๆ ที่ศีลธรรมเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า พื้นที่ทางศีลธรรมที่สำคัญที่สุดนั้นอยู่ที่ใจเรา หาใช่ข้างนอกไม่ การต่อสู้กับความเสื่อมโทรมทางศีลธรรม ต้องเริ่มต้นที่จิตใจของตนเองเป็นอันดับแรก นี้คือบทเรียนสำคัญที่ได้จากท่านพุทธทาสภิกขุ ท่านตระหนักดีว่าวิกฤตการณ์ในโลก ชนิดที่จัดว่าเป็น โลกวิปริต นั้นต้องต่อสู้ด้วยโลกกุตรธรรม ไม่ใช่แค่ศีล ๕ เท่านั้น กองไฟยิ่งร้อนแรงเท่าไร ยิ่งจำต้องใช้น้ำเย็นมากเท่านั้น โลกุตรธรรมเปรียบได้กับน้ำเย็นที่จะดับไฟร้อนได้ แม้ว่าโลกุตรธรรมนั้นจะสถิตอยู่ในใจของคนเพียงคนเดียว แต่ก็สามารถเป็นพลังให้แก่บุคคลในการทำงานอย่างเสียสละด้วยสติปัญญาอย่างเต็มที่ โดยไม่หวั่นไหวกับโลกธรรมหรือเป็นทุกข์เพราะความผันผวนปรวนแปรในโลก ด้วยเหตุนี้ท่านพุทธทาสภิกขุจึงให้ความสำคัญกับคำสอนและการปฏิบัติที่มุ่งสู่โลกุตตรธรรม โดยมิได้ปฏิบัติที่ตัวท่านเองเท่านั้น หากยังเผยแพร่ไปยังชาวพุทธอย่างกว้างขวาง จนกล่าวได้ว่าท่านเป็นผู้ที่มีความสำคัญอย่างมากในการฟื้นโลกุตตธรรมให้กลับมาสู่โลกนี้ หน้าที่ของเราที่ควรสืบต่อจากท่านคือ ขยายพื้นที่ของโลกุตตรธรรมเข้าไปในใจเรา และขยายต่อออกไปสู่สังคมวงกว้าง โลกุตตรธรรมทำให้เราอยู่ในโลกด้วยจิตที่อิสระ ปลอดโปร่ง ผ่องใส แม้โลกภายนอกจะร้อนแรงและเต็มไปด้วยวิกตฤ คุณสมบัติดังกล่าวมิได้ทำให้เราเฉยชาต่อโลก หากแต่เข้าไปช่วยเหลือโลกด้วยจิตที่ปล่อยวางต่างหาก เมื่อท่านพุทธทาสภิกขุมองอนาคต แม้ท่านจะเห็นถึงวิกฤตที่ท่วมท้นและตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปแก้ไข แต่ท่านหาได้เป็นทุกข์ไม่ แม้กายจะเข้าไปข้องเกี่ยวกับโลก แต่ใจมิได้ติดข้อง ท่านทำงานอย่างไม่เลิกราจนเกือบถึงนาทีสุดท้ายที่รู้สึกตัว แต่ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นการกระทำด้วยจิตว่าง ปล่อยวางจากความสำคัญมั่นหมายในตัวตน ท่านทำงานแต่ละอย่างด้วยความรู้สึกว่าเสร็จอยู่ตลอดเวลา เคยมีคนไปถามท่านว่าอาคารทั้งหลายในสวนโมกข์ที่ท่านสร้าง เมื่อไรจึงจะเสร็จ เพราะมีเหล็กเส้นโผล่ออกมามากมาย ท่านตอบว่าเสร็จทุกวันนั่นแหละ นี้คือการทำงานโดยเน้นที่ปัจจุบันและไม่กังวลกับอนาคต ท่าทีเช่นนี้ควรเป็นบทเรียนสำหรับเรา กล่าวคือ นอกจากจะมองอนาคตอย่างมีสำนึกในความรับผิดชอบ โดยไม่ทุกข์ไปกับสิ่งที่เห็นแล้ว เมื่อถึงคราวขับเคลื่อนกงล้อแห่งธรรมเพื่อฟื้นฟูศีลธรรมให้กลับมา ก็เรียนรู้ที่จะทำปัจจุบันให้ดีที่สุด โดยปล่อยวางจากความยึดมั่นในผลที่จะเกิดขึ้นเบื้องหน้า รวมทั้งไม่เอาตัวตนเข้าไปผูกติดกับงานนั้น การทำงานด้วยจิตว่างมิใช่เป็นสมบัติของท่านพุทธทาสภิกขุเท่านั้น หากยังเป็นสมบัติของเราทุกคน
____________________________________________________ ๑ พุทธทาสภิกขุ
โลกวิปริต (สวนโมกขพลารามและธรรมทานมูลนิธิ,๒๕๔๙) น.๕๐ |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|