ชีวิตและความตายนั้นมองได้หลายแง่มุม มองในมุมวิทยาศาสตร์ ชีวิตคือกระบวนการทางชีวเคมีอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถตรวจวัดหรือแปรเป็นปริมาณตัวเลขได้ หากกระบวนทางชีวเคมีดังกล่าวสิ้นสุดหรือแปรสภาพไป ก็เรียกว่าตาย อย่างไรก็ตามหากมองในมุมวัฒนธรรมแล้ว ชีวิตและความตายมีความหมายมากกว่านั้น แม้ทุกคนมีชีวิตเหมือนกันและต้องตายเหมือนกัน แต่วิถีการดำเนินชีวิตของแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน สุดแท้แต่ทัศนคติเกี่ยวกับชีวิต แต่ละคนมีความรู้สึกสุขหรือทุกข์แตกต่างกัน รวมทั้งให้คุณค่าและความหมายของชีวิตของตนแตกต่างกัน สุดท้ายเมื่อความตายมาถึง ก็มีความรู้สึกหรือตอบสนองต่อความตายแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่ามีทัศนคติต่อความตายอย่างไร
ชีวิตกำหนดความตาย
คนสมัยก่อนนั้นส่วนใหญ่มีความเชื่อว่า ชีวิตเป็นกระบวนการที่มีความสืบเนื่องยาวไกล ไม่ได้เริ่มต้นเมื่อเกิดจากท้องแม่ และไม่ได้จบลงเมื่อสิ้นลม สำหรับชาวพุทธ ความตายคือจุดเริ่มต้นของการเกิดใหม่ เพราะมนุษย์ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารตราบใดที่ยังมีกิเลสหรือกรรม ต่อเมื่อสิ้นกิเลส ดับกรรมหรืออยู่เหนือกรรมได้ กระบวนการดังกล่าวจึงสิ้นสุด ไม่มีการเกิดอีกต่อไป ดังนั้นในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ จึงต้องหมั่นสร้างบุญกุศล มิใช่เพื่อความผาสุกในชาตินี้เท่านั้น แต่ยังเพื่อความสุขในภพหน้าด้วย ลาภยศมิใช่เรื่องสำคัญที่สุด เพราะเป็นของชั่วคราว ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ บุญกุศลต่างหากที่สำคัญกว่า
คติความเชื่อดังกล่าวทำให้ผู้คนมีแนวโน้มยอมรับความตายได้มาก โดยเฉพาะผู้ที่ทำความดีสร้างบุญกุศลไว้มาก เพราะมั่นใจว่าจะได้สุคติ คนอีสานสมัยก่อนเชื่อว่าเมื่อสิ้นลมก็จะได้ไปกราบพระเกศแก้วจุฬามณีในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ยิ่งมีการทำความดีในขณะที่ป่วยหนัก และมีการน้อมใจให้นึกถึงบุญกุศลที่ได้ทำไว้ ก็ยิ่งช่วยให้มีความมั่นใจในภพหน้ามากขึ้น จึงไม่ปฏิเสธผลักไสความตาย สามารถตายได้อย่างสงบ
ในวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลทางศาสนา ผู้คนมักได้รับการย้ำเตือนว่า ชีวิตนั้นไม่จิรังยั่งยืน ความตายสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ยิ่งได้เห็นคนตายเป็นระยะ ๆ ดังวิถีชีวิตของคนไทยสมัยก่อนที่ผู้คนมักตายที่บ้านและตั้งศพที่บ้าน ก็ย่อมตระหนักว่าความตายเป็นธรรมดาของชีวิต ไม่มีใครหนีพ้นความตายได้ ทัศนะดังกล่าวช่วยให้ไม่ประมาทต่อชีวิต และยอมรับความตายได้มากขึ้น เมื่อความตายมาถึงตนในที่สุด ก็ไม่ขัดขืนต่อสู้ พร้อมจะทำใจกับทุกอย่างที่จะตามมา
อย่างไรก็ตามคำสอนที่แตกต่างกันระหว่างศาสนา ก็ส่งผลให้วัฒนธรรมเกี่ยวกับความตายมีความแตกต่างกันตามไปด้วย จะว่าไปแล้ว วัฒนธรรมหรืออารยธรรมต่างๆ ในโลกนี้ล้วนเป็นภาพสะท้อนทัศนะเรื่องความตายที่แตกต่างกัน อาทิ อารยธรรมอียิปต์กับการสร้างพีระมิด อารยธรรมเขมรกับการสร้างนครวัด อารยธรรมธิเบตกับการหั่นศพและทิ้งให้แร้งกิน สองอารยธรรมแรกมีความเชื่อว่าตัวตนนั้นยั่งยืน เป็นอมตะ ขณะเดียวกันก็มีความปรารถนาอยากให้ผู้ที่ตายไปแล้วโดยเฉพาะพระราชากลับมาเกิดใหม่ จึงสร้างสถานที่เอาไว้รองรับผู้ที่จะมาเกิดใหม่ มีการระดมผู้คนจำนวนมหาศาลมาก่อสร้างสุสานอย่างใหญ่โต สิ้นเปลืองทรัพยากรมากมาย
ตรงกันข้ามกับอารยธรรมธิเบตซึ่งเห็นว่าคนเรานั้นมาจากธรรมชาติ เมื่อตายไปก็กลับคืนสู่ธรรมชาติ กลายเป็นอาหารของสรรพสัตว์ ชื่อเสียงเกียรติยศหรือยศศักดิ์อัครฐานไม่ว่าจะสะสมไว้มากเพียงใด ตายไปก็เป็นอันยุติ ไม่มีความหมายอีกต่อไป จึงไม่มีความจำเป็นต้องสร้างเทวสถานหรือสุสานรอคอยการกลับมาของคนที่ตายไป
ส่วนอารยธรรมปัจจุบันเห็นว่าโลกหน้านั้นไม่มีหรือไม่สำคัญ สิ่งสำคัญอยู่ที่โลกนี้ ชีวิตนี้ ดังนั้นการสร้างสุสานอย่างใหญ่โตเพื่อรองรับชีวิตหน้าของคนตาย จึงไม่ค่อยมี มีแต่การสร้างอนุสาวรีย์เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในโลกนี้ เช่น เพื่อสร้างความรักชาติ กระตุ้นให้คนเสียสละ หรือเพื่อชื่อเสียงเกียรติยศของวงศ์ตระกูลหรือของลูกหลาน (ซึ่งเป็นผู้สร้างอนุสาวรีย์ ) นอกจากนั้นความที่อารยธรรมสมัยใหม่เชื่อมั่นในโลกนี้มากกว่าโลกหน้า จึงมุ่งแสวงหาและตักตวงวัตถุมาปรนเปรออย่างไม่หยุดหย่อนมากกว่าที่จะสร้างบุญกุศลสำหรับโลกหน้า
ชีวิตและความตายในวัฒนธรรมสมัยใหม่
การที่อารยธรรมปัจจุบันมีมุมมองเช่นนั้น สาเหตุสำคัญก็เพราะศาสนามีบทบาทน้อยลง แต่ได้รับอิทธิพลจากวิทยาศาสตร์สมัยใหม่มากขึ้น วิทยาศาสตร์นั้นไม่เชื่อเรื่องโลกหน้า จึงเห็นว่าชีวิตนั้นเริ่มต้นเมื่อปฏิสนธิและจบลงเมื่อตาย ไม่มีอะไรหลังจากนั้น วิทยาศาสตร์ได้ทำให้ทัศนคติเกี่ยวกับความตายเปลี่ยนไปอย่างมาก กล่าวคือ เมื่อมองว่าความตายเป็นจุดสุดท้ายของชีวิต ความตายจึงเป็นสิ่งที่น่ากลัว ที่ต้องหลีกเลี่ยงหรือหน่วงเหนี่ยวผลักไสไปให้ไกลที่สุด
ผลที่ตามมาประการแรกก็คือ การมีชีวิตเหมือนคนลืมตาย ความกลัวตายทำให้ผู้คนพยายาม ปิดหูปิดตาไม่รับรู้เรื่องความตาย ไม่อยากนึกถึงความตาย ไม่อยากให้ใครมาพูดเรื่องความตายให้ได้ยิน พยายามผลักความตายออกไปจากจิตสำนึก วิธีหนึ่งที่ใช้กันมากก็คือ ทำตัวให้วุ่น ทำใจไม่ให้ว่าง ด้วยการหมกมุ่นอยู่กับความสนุกสนาน ความบันเทิงเริงรมย์ทางเพศ การแสวงหาเงินทองชื่อเสียงและอำนาจ ทั้งนี้เพื่อให้ตนหลงลืมเรื่องความตาย เป็นการเบนความสนใจออกไปจากสิ่งที่ตนหวาดกลัว พฤติกรรมดังกล่าวทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยหลงลืมไปเลยว่าสักวันหนึ่งตนจะต้องตาย ซึ่งเท่ากับหนุนส่งให้มัวเมากับความสนุกสนานหนักขึ้น รวมทั้งแสวงหาเงินทอง ชื่อเสียง อำนาจและความสำเร็จทางโลกอย่างไม่หยุดยั้ง โดยไม่เฉลียวใจเลยว่า สิ่งเหล่านั้นจะช่วยเขาได้ไหมเมื่อความตายมาถึง และเขาจะเอาสิ่งเหล่านั้นไปได้ไหมเมื่อสิ้นลม
ความกลัวตายยังส่งผลต่อแบบแผนการรักษาพยาบาล กล่าวคือ ผู้คนพยายามหนีความตายให้ไกลที่สุด และหากหนีไม่ได้ ก็ขอประวิงเวลาให้ตายช้าที่สุด แม้ป่วยหนักจนสุดเยียวยา ก็พยายามยื้อชีวิตให้นานที่สุด โดยสนใจแต่เพียงสัญญาณชีพเป็นสำคัญ แม้คุณภาพชีวิตจะถดถอย หรือสร้างความทุกข์ทรมานแก่ผู้ป่วยมากมายก็ตาม ผลก็คือผู้ป่วยไม่สามารถตายอย่างสงบ หรือไม่สามารถทำใจให้สงบได้ เพราะเกิดความเจ็บปวดมากจากการรักษาแบบก้าวร้าวรุนแรงแบบนั้น
เป็นเพราะเรามีทัศนคติว่าความตายเป็นสิ่งน่ากลัวที่ต้องพยายามหลีกเลี่ยงให้ได้ไกลที่สุด เราจึงมักใช้ช่วงเวลาท้ายๆ ของชีวิตอยู่ในโรงพยาบาล ฝากทุกอย่างไว้กับหมอ โดยไม่คิดว่าในช่วงสำคัญของชีวิตเช่นนี้ สิ่งสำคัญที่สุดไม่ได้อยู่ที่การยืดลมหายให้ได้นานที่สุด หากอยู่ที่การเตรียมใจให้สามารถเผชิญกับความตายได้อย่างสงบสันติที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้นึกถึงเรื่องนี้ เพราะไม่เคยเตรียมตัวไว้ก่อนเลยในยามที่ยังปกติสุขอยู่ หรือถึงนึกได้ก็สายไปเสียแล้ว เพราะไม่มีใครที่จะช่วยเขาได้ในเรื่องนี้นอกจากตัวเอง
วิทยาศาสตร์ยังส่งผลให้ความเจ็บป่วยและความตายซึ่งเป็นปรากฏการณ์หลากมิติ ถูกลดทอนให้เหลือแค่มิติทางกายภาพล้วน ดังนั้นการรักษาหรือการหน่วงเหนี่ยวความตายจึงเน้นแต่การจัดการกับอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ความตายถูกนิยามด้วยอาการทางกายภาพล้วนๆ (เช่นสมองไม่ทำงาน) ขณะเดียวกันในการช่วยผู้ป่วยไม่ให้ตาย แพทย์จะสนใจแต่กระบวนการทางกายภาพของผู้ป่วย มุ่งใช้ยาและเทคโนโลยีเข้ามาจัดการกับอวัยวะนานาชนิดเพื่อยับยั้งความตาย (ตามนิยามดังกล่าว) โดยไม่สนใจการให้ความช่วยเหลือทางจิตใจแก่ผู้ป่วย
สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นตามมาก็คือ ความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย ทั้งนี้เพราะการพยายามยืดลมหายใจของผู้ป่วยให้ได้นานที่สุด มักอาศัยวิธีที่ก้าวร้าวรุนแรงเช่น เจาะคอ ผ่าท้องใส่ท่อให้อาหาร ล้วนแต่ทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวดทุกข์ทรมานอย่างยิ่ง แม้กระทั่งในวาระสุดท้ายของชีวิตก็ไม่มีโอกาสอยู่อย่างสงบท่ามกลางลูกหลานญาติมิตร นอกจากนั้นวิธีการยืดลมหายใจดังกล่าวมักเกิดขึ้นโดยที่ผู้ป่วยไม่มีสิทธิตัดสินใจหรือสามารถคัดค้านได้ ทำให้ผู้ป่วยถูกลดสภาพความเป็นคน กลายเป็นแค่วัตถุรองรับการกระทำของแพทย์และเทคโนโลยี
อลิซาเบธ คูบเลอร์ รอสส์ กล่าวถึงเรื่องนี้ชัดเจนเมื่อพรรณนาถึงการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลสมัยใหม่ว่า "ผู้ป่วยอาจจะร้องขอพักผ่อนครวญหาความสงบ เรียกร้องขอสิทธิและศักดิ์ศรีของตนกลับคืน สิ่งที่เขาจะได้รับหาใช่สิ่งที่เขาเรียกร้องไม่ แต่กลับเป็นน้ำยาที่ฉีดเข้าตัวและน้ำเกลือที่ฉีดเข้าเส้น เครื่องนวดหัวใจ หรือไม่ก็การเจาะคอ เมื่อจำเป็น" และอีกตอนหนึ่งว่า "เขาเองกำลังถูกดูแลรักษาเหมือนกับตนเองเป็นวัตถุอะไรสักอย่างเขาไม่ใช่คนอีกต่อไปแล้ว ใครต่อใครตัดสินใจให้เขาทั้งๆ ที่เขาก็ยังมีความสามารถที่จะคิดตัดสินใจด้วยตนเองได้ แต่ถ้าเขาคัดค้าน เขานั่นแหละก็จะถูกบังคับให้กินยา ฉีดยา เพื่อให้หลับต่อไป" กล่าวอีกนัยหนึ่ง ผู้ป่วยถูกปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมมากขึ้นทุกที
ช่วงสุดท้ายของผู้ป่วยในโรงพยาบาลมักเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย เนื่องจากแพทย์และพยาบาลพยายามช่วยชีวิตให้ยืนนานต่อไป ผู้ป่วยไม่ได้รับโอกาสหรือการช่วยเหลือให้เกิดความสงบในจิตใจ หรือเพื่อให้เข้าถึงภาวะอันลุ่มลึกในทางจิตวิญญาณ (เช่นการทำจิตให้ปล่อยวางชนิด "ดับไม่เหลือ" หรือผสานรวมกับสิ่งสูงสุดที่นับถือ) ซึ่งนอกจากจะช่วยบรรเทาความวิตกกังวลตื่นตระหนกยามใกล้ตายแล้ว ยังช่วยให้สามารถจัดการกับความเจ็บปวดทางกายได้ดีกว่ายาและเทคโนโลยีต่างๆ ของแพทย์ด้วย ยิ่งกว่านั้นการมีโอกาสเตรียมจิตใจดังกล่าวยังอาจมีผลต่อสภาวะหลังการตายด้วย ไม่ว่าจะสภาวะของผู้ป่วยเอง หรือของญาติมิตรผู้ป่วย
ชีวิตและความตายในวัฒนธรรมพุทธ
พุทธศาสนามองว่าชีวิตกับความตายไม่ได้แยกจากกัน ความตายไม่เพียงเป็นเรื่องใกล้ตัวอย่างยิ่ง เพราะเรามีโอกาสตายทุกวินาทีเท่านั้น แท้จริงความตายเกิดขึ้นกับเราทุกขณะ เซลล์ต่างๆ ในร่างกายตายตลอดเวลา แต่ก็มีเซลล์ใหม่มาแทนที่ จึงดูเหมือนว่าร่างกายของเรานั้นคงที่ แท้จริงแล้วร่างกายของเราขณะนี้กับเมื่อสิบปีก่อน เป็นคนละร่างก็ว่าได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งร่างของเราเมื่อสิบปีก่อนได้ตายไปแล้ว และมีร่างใหม่มาแทนที่ จิตของเราก็เช่นกัน มีการเกิดดับตลอดเวลา แต่มีความสืบเนื่องกัน จึงดูเหมือนว่าเป็นจิตที่คงที่คงตัว แต่ที่จริงหาใช่ไม่
ในวัฒนธรรมแบบพุทธ ความตายถูกมองว่าไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เพราะมันอยู่กับเราตลอดเวลา และไม่ช้าก็เร็วความแตกดับทั้งทางกายและใจอย่างสิ้นเชิง คงเหลือแต่ร่างที่ไว้วิญญาณ ก็จะต้องเกิดขึ้นกับเรา แต่ก่อนจะถึงตอนนั้น เราควรใช้ชีวิตให้มีคุณค่า ใช้ทุกนาทีให้เกิดประโยชน์ ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ซึ่งมิได้วัดกันที่ความพรั่งพร้อมทางวัตถุ แต่อยู่ที่ความสงบเย็นทางจิตใจ ไม่ถูกบีบคั้นด้วยความทุกข์และความผันผวนปรวนแปรต่าง ๆ อันเป็นธรรมดาของโลก
ขณะเดียวกันเมื่อรู้ว่าสักวันหนึ่งเราต้องตาย นอกจากจะต้องเร่งทำความดีโดยไม่ประมาทในชีวิตแล้ว ก็ควรเตรียมตัวเตรียมใจรับมือกับความตายด้วย วิธีหนึ่งได้แก่ การพิจารณาความตายสม่ำเสมอที่เรียกว่า มรณสติ กล่าวคือระลึกเสมอว่าความตายเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องเกิดขึ้นกับเราไม่ช้าก็เร็ว การทำเช่นนี้สม่ำเสมอ ช่วยให้เราไม่ลืมตาย ไม่อยู่อย่างประมาท และพร้อมที่จะเผชิญกับความตายอยู่เสมอ
วัฒนธรรมแบบพุทธยังมองอีกว่า ความตายไม่ใช่สิ่งที่ทุกข์ทรมานเสมอไป ความทุกข์จะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับท่าทีหรือจิตใจของเรามากกว่า ว่าจะเผชิญกับความตายอย่างไร เราสามารถทำให้การตายที่เกิดขึ้นนั้น เป็นการ “ตายดี”ได้ ซึ่งไม่ได้หมายถึง การหลับตายหรือตายโดยไม่เจ็บปวด ไม่รู้เนื้อรู้ตัว แต่หมายถึงการตายในภาวะจิตที่สงบ เป็นกุศล หรือเห็นแจ้งในธรรม กล่าวอีกนัยหนึ่ง คุณภาพของความตายไม่ได้อยู่ที่ว่าตายด้วยสาเหตุใด แต่อยู่ที่คุณภาพจิตใจของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
ความตายมิได้หมายถึงความแตกสลายทางกายเท่านั้น หากยังเป็นโอกาสในการเข้าถึงความลุ่มลึกทางจิตวิญญาณด้วย ดังท่านอาจารย์พุทธทาสกล่าวว่า ช่วงเวลาใกล้ตายนั้นเป็น “นาทีทองของชีวิต” ดังนั้นเราจึงควรใช้ประโยชน์จากความตายให้เกิดคุณค่าแก่ชีวิตโดยเฉพาะในทางจิตใจหรือจิตวิญญาณ
ดังนั้นเมื่อป่วยหนักจนอยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต นอกจากการดูแลทางกายแล้ว การดูแลทางจิตใจก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง ผู้เกี่ยวข้องควรทำทุกอย่างเพื่อให้ผู้ป่วยมีจิตใจสงบ พร้อมรับความตาย หรือสามารถเผชิญกับความทุกข์จากความตายให้ได้มากที่สุด เช่น การสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับญาติมิตร ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสเล่าความในใจที่คั่งค้าง รวมทั้งมีโอกาสปลดเปลื้องทั้งภาระ (ทางการงาน ครอบครัว และภาระทางใจ) ตลอดจนปลดเปลื้องความกังวลขุ่นเคืองใจที่มีอยู่
ความเมตตาของญาติมิตร พร้อมที่จะเข้าใจและยอมรับเขาโดยไม่ตัดสิน ยังช่วยให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกโดดเดี่ยว และปล่อยวางความรู้สึกไม่ดีเกี่ยวกับตนเองได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นญาติมิตรยังควรช่วยน้อมนำจิตใจผู้ป่วยให้ระลึกถึงบุญกุศลและความดีงามที่ได้บำเพ็ญ ตลอดจนระลึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือ รวมทั้งเปิดโอกาสให้เขาทำความดีหรือสร้างบุญกุศลเพิ่มเติม จะช่วยให้ผู้ป่วยมีความพร้อมในการรับมือกับความตายมากขึ้น และหากสามารถแนะนำให้ผู้ป่วยรู้จักวางใจเมื่อต้องเผชิญกับทุกขเวทนา เช่น ช่วยให้เขารู้จักทำสมาธิ เจริญสติ หรือมีความรู้สึกตัวอยู่เสมอ เขาก็จะสามารถรักษาใจให้เป็นปกติ และรับมือกับความตายได้ด้วยใจสงบ
ความตายไม่ใช่เป็นแค่วิกฤตของชีวิตเท่านั้น หากยังเป็นโอกาสในทางจิตวิญญาณ พุทธศาสนาเชื่อว่าจิตที่สงบเป็นกุศล ไม่เพียงช่วยให้ตายอย่างไม่ทุกข์ทรมานแล้ว ยังสามารถนำพาผู้ตายไปสู่สุคติ เป็นการยกระดับจิตใจให้เข้าสู่ภพภูมิที่ดีกว่าเดิม ยิ่งผู้ใกล้ตายนั้นมีสติเต็มที่ เห็นโทษของความติดยึดในสังขารหรือความสำคัญมั่นหมายในตัวตน จนสามารถละวางได้อย่างสิ้นเชิง ก็จะเข้าถึงความวิมุติหลุดพ้นคือนิพพานได้ทันที ดังพระสาวกหลายท่านได้กระทำไว้เป็นแบบอย่าง นับเป็นตัวอย่างที่ชี้ว่าความตายสามารถเป็นปัจจัยให้เกิดพัฒนาการทางจิตวิญญาณอย่างถึงที่สุดได้ ด้วยเหตุนี้เราจึงสมควรที่จะเตรียมตัวรับความตายแต่เนิ่นๆ ในขณะที่ยังมีเวลาอยู่ ทั้งนี้เพื่อใช้ความตายให้เป็นโอกาสในทางจิตวิญญาณ ไม่ปล่อยให้ความตายนำชีวิตไปสู่วิกฤตหรือความแตกดับเท่านั้น
ปรับปรุงจากบทความของผู้เขียนเรื่อง “ความตายในมิติทางสังคมและจิตวิญญาณ” และ “ความตาย:กระบวนทัศน์ที่แปรเปลี่ยน”
นอกจากจะลดทอนความตายเหลือเพียงมิติกายภาพแล้ว ยังมีความพยายามที่จะลดทอนต่อไปให้ความตายกลายเป็นเรื่องของความผิดปกติของอวัยวะบางส่วนเท่านั้น (เชอร์วิน นูแลนด์ แพทย์ชาวอเมริกัน ผู้เขียน How We Die เล่าว่า ในชีวิตการเป็นแพทย์กว่า ๓๕ ปีของเขา เขาไม่เคยได้รับอนุญาตให้ระบุในมรณบัตรว่า ผู้ป่วยวัย ๘๐-๑๐๐ ปีของเขาตายเพราะ "ชราภาพ" ได้เลย หากจะต้องระบุว่า ตายด้วยโรคหรือความผิดปกติที่อวัยวะส่วนใด หากเขาเขียนว่าตายเพราะชราภาพ มรณบัตรนั้นก็จะถูกตีกลับมาด้วยเหตุผลว่า เขากำลังทำผิดกฎหมาย นูแลนด์สรุปว่า "ทุกหนแห่งในโลกนี้ การตายเพราะชราภาพเป็นสิ่งผิดกฎหมาย" การมองว่าความตายหมายถึงความผิดปกติของอวัยวะอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยไม่ยอมรับว่ามีความตายที่เกิดจากชราภาพหรือเพราะถึงอายุขัยแล้วนั้น เท่ากับบอกว่าความตายไม่ใช่ปรากฏการณ์ธรรมชาติ ความตายอย่างเป็นธรรมชาตินั้นไม่มี มีแต่ความตายเพราะเป็นโรค กล่าวอีกนัยหนึ่งความตายนั้นถือว่าเป็นโรค (disease) อย่างหนึ่ง
|