![]() |
สารโกมล ปีที่ ๓๓ ฉบับที่ ๒ พย.-ธค.๕๙ พระไพศาล วิสาโล
|
มีการทดลองหนึ่งที่น่าสนใจและเตือนใจเราได้ดีมาก เขาเอาอาสาสมัครประมาณ ๒๐ คน มาทำแบบทดสอบง่าย ๆ เอาเส้น ๓ เส้นมาให้ดู จากนั้นถามว่า เส้นไหนที่มีความยาวเท่ากับเส้นที่ ๔ คำถามอย่างนี้ไม่น่าจะตอบยาก เพราะทั้ง ๓ เส้นมีความยาวแตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่ในกลุ่มนั้นมีหน้าม้าประมาณ ๔-๕ คนปะปนอยู่ด้วย ผู้ทดลองจะถามทีละคน แต่จะถามหน้าม้าก่อน โดยให้หน้าม้าทุกคนตอบผิดหมดเลย จากนั้นก็ให้คนอื่นตอบ ปรากฏว่าอาสาสมัครซึ่งตอบทีหลัง ส่วนใหญ่ก็จะคล้อยตามความเห็นของหน้าม้า ตอบผิดถึง ๗๕ เปอร์เซ็นต์ ทั้ง ๆ ที่ไม่น่าผิดเลย คือถ้าไม่มีหน้าม้า ร้อยทั้งร้อยก็ตอบถูก แต่พอมีหน้าม้ามาทำให้เขว คนอื่นก็เขวตามถึง ๗๕ เปอร์เซ็นต์ นับว่าเป็นจำนวนไม่น้อยเลย แสดงว่าคนเราคล้อยตามคนอื่นได้ง่าย ที่น่าคิดคือคนที่เป็นอาสาสมัครไม่ใช่เด็ก เป็นนักศึกษาหรือคนทำงานแล้วทั้งนั้น มีความคิดของตัวเอง และรู้ด้วยว่าคำตอบที่ถูกต้องคืออะไร แต่พอได้ยินคนอื่นตอบอย่างนั้น ก็คล้อยตามเขา เกิดความลังเล สงสัยขึ้นมาว่าคำตอบของเรานั้นถูกแน่หรือเปล่า พอเห็นคนที่ ๑ คนที่ ๒ คนที่ ๓ ตอบไม่ตรงกับตัวเองก็เริ่มเขว สุดท้ายก็ตอบเหมือนคนที่พูดก่อนหน้านั้น โดยที่ไม่รู้ว่าคนที่ตอบก่อนคือพวกหน้าม้า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เรายังมีสัญชาตญาณแบบฝูงอยู่ คือคล้อยตามฝูง ถึงแม้ว่าเราจะพัฒนามาถึงยุคนี้แล้ว แต่ว่าการคล้อยตามคนอื่น ก็ยังเป็นสัญชาตญาณที่อยู่ในหัวของเรา เคยมีการทดลองอีกอันหนึ่ง เขาแกล้งทำให้เกิดอุบัติเหตุตรงสี่แยกแห่งหนึ่ง มีคนเห็นเหตุการณ์เยอะแยะเลย ตอนที่เกิดอุบัติเหตุรถชนกัน สัญญาณไฟจราจรเป็นสีแดง ใคร ๆ ก็เห็นว่าเป็นสีแดง แต่พอเกิดอุบัติเหตุรถชนกัน ก็ให้หน้าม้าไปกระซิบบอกคนที่อยู่ตรงนั้นว่า ตอนที่เกิดเหตุนั้นสัญญาณไฟเป็นสีเขียว คนที่ถูกกระซิบมีประมาณครึ่งหนึ่งของคนที่เห็นเหตุการณ์อยู่ตรงสี่แยก สักพักก็จะมีนักวิจัยมาสอบถามว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสักครู่ คุณจำได้ไหมว่า สัญญาณไฟจราจรเป็นสีอะไร ปรากฏว่าครึ่งหนึ่งตอบว่าสีเขียว ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้าที่จะมีหน้าม้าไปกระซิบ ทุกคนก็เห็นอยู่ว่ามันเป็นสีแดง แต่เมื่อได้รู้ข้อมูลใหม่ก็เปลี่ยนความทรงจำทันที แสดงว่าความจำของคนเราไว้ใจไม่ได้ เวลาแค่ไม่ถึง ๕ นาที ความจำของเราก็ถูกแปรเปลี่ยนไปได้ไม่ยาก นี่เป็นอีกตัวอย่างของการคล้อยตามการบอกเล่า นอกจากเชื่อข่าวลือง่ายแล้ว ก็ยังปล่อยข่าวลืออีกด้วย มีข่าวลืออะไรมาก็เชื่อง่าย พอเชื่อแล้วก็บอกต่อคนนั้นคนนี้ ยิ่งเดี๋ยวนี้มีเฟซบุ๊ค มีไลน์ ผู้คนก็ชอบแชร์เรื่องนั้นเรื่องนี้ พอมีการแชร์กันเยอะ ๆ เราก็คล้อยตาม เชื่อเพราะเห็นว่ามีการแชร์กันเยอะ แล้วเราก็แชร์กับเขาบ้าง กลายเป็นเครื่องมือในการปล่อยข่าวลือ อันนี้เกิดขึ้นมากในแวดวงอินเทอร์เน็ต เราจึงควรตระหนักว่า คนเราเห็นคล้อยตามกันง่าย ยิ่งถ้าไม่มีสติแล้วจะคล้อยตามอะไรได้ง่ายมาก เช่น คล้อยตามคำพูดของคนอื่น ขนาดเรื่องง่าย ๆ เรายังคล้อยตามคำตอบที่ผิด คนเราส่วนใหญ่เขวง่าย ชักจูงง่าย ไม่ว่าจะเรียนจบปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ก็เขวง่ายไม่ต่างกัน ยิ่งอยู่กันเป็นกลุ่ม ก็ยิ่งเขวไปตามกลุ่มได้ง่าย กลุ่มชวนไปตีคู่อริ ใครที่อยู่ในกลุ่มก็ไปกับเขาง่าย ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้โกรธแค้นอะไรกับอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่รู้จักด้วยซ้ำ แต่ว่ากลุ่มมันพาไป บางทีก็เริ่มต้นจากคนสองคนเท่านั้นที่นำไป พอคล้อยตามสัก ๓-๔ คน ที่เหลือเป็นร้อยก็เฮตามไปด้วย นี้เป็นปรากฏการณ์อย่างเดียวกับที่เกิดในตลาดหุ้น พวกเราก็รู้ว่าคนที่เล่นหุ้นมีความรู้เยอะ แต่ก็เป็นเหยื่อของคนปั่นหุ้น เวลาเขาปั่นหุ้นก็ปั่นกันแบบนี้ คือเริ่มจากคนแค่ไม่กี่คน มีหน้าม้าแห่มาซื้อหุ้น คนที่เหลือเห็นเข้าก็คิดว่าหุ้นดี ก็ตามไปซื้อด้วย เท่ากับปั่นราคาให้สูงขึ้น หรือเวลาจะขายหุ้นทิ้ง ก็มีหน้าม้าเทขาย ที่เหลือก็ขายตาม คนที่คล้อยตามคนอื่นแบบนี้เขาเรียกว่า แมงเม่า คนพวกนี้มีการศึกษา แต่ว่าก็ยังไม่สามารถหลุดจากสัญชาตญาณเดิมได้ คือการคล้อยตามฝูง เพราะฉะนั้น สติจึงสำคัญมาก ถ้าเราไม่มีสติก็จะคล้อยตามคนอื่นจนผิดทิศผิดทาง การคล้อยตามจนตอบคำถามผิด ๆ ผลเสียอาจไม่เท่าไร แต่ถ้าไปคล้อยตามเรื่องอื่นอาจเกิดผลเสียหายร้ายแรงได้ ในแง่หนึ่ง การมีเพื่อนที่ดีก็ช่วยได้เยอะ คือช่วยทักท้วงตักเตือน แต่ว่าบางที แม้เพื่อนดีก็ผิดพลาดได้ เพราะฉะนั้นเราต้องมีความเป็นตัวของตัวเองไว้บ้าง ไม่อย่างนั้นเราก็จะโดนเขาหลอกได้ง่าย ๆ |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|