หน้ารวมบทความ
   บทความ > นิตยสาร Family > มหัศจรรย์ของชีวิตขาลง
กลับหน้าแรก
 

นิตยสาร : Family
Vol. : สิงหาคม ๒๕๔๙

คอลัมน์ Last Page : มหัศจรรย์ของชีวิตขาลง
By : รินใจ
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

หลังจากเกษียณจากราชการก่อนกำหนด ประมวล เพ็งจันทร์ ได้ทำสิ่งที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน นั่นคือเดินเท้าจากเชียงใหม่กลับไปยังบ้านเกิดที่เกาะสมุย เป็นการจาริกที่ไม่มีเงินติดตัวเลยสักสลึงเดียว หากฝากชีวิตไว้กับน้ำใจของเพื่อนมนุษย์ตามเส้นทางที่ยาวเหยียดร่วม ๑,๕๐๐ กิโลเมตร

ตลอด ๖๖ วันของการเดินทาง เขาได้พานพบประสบการณ์มากมายที่ตราตรึงใจ และให้บทเรียนล้ำค่าแก่ชีวิต หนึ่งในนั้นได้แก่ตอนที่เดินขึ้นและลงจากดอยอินทนนท์

เขาเล่าว่าขณะที่เดินขึ้นดอยอินทนนท์นั้น รู้สึกเหนื่อยมาก ความย่ำแย่ของสภาพร่างกายที่สะสมมากหลายวันทำให้เกือบจะถอดใจเพราะหายใจแทบไม่ออก รู้สึกเหมือนจะขาดใจตาย จนต้องนอนแผ่แน่นิ่ง ทั้ง ๆ ที่เหลือเพียงกิโลเมตรกว่า ๆ เขาคงจะอยู่ตรงนั้นอีกนาน หากไม่มีรถคันหนึ่งจอดรับเขาขึ้นไปถึงยอด

ขากลับเขาเดินลงมาช้า ๆ แล้วเขาก็เพิ่งสังเกตว่าสองข้างทางนั้นมีสิ่งสวยงามอยู่มากมาย ไกลออกไปก็เป็นทิวทัศน์ที่ชวนพินิจ แต่ทั้งหมดนั้นเขาไม่ทันได้มองเลยขณะที่เดินขึ้นเขา เพราะใจนึกถึงแต่ยอดดอย อยากจะไปให้ถึงจุดหมายอย่างเดียว

ระหว่างเดินลงเขาได้หยุดดูทิวทัศน์อันกว้างไกล และชื่นชมกับธรรมชาติอันงดงามสองข้างทาง จิตใจเบิกบานและเป็นสุขอย่างยิ่ง แม้ตอนนั้นร่างกายจะเจ็บปวดก็ตาม “มหัศจรรย์” คือความรู้สึกของเขาเมื่อย้อนระลึกนึกถึงประสบการณ์ยามลงเขา

“ขาลง”นั้นมีเสน่ห์แต่มักถูกมองข้าม คนส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับ “ขาขึ้น”มากกว่า เพราะมั่นใจว่ามีสิ่งใหม่ ๆ ที่ดึงดูดใจคอยอยู่ข้างบน ไม่ใช่แค่ทะเลหมอกหรือทิวทัศน์อันงดงามที่เห็นชัดเจนจากยอดดอยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความสำเร็จ ชื่อเสียง เกียรติยศ เงินทอง ยามขึ้นถึงจุดสูงสุดของชีวิต

ใคร ๆ ก็อยากให้ชีวิตของตนอยู่ในช่วงขาขึ้น เพราะหวังจะได้เสพได้ครอบครองอะไรอีกมากมายที่ยังไม่เคยประสบสัมผัส แต่น่าคิดว่ามีสักกี่คนที่เป็นสุขอย่างแท้จริงในช่วงขาขึ้น ใช่หรือไม่ว่า ส่วนใหญ่เต็มไปด้วยความเครียด เพราะใจนั้นกังวลแต่จุดหมายปลายทาง และกลัวว่าจะไปไม่ถึง แถมยังหงุดหงิดหากเห็นใครแซงไปต่อหน้าต่อตา และเป็นทุกข์มากขึ้นเมื่อมีคนถึงจุดหมายปลายทางก่อน โดยเฉพาะคนที่ออกเดินพร้อมกับตัวเอง

ความเหนื่อยอ่อนบอบช้ำของประมวลยามเดินขึ้นเขา คงไม่ต่างจากหลายคนที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ยิ่งเร่งจะให้ถึงจุดหมายปลายทางมากเท่าไร ก็ยิ่งเหนื่อยมากเท่านั้น บางคนไปไม่ถึงเพราะหมดแรงเสียก่อน ต้องพักรักษาตัวกว่าสังขารจะอำนวย แต่บางคนก็ต้องยุติการเดินทางแต่เพียงเท่านี้

อันที่จริงประสบการณ์ยามขาขึ้นไม่จำเป็นต้องเต็มไปด้วยความทุกข์ แม้จะยังไม่ถึงเป้าหมาย แต่อย่าลืมว่าสองข้างทางนั้นก็อุดมไปด้วยสิ่งต่าง ๆ มากมายที่ให้ความสุขแก่เราได้ตลอดเวลา ประมวลมาค้นพบความจริงข้อนี้ยามเดินลงเขา แต่ถ้าใจเราไม่จดจ่อกับเป้าหมายข้างหน้ามากเกินไป ในช่วงขาขึ้นเราก็สามารถเป็นสุขได้ หากรู้จักชื่นชมสิ่งดี ๆ ตามรายทางบ้าง

ความสุขนั้นมีอยู่รอบตัว แต่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็น เพราะใจจดจ่อแต่ความสำเร็จที่รออยู่ข้างหน้า ผลก็คือขณะที่ความสุขข้างหน้ายังมาไม่ถึง เรากลับละทิ้งความสุขที่มีอยู่รอบตัว ทั้ง ๆ ที่เป็นสิทธิของเราโดยชอบธรรม กลายเป็นว่าเสียสองต่อ

จะไม่ดีกว่าหรือ ขณะที่ยังไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง เราก็เปิดใจชื่นชมสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่รอบตัวหรือตามรายทาง แม้ความสุขข้างหน้ายังมาไม่ถึง แต่เราก็ได้สัมผัสกับความสุขที่มีอยู่แล้วทุกขณะ

แต่ถึงจะพลาดโอกาสนั้นไป ก็ยังไม่สาย เพราะขาลงเราก็ยังสามารถชื่นชมสิ่งดี ๆ ที่ให้ความสุขและความเบิกบานใจแก่เราได้ แต่นั่นหมายความว่าเราต้องไม่ห่วงหาอาลัยความสำเร็จที่กลายเป็นอดีตไปแล้ว หากยังมัวนึกถึงประสบการณ์อันตราตรึงใจบนยอดเขาที่ผ่านพ้นไปแล้ว ใจเราจะเปิดรับความสุขตามรายทางในยามขาลงได้อย่างไร

ขาลงไม่ใช่ประสบการณ์อันน่าเศร้า หากเราเดินลงอย่างช้า ๆ และหัดพินิจพิจารณา เราจะมีความสุข เป็นสุขที่อาจจะยิ่งกว่าช่วงขาขึ้นหรือเมื่อถึงจุดสูงสุดของการเดินทางเสียอีก เพราะใจเป็นอิสระจากความคาดหวังทั้งปวง

ในยามนี้แหละที่เราอาจพบกับ “มหัศจรรย์” ของชีวิต ที่ไม่เคยนึกฝันมาก่อน

รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล วิสาโล www.visalo.org  korobiznet เอื้อเฟื้อพื้นที่   
webmaster    ๒๕๕๒ All Rights ไม่ Reserved