![]() |
พุทธศาสนากับภารกิจในยุคโลกาภิวัตน์ ข่าวสารกัลยาณธรรม |
ไม่ว่ามนุษยชาติจะ “ก้าวหน้า”ไปมากมายเพียงใด วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะล้ำหน้าไปเพียงไหนก็ไม่มีวันที่มนุษย์จะหลีกหนีประเด็นทางด้านศาสนาหรือจิตวิญญาณไปได้ ถึงแม้ว่าการดำรงอยู่ของจิตวิญญาณ จะถูกตั้งคำถามหรือถึงกับปฏิเสธโดยวิทยาศาสตร์ก็ตาม แรงผลักดันทางจิตวิญญาณจะยังคงอยู่เบื้องหลัง การต่อสู้ดิ้นรนและความพากเพียรพยายามทั้งหลายของมนุษย์อยู่นั่นเอง แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะ ดูเหมือนเป็นเรื่อง “ทางโลก” ก็ตาม ดังเดวิด โนเบิลได้ชี้ว่า แรงผลักดันที่อยู่เบื้องหลัง ความก้าวหน้าทาง วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของตะวันตกตั้งแต่ยุคกลางมากระทั่งปัจจุบัน ก็คือความเชื่อว่าพระคริสต์ จะกลับมา และปกครองโลก ให้สงบร่มเย็น ๑,๐๐๐ ปีก่อนถึงวันพิพากษา และมนุษย์จะได้รับความเป็นเทพ และความ สมบูรณ์พร้อมกลับคืนมา(หลังจากที่สูญเสียไปเมื่อครั้งอาดัมและอีฟถูกพระเจ้าขับไล่จากสวรรค์) ผู้บุกเบิก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีตะวันตก ไปจนถึงนักวิทยาศาสตร์ ชั้นนำของตะวันตกทั้งในอดีต และปัจจุบัน จำนวนไม่น้อยมีความเชื่อดังกล่าวเป็นแรงบันดาลใจ อาทิ โรเจอร์ เบคอน มองว่า ”ความก้าวหน้า ทาง เทคโนโลยีจะต้องเป็นไปเพื่อจุดมุ่งหมายทางจิตวิญญาณอันได้แก่ความหลุดพ้น ในอีกด้านหนึ่งก็เพื่อ เป็นวิธีฟื้นความรู้ในธรรมชาติซึ่งเป็นเทวสมบัติที่เป็นมรดกของมนุษย์ เป็นฉายาคล้ายพระเจ้าที่มีมาแต่ดั้งเดิม และอีกด้านหนึ่งก็เพื่อเป็นอุปกรณ์ในการเอาชนะพวกต่อต้านพระคริสต์เพื่อการบังเกิดขึ้นของอาณาจักร พระเจ้า“ ๓๐๐ ปีให้หลังฟรานซิส เบคอนก็ยังแสดงความมุ่งมั่นว่า “ประตูสู่อาณาจักรของมนุษย์ ที่มีวิทยาศาสตร์เป็นรากฐาน มิใช่อะไรอื่นหาก เป็นประตูสู่ อาณาจักรสวรรค์” จวบจนกระทั่งปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์เป็นอันมากในวงการอวกาศ ปัญญาประดิษฐ์ พันธุวิศวกรรม และระเบิดปรมาณูก็ยัง ได้รับอิทธิพลจากความเชื่อดังกล่าว ใช่แต่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปรากฏการณ์ในประวัติศาสตร์ ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องทาง โลก อาทิ การเกิดขึ้นของรัฐชาติ ทุนนิยม ประชาสังคมก็ล้วน เป็นผลจาก การพยายามตอบสนองความต้องการทางจิตวิญญาณซึ่งศาสนาดั้งเดิมไม่สามารถตอบสนองได้ ดังเดวิดลอยได้ชี้จากการศึกษาประวัติศาสตร์ตะวันตก ความต้องการทางจิตวิญญาณดังกล่าว ในทัศนะของเดวิด ลอยซึ่งใช้มุมมองแบบพุทธ ผนวกกับ จิตวิเคราะห์ ก็คือความปรารถนาที่จะขจัดความรู้สึกพร่องอันเกิดจากความรู้สึกลึก ๆ ว่าตัวตนนั้นไม่มีอยู่จริง ซึ่งเป็นความรู้สึกที่รบกวนจิตใจยิ่งกว่าความกลัวตายเสียอีก ความรู้สึกพร่อง ดังกล่าวครั้งหนึ่งศาสนาคริสต์ คยช่วยบำบัดได้ แต่เมื่อเกิดการปฏิรูปศาสนา(Reformation) โดยมาร์ติน ลูเธอร์ ศาสนจักรคาทอลิกก็เสื่อม อิทธิพลลงไป ความวิตกกังวลในหมู่ผู้คนเกิดขึ้นทั่วยุโรป เพราะไม่มีวิธีการใหม่มาแทนที่ศาสนจักรในการแก้ไข วามรู้สึกพร่อง ขณะเดียวกันความเชื่อ อย่างโปรเตสแตนท์ซึ่งทำให้ พระเจ้าอยู่ไกลจากโลกมากขึ้น ได้ทำให้เกิด สุญญากาศทางด้านจิตวิญญาณ ในภาวะดังกล่าว กษัตริย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้กำเนิดขึ้นมา เพื่อมาทดแทนพระเจ้าในโลกนี้ ตามมาด้วยรัฐชาติ ซึ่งทรงอำนาจ รัฐชาตินี้เองที่ได้กลายมาเป็น ที่ยึดเหนี่ยวของผู้คนในการขจัดความรู้สึกพร่อง โดยการยึดติดกับรัฐเพื่อทำให้รู้สึกว่าตัวตนนั้นมีอยู่จริง กล่าวอีกนัยหนึ่งรัฐได้กลายเป็นพระเจ้าองค์ใหม่ แต่พระเจ้าองค์ ใหม่ไม่ได้มีแค่องค์เดียว ทุนนิยมแบบบรรษัท (corporate capitalism) และวิทยาศาสตร์แบบจักรกล ( mechanistic science) เป็นพระเจ้าองค์ใหม่ ที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาทางจิตวิญญาณดังกล่าว เดวิด ลอยได้สรุปว่าความมุ่งหวังแบบโลก ๆ ซึ่งได้กลายเป็นความติดยึดหมกมุ่นของตะวันตกใน ช่วงหลาย ร้อยปีที่ผ่านมา แท้ที่จริงเป็นอาการของความต้องการ ทาง จิตวิญญาณที่ไม่ได้รับการตอบสนอง กล่าวอีกนัยหนึ่ง “ประวัติศาสตร์ของตะวันตกมิใช่เรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกิยวิสัยทีละน้อย ๆเพราะแท้จริงแล้ว เราไม่สามารถหลีกหนีความรู้สึกพร่องและความต้องการไปพ้นจากมัน. ที่จริงแล้ว ประวัติศาสตร์ของเราเป็น เรื่องของการพยายามใช้วิธีการทางโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อแก้ความรู้สึกพร่องนี้” มนุษย์เราไม่ได้แค่ต้องการที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจเฉย ๆ แต่ต้องเป็นสิ่งที่สามารถ บำบัด ความต้องการ ทางจิตวิญญาณได้ ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไรก็ตาม ดังนั้นศาสนาแบบโลก ๆหรืออุดมการณ์ทางโลก ที่กลายมา เป็นศาสนาศาสนาเทียมจึงหาใช่คำตอบสุดท้ายที่มนุษย์ต้องการไม่ แน่นอนว่าในอนาคต ศาสนาแบบโลก ๆ จะยังมีอยู่ต่อไป แต่มันย่อมไม่ใช่ศาสนาที่ยั่งยืน ทั้งมิใช่ศาสนาอย่างเดียวที่จะมีอยู่ในโลก ความคิดที่ว่า ศาสนาในอนาคตจะได้แก่อุดมการณ์หรือค่านิยมแบบโลก ๆ เช่น ประชาธิปไตย เหตุผล ความเสมอภาค ดังที่มีผู้คาดทำนายไว้เมื่อต้นศตวรรษที่แล้ว จึงเป็นความคิดที่พ้นสมัยและไม่มีวันเป็นจริงได้ ศาสนาที่ยั่งยืน ในอนาคตคือศาสนาที่ยอมรับมิติทางจิตวิญญาณของมนุษย์ เชื่อในสภาวะพ้นโลก และเชื่อว่ามนุษย์ มีศักยภาพที่จะเข้าถึงสภาวะดังกล่าว ไม่ว่าจะเรียกว่าพระเจ้า นิพพาน หรืออะไรก็ตาม แต่ศาสนาดังกล่าว จะไม่ใช่มีแค่ศาสนาเดียว หรือมีแค่ศาสนาหลัก ๆ ไม่กี่ศาสนาดังแต่ก่อน หากจะมีความหลากหลาย มากขึ้น แต่จะมีรูปลักษณ์อย่างไรนั้นเป็นเรื่องที่เกินกว่าปุถุชนจะคาดทำนายได้ ความจำเป็นต้องมีการปฏิรูปศาสนา ศาสนาสามารถทำให้เกิดความสุขสงบในจิตใจ (แต่จะมากหรือน้อย ชั่วคราวหรือถาวร ขึ้นอยู่กับว่าสามารถเข้าใจธรรมชาติความทุกข์ของมนุษย์ได้เพียงใด) แต่ในโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งปรนเปรอ ทางวัตถุและความสนุกสนานบันเทิงที่ได้มาโดยฉับพลัน ความสุขสงบในจิตใจกลับเป็นสิ่งที่หาได้ยาก ผู้คนเป็นอันมากเชื่อว่าเงินตราและสิ่งเสพจะทำให้มีความสุข แต่แม้จะมีเงินมากเท่าไหร่ ก็หาได้มีความสุข เพิ่มขึ้นไม่ เคยมีการวิจัยในสหรัฐอเมริกาโดยสอบถามผู้คนว่าอะไรจะช่วยให้เขามี ความสุขมากขึ้น คำตอบก็คือมีเงินมากขึ้น แต่เมื่อมีเงินมากขึ้น ก็จะพบว่าชีวิตก็ไม่ได้มีความสุขมากขึ้นเลย อาจเป็นทุกข์กว่าเดิมด้วยซ้ำ ความทุกข์ท่ามกลางความมั่งคั่งนี้เอง ที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากขึ้น ตระหนักว่าศาสนาอาจเป็นคำตอบได้ แต่ศาสนาเป็นอันมากก็ไม่สามารถ ให้ความสงบอย่างที่ต้องการได้ ส่วนหนึ่งเพราะไปติดยึดกับ ประเพณีและ รูปแบบ ซึ่งเป็นเพียงเปลือกนอกของศาสนา จนละเลยบทบาทที่ สำคัญกว่าอันได้แก่การบำบัดความทุกข์ ทางจิตวิญญาณ ยิ่งกว่านั้นสถาบันศาสนาจำนวน ไม่น้อยก็กลับถูกอิทธิพลของบริโภคนิยมครอบงำจนไม่เป็นที่ ศรัทธานับถือของผู้คน หากบริโภคนิยมสามารถตอบสนองความต้องการทางจิตวิญญาณได้ ศาสนาก็ไม่มีความจำเป็น แต่บริโภคนิยมได้พิสูจน์ตนเองว่าไม่สามารถบำบัดทุกข์ของมนุษย์ได้อย่างแท้จริง ซ้ำกลับสร้างความ ทุกข์ ให้เพิ่มพูนขึ้น ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ศาสนาจะก้าวเข้ามาเป็นทางเลือกให้แก่มนุษย์ในยุคโลกาภิวัตน์ ศาสนาใหญ่ ๆ ของโลกในเวลานี้มีศักยภาพที่จะทำเช่นนั้นได้ แต่นั่นหมายความว่าศาสนาดั้งเดิมเหล่านี้ จะต้องมีการปฏิรูปตนเองให้ปลอดพ้นจากการครอบงำของบริโภคนิยมและสามารถที่จะกลับไปหาแรงบันดาลใจทางด้านจิตวิญญาณที่ศาสดาทั้งหลายได้วางรากฐานไว้ แล้วนำกลับมาถ่ายทอดให้แก่ มนุษย์ในยุคนี้ได้อย่าง สมสมัย โดยไม่ติดกับอดีต ขณะเดียวกันก็ควรเรียนรู้จากศาสนาใหม่ ซึ่งมีความยืดหยุ่นและฉับไว ในการ ตอบสนองความต้องการของผู้คนได้มากกว่า อย่างไรก็ตามศาสนาใหม่นั้นมีแนวโน้ม ที่จะลงร่องเช่นเดียว กับศาสนาเก่า จนขาดชีวิตชีวาและขาดพลังในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเอง ดังนั้นจึงต้องพร้อมที่ จะปฏิรูปตนเองอยู่เสมอด้วย แม้ว่าบทบาททางด้านจิตวิญญาณของศาสนาจะเป็นสิ่งสำคัญในยุคโลกาภิวัตน์ แต่ก็ต้องไม่ละเลย ความต้องการทางด้านวัตถุและสังคมของมนุษย์ บทบาททางจิตวิญญาณ ต้องไม่แยกจากบทบาท สงเคราะห์ทางด้านวัตถุและสังคม เพราะความผาสุกทางด้านจิตวิญญาณนั้นสัมพันธ์อย่างยิ่งกับ ความผาสุกทางวัตถุและสังคม ปรากฏการณ์ใน ๓ ทศวรรษที่ผ่านมาได้ชี้ให้เห็นว่าการตอบสนอง ความต้องการทางวัตถุเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จของกลุ่มศาสนาเป็นอันมาก ไม่ว่าขบวนการเคร่งจารีต หรือขบวนการศาสนาใหม่ ความจริงศาสนาในอดีตได้มีบทบาททั้งด้านวัตถุ สังคมและจิตวิญญาณโดย ไม่แยกจากกัน การแยกบทบาททางด้านจิตวิญญาณให้แก่ศาสนา และบทบาททางวัตถุและสังคมให้ แก่สถาบันทางโลก เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคหลังนี้เอง การกลับมาของศาสนาในปัจจุบันแยกไม่ออกจากการ กลับมาของแนวทางแบบองค์รวมดังได้กล่าวมา ในทำนองเดียวกันอนาคตของศาสนา ก็อยู่ที่ว่าจะให้ ความสำคัญ แก่การตอบสนองความต้องการของมนุษย์อย่างเป็นองค์รวมได้มากน้อยเพียงใด ทั้งหมดนี้เป็นภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับพุทธศาสนาด้วยเช่นกัน การแพร่สะพัดของบริโภคนิยมในสังคมไทยปัจจุบันมิใช่อะไรอื่น หากเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความล้มเหลวของพุทธศาสนาในการตอบสนองความต้องการทางจิตใจของผู้คน แน่นอนว่าการคล้อยตามบริโภคนิยมอย่างที่วัดวาอารามไม่น้อยกำลังทำอยู่ในปัจจุบันมิใช่ทางออกที่พึงประสงค์ ทางออกสำหรับพุทธศาสนาจักต้องเริ่มต้นจากการปฏิรูปสถาบันสงฆ์ ทั้งด้านการปกครองและการศึกษา เพื่อสนับสนุนให้พระสงฆ์เป็นผู้นำในทางจริยธรรมและสามารถชี้นำผู้คนให้เข้าถึงความสงบสุขภายในท่ามกลางความผันผวนไม่แน่นอนของกระแสโลกาภิวัตน์ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้พระสงฆ์เป็นผู้นำทางสติปัญญาให้แก่ชุมชนในการแก้ไขปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ อนุรักษ์สภาพแวดล้อม และสร้างความสามัคคีกลมเกลียว บทบาทดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในการนำธรรมะกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน และช่วยฟื้นฟูศาสนาให้กลับมามีความสำคัญต่อสังคม แต่นอกจากการปรับปรุงสถาบันสงฆ์แล้ว สิ่งที่ควรทำควบคู่กันก็คือการฟื้นฟูหลักธรรมทางด้าน อย่างไรก็ตามการส่งเสริมให้ผู้คนมีสำนึกต่อส่วนรวม และช่วยกันสร้างสรรค์สังคมให้ดีงาม ก็เป็นบทบาทอีกด้านหนึ่งของพุทธศาสนาที่จะมองข้ามไปไม่ได้ ที่จริงนี้เป็นหลักการที่สำคัญของพุทธศาสนา แต่ถูกละเลยไปเช่นกัน จนผู้คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่าพุทธศาสนาเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่เกี่ยวกับสังคม เหมาะสำหรับผู้ต้องการหลีกเร้นจากสังคม ความคิดเช่นนี้ทำให้พุทธศาสนาถูกตีกรอบให้แคบลง และนับวันจะตกอยู่ในวงล้อมของบริโภคนิยม ท่ามกลางความเสื่อมโทรมของสังคมและความทุกข์ยากของผู้คน การรื้อฟื้นหลักธรรมคำสอนเกี่ยวกับจริยธรรมทางสังคม เป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้พุทธศาสนาในเมืองไทยมีพลังในการสร้างสรรค์สังคม และบำบัดความทุกข์ของผู้คนทั้งในทางวัตถุและจิตใจ ดังที่ได้เคยมีบทบาทในอดีตมาแล้วโดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำ ต่อเมื่อพุทธศาสนาสามารถปฏิรูปตนเองจนสามารถตอบสนองความต้องการของผู้คนทั้งทางวัตถุ สังคม และจิตใจ พุทธศาสนาถึงจะเป็นคำตอบของผู้คนและมีอนาคตสดใสในยุคโลกาภิวัตน์ |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|