โพสต์ทูเดย์ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๓ ศิลปะกับพุทธศาสนา
แบ่งปันบน
facebook Share
---------------------------------------------------------- |
ศิลปะเป็นเรื่องของความงาม ซึ่งสามารถสร้างความตื่นตาตื่นใจจนเกิดอาการตะลึงงัน หรือสะกดใจให้เกิดความลุ่มหลง อยากชิดใกล้ใคร่ครอบครอง (พุทธศาสนาเรียกว่าราคะ) แต่ในอีกด้านหนึ่ง ศิลปะสามารถเป็นสื่อให้เราเข้าถึงความดีและความจริงได้ กล่าวคือบันดาลใจให้เกิดศรัทธาในสิ่งดีงาม หรือน้อมใจให้เกิดความสงบ เกิดกำลังใจใฝ่ฝันอย่างมั่นคงในอุดมคติ อีกทั้งสามารถเปิดเผยความจริงของชีวิตให้เราได้ประจักษ์ รู้เท่าทันมายาจนละวางได้ ศิลปะชั้นครูยังสามารถยกจิตสู่สภาวะเหนือโลกเหนือสามัญ (transcendence) คือสภาวะที่จิตได้สัมผัสกับความจริงขั้นสูงสุดหรือปรมัตถ์ เช่น ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติและจักรวาล สภาวะที่อัตตาตัวตนได้เลือนหาย ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างฉันกับโลกอีกต่อไป อยู่เหนือสมมติบัญญัติหรือความจริงแบบทวินิยม (dualism) เป็นสภาวะที่จิตเปี่ยมด้วยเมตตากรุณาอย่างไม่มีประมาณ มองในแง่นี้ศิลปะมิใช่สิ่งตรงข้ามกับศาสนา แต่สามารถเป็นสื่อนำผู้คนเข้าถึงมิติที่ลึกซึ้งสูงสุดในทางศาสนธรรมได้ แม้จะเป็นแค่ประพิมพ์ประพายก็ตาม ตรงนี้เองคือจุดบรรจบระหว่างศิลปะกับพุทธศาสนา และเป็นที่มาของพุทธศิลป์ทั้งปวง เมื่อคน ๆ หนึ่งซึ่งมีความทุกข์ใจ ท้อแท้ในชีวิต ได้มานั่งอยู่เบื้องหน้าพระพุทธรูปในวิหาร เพียงแค่ได้เห็นพระพักตร์อันสงบนิ่ง เปล่งประกายแห่งความเมตตา ท่ามกลางความเงียบ ความรุ่มร้อนใจก็พลันหาย ราวกับมีน้ำเย็นมาชโลมใจ เกิดความสงบรำงับ นี้คืออานุภาพแห่งพุทธศิลป์ที่สามารถเสริมสร้างพลังด้านบวกในใจเราได้ ศิลปะที่แท้ย่อมเป็นสากล สามารถสื่อตรงถึงใจของคนทุกยุคทุกสมัยและทุกวัฒนธรรมได้ บาทหลวงโทมัส เมอร์ตัน เมื่อได้มาถึง คัลวิหารหรือวิหารหินที่เมืองโปลนนารุวะ ประเทศศรีลังกา ท่านถึงกับตะลึงราวถูกตรึงใจให้แน่นิ่ง เพราะเบื้องหน้าของท่านคือพระพุทธรูปที่สลักจากหินผาสี่องค์ในปางต่าง ๆ โดยเฉพาะปางรำพึงซึ่งสูงเจ็ดเมตร พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นประสานที่พระอุระ และมีรอยยิ้มน้อย ๆ บนพระพักตร์ที่อิ่มเอิบสงบนิ่ง บาทหลวงเมอร์ตันพูดถึงพระพักตร์เหล่านั้นว่า เต็มเปี่ยมไปด้วยทุกอย่างที่จะเป็นไปได้ ศิลปะที่สุดยอดนั้นคือความงดงามที่กล่อมเกลาจิตให้สงบ นิ่ง และเย็น เข้าถึงภาวะที่โปร่งเบา และสัมผัสกับมิติอันลึกซึ้งภายใน รองลงมาก็คือศิลปะที่ถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมคุณธรรมความดี เช่น ชาดกหรือนิทานตามจิตรกรรมฝาผนัง แต่คุณค่าของศิลปะมิได้มีเพียงเท่านั้น หากยังสามารถนำพาให้ผู้คนซาบซึ้งถึงสัจธรรมของชีวิตด้วย สัจธรรมหรือความจริงนั้นมีสองระดับ คือ ความจริงแบบสมมติ (สมมติสัจจะ) กับความจริงแบบปรมัตถ์ (ปรมัตถสัจจะ) นาย ก. เป็นรัฐมนตรี นาย ข. เป็นชาวนา นี่เป็นความจริงแบบสมมติ แต่เมื่อพูดถึงความจริงระดับปรมัตถ์แล้ว ทั้งสองคนไม่ได้ต่างกันเลย เพราะต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย และเป็นการก่อรูปจากขันธ์ห้าเช่นเดียวกัน หน้าที่อย่างหนึ่งของศิลปะคือการเปิดใจให้คนเห็นความจริงขั้นปรมัตถ์ ไม่หลงติดอยู่กับสมมติ ศิลปะชงชาของญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ ใครที่ร่วมพิธีชงชาจะถูกย้ำเตือนให้ตระหนักความจริงข้อนี้ เพราะไม่ว่าจะมีอำนาจสูงส่งเพียงใด เมื่อเข้าสู่พิธีชงชาก็มีสถานภาพเสมอกันหมด แม้บางคนจะขัดขืนปฏิเสธ แต่ ก็ต้องถูกพิธีนี้บังคับให้จำต้องยอมรับจนได้ เพราะทางเข้าเรือนชงชานั้นต่ำมาก จนแม้แต่จักรพรรดิหรือโชกุนก็ต้องก้มหัวเข้าไปเช่นเดียวกับสามัญชน ความจริงยังสามารถแบ่งออกเป็น ความจริงแบบเฉพาะ และความจริงที่เป็นสากล งานศิลปะหลายชิ้นมีชื่อเสียง เป็นที่ยกย่องเพราะเปิดเผยสภาวะทางจิตของคนร่วมสมัย เช่น ความทุกข์ ความเหงา ความโดดเดี่ยว อย่างมีพลัง ชนิดที่สัมผัสได้ด้วยใจ ทำให้เกิดอารมณ์สะเทือนไหว แต่มีงานศิลปะอีกหลายชิ้นที่ถ่ายทอดความจริงที่เป็นสากล เป็นอกาลิโก เช่น ความไม่เที่ยง ความพลัดพราก ที่มนุษย์ทุกคนต้องประสบ หรือพลังแห่งความกรุณาปราณีที่โอบอุ้มมนุษยชาติเอาไว้ บ้างก็เปิดใจให้เราเห็นอานุภาพแห่งธรรมะหรือสิ่งสูงสุด ที่ทำให้เรามีความหวังแม้ในยามมืดมิดที่สุดของชีวิต งานศิลปะชั้นครู เมื่อเปิดเผยความจริงให้เราสัมผัส ไม่ว่าความจริงเฉพาะหรือความจริงอันสากล มักก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในอันที่จะทำสิ่งดีงาม งานบางชิ้นถ่ายทอดโศกนาฏกรรมของเพื่อนมนุษย์ได้อย่างสะเทือนใจ จนเราไม่อาจอยู่นิ่งเฉยได้ เพราะรู้สึกถึงแรงผลักจากมโนธรรมภายในให้อยากทำบางอย่างเพื่อช่วยเหลือเขา ดังนั้นนอกจากความงามและความจริงแล้ว ศิลปะยังสามารถเป็นสื่อกระตุ้นให้เกิดความดีขึ้นได้ ความงาม ความจริง และความดีจึงมิใช่สิ่งที่แยกจากกัน กล่าวได้ว่าหน้าที่สูงสุดของศิลปะก็คือ ประสานความงาม ความดี และความจริงให้เป็นหนึ่งเดียวกันนั่นเอง ความดีสูงสุดนั้นเรียกอีกอย่างว่าอุดมคติ พุทธศิลป์ชั้นเลิศนั้นสามารถถ่ายทอดอุดมคติลงไปในใจของผู้คนเพื่อยึดถือเป็นจุดหมายสูงส่งของชีวิต สำหรับพุทธศาสนาชีวิตที่สูงส่งคือชีวิตที่กอปรด้วยปัญญาและกรุณา ปัญญาคือความรู้ความเข้าใจความจริงของชีวิตจะเป็นอิสระจากความผันผวนปรวนแปรของโลกได้ ส่วนกรุณาคือความรักความปรารถนาดีต่อสรรพชีวิต โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง และไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตน อุดมคติดังกล่าวมักถ่ายทอดผ่านพระพุทธรูปซึ่งเป็นตัวแทนของบุคคลที่พัฒนาตนจนถึงอุตมภาวะอย่างเต็มศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ วิหารอานันทะในเมืองพุกาม ประเทศพม่า เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปเก่าแก่ที่มีอายุนานนับพันปี หนึ่งในสององค์นั้นนักท่องเที่ยวชาวไทยเรียกว่า พระยิ้ม-บึ้ง เนื่องจากหากมองไกลจะเห็นพระพักตร์แย้มยิ้ม แต่ถ้าเดินเข้าไปใกล้ ๆ จะพบว่ารอยยิ้มแปรเปลี่ยนไป ตามสายตาของคนส่วนใหญ่ ภาพที่เห็นคือพระพักตร์ที่ บึ้ง แท้จริงหากมองอย่างพินิจ พระพักตร์ที่มองจากมุมใกล้นั้น หามีอาการบึ้งไม่ หากเป็นพระพักตร์ที่สงบต่างหาก จะถูกต้องกว่าหากเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระยิ้ม-สงบ เหตุใดพระพุทธรูปองค์เดียวจึงมีสองลักษณะเมื่อมองจากต่างมุม คำตอบน่าจะเป็นเพราะช่างโบราณนั้นประสงค์ที่จะแสดงพุทธคุณสองประการอันเป็นอุดมคติของมนุษย์ ได้แก่ พระกรุณาคุณ และพระปัญญาคุณ พระกรุณาคุณนั้นแสดงออกด้วยพระพักตร์ที่แย้มยิ้ม เปี่ยมด้วยความรักต่อสรรพชีวิต ใครที่รอนแรมจากที่ไกลเมื่อได้เห็นย่อมรู้สึกอบอุ่นใจ ใครที่มีความทุกข์ใจ ย่อมมีความหวังว่าจะได้รับการปกปักรักษาจากพระองค์ ส่วนพระปัญญาคุณนั้นแสดงออกด้วยพระพักตร์ที่สงบนิ่งเมื่อมองจากมุมใกล้ เป็นอาการของผู้รู้แจ้งความเป็นไปของโลก จึงไม่หวั่นไหวในสุขหรือทุกข์ โลกธรรมไม่ว่าบวกหรือลบจึงไม่สามารถทำอะไรพระองค์ได้ ผู้ใดที่พินิจพระพุทธรูปพระองค์นี้ด้วยใจที่ใคร่ครวญ ย่อมตระหนักชัดว่า สิ่งที่พึงยึดถือเป็นอุดมคติของชีวิตนี้ก็คือการบ่มเพาะปัญญาและกรุณาให้เจริญมั่นคงในใจ เพราะเราจะพ้นทุกข์ได้ก็ต่อเมื่อมีปัญญารู้แจ้งความจริงของชีวิตว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จึงไม่ยึดติดในโลกหรือสังขารทั้งปวง และเมื่อพ้นทุกข์ ละวางตัวตน ไร้ซึ่งความเห็นแก่ตัวทั้งปวง จึงมีจิตกรุณาต่อสรรพสัตว์ไม่มีที่สุดประมาณ ปรารถนาช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ อย่างไรก็ตาม ศิลปะมิได้น้อมนำจิตใจให้เข้าถึงความดีและความจริงโดยผ่านการเสพเท่านั้น การสร้างสรรค์ศิลปะก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่นำพาผู้คนบรรลุถึงความดีและความจริงได้ มองในมุมของพุทธศาสนา การสร้างสรรค์ศิลปะมิควรเป็นไปเพื่อประกาศตัวตน หรือเพื่อแสวงหาลาภสักการะ หรือชื่อเสียงเกียรติยศ หากควรมุ่งประโยชน์ส่วนรวม หรือเพื่อความเจริญมั่นคงแห่งพระศาสนา ดังนั้นช่างที่สรรค์สร้างพุทธศิลป์ในอดีตจึงอุทิศตนให้กับงานของตนอย่างเต็มที่ โดยไม่คิดจะจารึกชื่อไว้ในนฤมิตกรรมเหล่านั้นเพื่อให้โลกหรือคนรุ่นหลังรู้จักเลย นอกจากการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวมแล้ว การสร้างสรรค์ศิลปะยังเป็นวิถีแห่งการฝึกฝนพัฒนาตนด้วย ช่างสมัยก่อนไม่เพียงถือศีล บำเพ็ญพรต และเจริญสมาธิก่อนสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นพุทธศิลป์เท่านั้น หากยังอาศัยงานศิลปะนั้นเป็นเครื่องฝึกจิตไปด้วย เช่น น้อมใจให้มีสมาธิ หรือฝึกจิตให้เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ในพุทธศาสนาแบบเซน นักปฏิบัติบางคนวาดต้นไผ่นานนับสิบปี เพื่อเป็นหนึ่งเดียวกับต้นไผ่ และในที่สุดก็ไม่มีแม้กระทั่งความสำนึกว่าตนเป็นหนึ่งเดียวกับต้นไผ่ ถึงตรงนี้ผลงานจะเป็นอย่างไรไม่สำคัญเท่ากับสภาวะหรือภูมิจิตของผู้วาด บทสรุป ชีวิตนั้นมีหลายมิติ เราแต่ละคนมีสัมพันธภาพที่หลากหลาย ในฐานะปัจเจกบุคคล เราต้องสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัว อาทิ ผู้คน สังคม และธรรมชาติ ขณะเดียวกันเราก็ต้องไม่ละเลยชีวิตด้านในจนแปลกแยกกับตัวเอง จะทำเช่นนั้นได้ เราต้องสัมพันธ์กับสิ่งสูงสุดด้วย สำหรับชาวพุทธ สิ่งสูงสุดดังกล่าวได้แก่เป็นปรมัตถสัจจะ และนิพพาน หากสัมพันธภาพกับผู้คน สังคม และธรรมชาติ เป็นสัมพันธภาพแนวนอน สัมพันธภาพแนวตั้ง เบื้องล่างคือสัมพันธภาพกับชีวิตด้านใน เบื้องบนคือสัมพันธภาพกับสิ่งสูงสุด ในฐานะที่เป็นสะพานพาเราให้เข้าถึงความงาม ความจริง และความดี ศิลปะคือสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เรามีสัมพันธภาพกับสรรพสิ่งอย่างรอบด้าน ทำให้เราเห็นคุณค่าของธรรมชาติ เห็นมนุษย์ทุกคนเป็นพี่น้องกัน หยั่งลึกถึงจิตวิญญาณของตน และเข้าถึงสิ่งสูงสุดได้ ศาสนามีความหมายกับชีวิตอย่างไร ศิลปะก็มีความหมายอย่างนั้นกับเรา ชีวิตที่ดีงามกับศิลปะจึงไม่อาจแยกจากกันได้ ศิลปะช่วยให้ความเป็นมนุษย์ของเราสมบูรณ์และงดงามได้ |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|