|
|
สันติวิธีมิใช่การยอมจำนนหรืออยู่นิ่งเฉย ปล่อยให้อีกฝ่ายมากระทำโดยไม่ตอบโต้ แท้ที่จริงสันติวิธีคือการตอบโต้อีกแบบหนึ่งโดยไม่ใช้ความรุนแรง ทั้งนี้เพื่อหยุดยั้งพฤติกรรมอันไม่ถูกต้องหรือเพื่อปรับเปลี่ยนสถานการณ์ให้เป็นไปในทางสันติ สันติวิธีไม่ได้หมายถึงการหนีปัญหา แต่เป็นการเผชิญกับปัญหา และบ่อยครั้งต้องมีการเผชิญหน้ากับคู่กรณีโดยปราศจากอาวุธ ดังนั้นจึงต้องอาศัยความกล้าหาญและความเด็ดเดี่ยว ขณะเดียวกันสันติวิธียังหมายถึงการสร้างเงื่อนไขที่ยุติความรุนแรง หรือขจัดเงื่อนไขที่ส่งเสริมพฤติกรรมอันเป็นปัญหา ดังนั้นจึงต้องอาศัยปัญญาที่เข้าใจกระจ่างชัดในรากเหง้าของปัญหาและสามารถคิดค้นมาตรการที่สร้างสรรค์ได้ สถานการณ์ในภาคใต้ตอนนี้ไม่ต่างจากกองไฟที่กำลังใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากมีการสาดน้ำมันเข้าไปอย่างต่อเนื่อง ความรุนแรงที่ฝ่ายรัฐได้ใช้ทั้งโดยเปิดเผยและปิดลับ โดยเฉพาะในกรณีกรือเซะ ตากใบ และการอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร ได้ทำให้สถานการณ์ในภาคใต้เลวร้ายลงเป็นลำดับ ผู้ไม่หวังดีเข้าใจในเรื่องนี้เป็นอย่างดีจึงพยายามทุกอย่างเพื่อยั่วยุให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรง เพราะจะยิ่งทำให้รัฐบาลมีศัตรูและถูกโดดเดี่ยวมากขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อใดก็ตามที่ใช้ความรุนแรงอย่างแพร่หลาย ประชาชนผู้บริสุทธิ์ยิ่งจะได้รับเคราะห์ และถึงแม้จะกระทำถูกตัว แต่หากทำเกินเลยไป (ซึ่งมักเกิดขึ้นเสมอ) ก็ย่อมได้รับความโกรธแค้นชิงชังและถูกต่อต้านจากมหาชน ดังกรณีผู้ชุมนุมที่ตากใบซึ่งมีความผิดอย่างมากก็แค่ถูกจับกุม ไม่ถึงกับต้องตายอย่างน่าอเนจอนาถ ความรุนแรงนั้นขจัดได้แค่ตัวบุคคล แต่ไม่สามารถขจัดรากเหง้าของปัญหาได้ แม้ผู้ร้าย จะตายไป แต่ถ้ารากเหง้าของปัญหายังคงอยู่ ก็จะมีผู้ร้ายอีกหลายคนเกิดขึ้นตามมา แต่ปัญหาหรือข้อจำกัดของวิธีรุนแรงมิใช่มีแค่นั้น ที่ร้ายกว่านั้นก็คือในกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐเองก็ยังไม่รู้ว่า ใครบ้างที่เป็นผู้ร้าย แม้แต่จะจำแนกว่า เหตุร้ายที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งเป็นฝีมือของผู้ต้องการแบ่งแยกดินแดน หรือผู้มีอิทธิพล หรือผู้ค้ายาเสพติด หรืออาชญากรธรรมดา (หรือคนในเครื่องแบบ) กันแน่ ก็ยังยากที่จะทำได้ รัฐบาลเองก็ยอมรับว่ากำลังสู้กับศัตรูที่มองไม่เห็นตัว เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว จะใช้ความรุนแรงให้ได้ผลได้อย่างไร ยิ่งใช้ก็ยิ่งเกิดผลเสียสะท้อนกลับมา เพราะมีโอกาสที่จะพลาดมากกว่าทำถูก และเมื่อพลาดแล้วก็ไม่อาจแก้ไขได้เพราะชีวิตที่ตกล่วงไปแล้วย่อมไม่สามารถเอากลับคืนมาได้ ถึงที่สุดแล้วกรณีความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คำถามว่า ใครทำ ? สำคัญน้อยกว่าคำถามว่า ทำไมเขาถึงทำ? และ อะไรเป็นเงื่อนไขให้เขาทำได้? ตรงนี้ทำให้สันติวิธีเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากสำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะในขณะที่ความรุนแรงจะใช้ได้ต่อเมื่อรู้ว่าใครเป็นผู้ร้าย (ซึ่งรัฐเองยังมืดแปดด้าน) แต่สันติวิธีนั้นมุ่งที่การขจัดเงื่อนไขแห่งความรุนแรงยิ่งกว่าการขจัดตัวบุคคล ดังนั้นถึงแม้ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร แต่ก็มีช่องทางอีกมากที่จะเปลี่ยนสถานการณ์จากร้ายกลายเป็นดีได้หากรู้ว่าทำไมเขาถึงก่อความไม่สงบ และอะไรที่เป็นเงื่อนไขให้กระทำการดังกล่าวได้ ความไม่สงบในภาคใต้นั้นมีรากเหง้าความเป็นมาจากอดีตที่สั่งสมสืบทอดกันมานับศตวรรษ แต่นั่นก็ไม่สำคัญเท่ากับสภาวการณ์ในปัจจุบันซึ่งสร้างความทุกข์ยากและความอึดอัดคับข้องใจด้วยสาเหตุทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการศึกษา อำนาจรัฐที่รวมศูนย์และไม่สามารถให้ความยุติธรรมตลอดจนสวัสดิภาพแก่ประชาชนก็ดี วัฒนธรรมจากส่วนกลางที่นิยามความเป็นไทยอย่างคับแคบจนปฏิเสธวัฒนธรรมท้องถิ่นก็ดี กลุ่มทุนและธุรกิจอิทธิพลที่ร่วมกับหน่วยงานรัฐในการแย่งชิงทรัพยากรของชุมชนท้องถิ่นก็ดี เหล่านี้ล้วนเป็นเงื่อนไขให้หน่วยงานรัฐสูญเสียความสนับสนุนจากประชาชน ขณะเดียวกันก็ขยายแนวร่วมให้แก่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนมากขึ้น พร้อมกันนั้นอำนาจรัฐที่ถดถอยก็เปิดพื้นที่ให้กลุ่มผู้มีอิทธิพลสามารถเคลื่อนไหวและสร้างสถานการณ์ได้ง่ายขึ้น สันติวิธีจะสามารถดับไฟใต้ได้ก็ด้วยการขจัดเงื่อนไขที่บ่มเพาะขบวนการก่อความไม่สงบดังได้กล่าวมา กล่าวอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ ๑.สร้างเงื่อนไขทางการเมือง
เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ๒. เสนออุดมการณ์ที่เป็นทางเลือกใหม่ในทางสันติ
การส่งเสริมแนวทางสันติวิธีบนพื้นฐานของศาสนาอิสลามเป็นสิ่งจำเป็น แต่นั่นไม่ได้หมายความแค่การคิดค้นในทางทฤษฏีเท่านั้น หากในทางปฏิบัติรัฐบาลจะต้องเปิดให้มีพื้นที่ที่จะต่อสู้แบบสันติวิธีได้จริง ๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวคือเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถชุมนุมเรียกร้องหรือประท้วงได้โดยสันติ หรือสามารถที่จะถกเถียงอภิปรายรูปแบบทางการเมืองที่พึงปรารถนาได้อย่างเสรีตราบใดที่ยังอยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญ พร้อมกันนั้นก็สามารถที่จะปกป้องวิถีชีวิตและทรัพยากรท้องถิ่นโดยมีหลักประกันว่าจะไม่ถูกทำร้าย (ไม่ว่าโดยผู้มีอิทธิพลหรือเจ้าหน้าที่รัฐ) ๓.สลายแนวร่วมของผู้ก่อความไม่สงบ
การดับไฟใต้ด้วยสันติวิธีหมายถึงการสลายแนวร่วมของผู้ก่อความไม่สงบ และดียิ่งกว่านั้นก็คือดึงประชาชนเหล่านั้นมาเป็นแนวร่วมของรัฐแทน จะทำเช่นนั้นได้การทำงานกับมวลชนเป็นสิ่งสำคัญ เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องได้รับการฝึกฝนให้พูดภาษามลายูท้องถิ่น เข้าใจพื้นฐานของศาสนาอิสลามและธรรมเนียมปฏิบัติของประชาชน สามารถดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับรัฐ ตั้งแต่ระดับการตัดสินใจ โดยเฉพาะในสิ่งที่จะมีผลกระทบต่อประชาชน (มิใช่ตัดสินโดยเจ้าหน้าที่รัฐตามลำพังอย่างที่นิยมปฏิบัติ) อาทิ จัดตั้งสภาพัฒนาเศรษฐกิจสังคมโดยมีผู้นำท้องถิ่นและผู้นำศาสนามาร่วมเป็นกรรมการ ทั้งในระดับจังหวัดลงไปถึงระดับตำบล โดยไม่ให้ซ้ำซ้อนกับอบต.(ซึ่งส่วนใหญ่มิได้เป็นผู้นำตามประเพณีที่ชาวบ้านให้ความนิยมนับถือ เช่น อิหม่าม หรือโต๊ะครู) หรือคณะกรรมการสันติสุขชุมชน ซึ่งทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน สร้างความสมานฉันท์ในชุมชน รวมทั้งดูแลรักษาความปลอดภัยร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านหรือตำบลไปจนถึงระดับจังหวัด ขณะเดียวกันการให้หลักประกันทางด้านความยุติธรรมแก่ประชาชนก็จะต้องมีมาตรการที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่กระทำด้วยการออกคำสั่งหรือเอ่ยปาก กำชับ เจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น มาตรการที่เป็นรูปธรรมได้แก่ การจัดตั้งคณะกรรมการดูแลกระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม คณะกรรมการติดตามการพิจารณาคดีความต่าง ๆ ที่มีเงื่อนงำ คณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิประชาชน ศูนย์รวบรวมข้อมูลผู้สูญหายหรือถูกสันนิษฐานว่าถูกอุ้มฆ่า ทั้งนี้โดยประกอบด้วยบุคคลในพื้นที่ที่ได้รับการยอมรับในความซื่อสัตย์สุจริต มีอำนาจในการตรวจสอบการทำงานของรัฐ และเสนอรายงานต่อนายกรัฐมนตรีและผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น สันติวิธีจะได้ผลต้องอาศัยความอดทนเพราะมักไม่ให้ผลทันทีทันใด เนื่องจากไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ให้ผลในระยะยาวและยั่งยืนกว่า ในขณะที่วิธีรุนแรงนั้นดูเหมือนให้ผลทันใจเพราะเห็น ผู้ร้าย ตายไปต่อหน้าต่อตา แต่ปัญหาหาได้หมดไปไม่ ความรุนแรงยังคงอยู่ต่อไปและ ผู้ร้าย ก็ยังเกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ เพราะรากเหง้ายังคงอยู่ เหตุการณ์ในไอร์แลนด์เหนือและศรีลังกาซึ่งยืดเยื้อมานานกว่า ๒๐ ปี น่าเป็นอุทธาหรณ์สอนใจว่าถึงที่สุดแล้ววิธีรุนแรงไม่ได้ช่วยให้ปัญหาสงบลงอย่างรวดเร็ว ตรงกันข้ามมักสงบลงช้ากว่าการแก้ด้วยสันติวิธีเสียอีก และในที่สุดก็หนีไม่พ้นที่ทุกฝ่ายจะต้องหันมาขึ้นโต๊ะเจรจาแทน เจ้าหน้าที่รัฐจำนวนไม่น้อยมีความอดทนอย่างยิ่ง
และพร้อมใช้สันติวิธีเพื่อเอาชนะใจประชาชน นี้คือต้นทุนที่สำคัญยิ่งของสังคมไทย
ปัญหาอยู่ที่ว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะใช้สันติวิธีเพียงใด และกล้าคิดนอกกรอบหรือไม่
ถ้าหากรัฐบาลมีความมุ่งมั่นและกล้าคิดกล้าทำนอกกรอบ ขณะเดียวกันประชาชนทั่วทั้งประเทศก็สนับสนุน
การดับไฟใต้ด้วยสันติวิธีย่อมเป็นอันหวังได้อย่างแน่นอน |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|