|
|
สันติวิธีมิใช่การยอมจำนนหรืออยู่นิ่งเฉย ปล่อยให้อีกฝ่ายมากระทำโดยไม่ตอบโต้ แท้ที่จริงสันติวิธีคือการตอบโต้อีกแบบหนึ่งโดยไม่ใช้ความรุนแรง ทั้งนี้เพื่อหยุดยั้งพฤติกรรมอันไม่ถูกต้องหรือเพื่อปรับเปลี่ยนสถานการณ์ให้เป็นไปในทางสันติ สันติวิธีไม่ได้หมายถึงการหนีปัญหา แต่เป็นการเผชิญกับปัญหา และบ่อยครั้งต้องมีการเผชิญหน้ากับคู่กรณีโดยปราศจากอาวุธ ดังนั้นจึงต้องอาศัยความกล้าหาญและความเด็ดเดี่ยว ขณะเดียวกันสันติวิธียังหมายถึงการสร้างเงื่อนไขที่ยุติความรุนแรง หรือขจัดเงื่อนไขที่ส่งเสริมพฤติกรรมอันเป็นปัญหา ดังนั้นจึงต้องอาศัยปัญญาที่เข้าใจกระจ่างชัดในรากเหง้าของปัญหาและสามารถคิดค้นมาตรการที่สร้างสรรค์ได้ เมื่อครั้งที่ภาคอีสานยังมีการสู้รบกับคอมมิวนิสต์ มีคราวหนึ่งผู้ก่อการคอมมิวนิสต์ได้ปิดล้อมหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดสกลนคร และทำการปลุกระดมชาวบ้านกลางดึก นายอำเภอเมื่อทราบข่าวก็รุดเดินทางไปยังหมู่บ้านนั้น แต่แทนที่จะนำกำลังตำรวจไปล้อมปราบ นายอำเภอกลับไปยืนฟังการปลุกระดมอยู่เงียบ ๆ สักพักก็เดินขึ้นไปยังเวที สถานการณ์เริ่มตึงเครียดขึ้นมาทันที แต่นายอำเภอไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าเอามือโอบหลังผู้ปลุกระดม และพูดปรามว่า เบา ๆ หน่อย สถานการณ์คลี่คลายลงไปทันที ผู้ปลุกระดมซึ่งนึกไม่ถึงว่านายอำเภอจะขึ้นมาโอบหลัง ถึงกับตัวห่อ ไม่สามารถปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชังได้อีกต่อไปในเมื่อนายอำเภอกลับแสดงท่าที่เป็นมิตรเช่นนั้น เหตุการณ์ครั้งนั้นจบลงโดยไม่มีการสู้รบจนสูญเสียชีวิตและผู้คน เมื่อหลายปีก่อนได้เกิดเหตุจลาจลย่อย ๆ หน้าสภอ.นครศรีธรรมราช เนื่องจากประชาชนจำนวนมากไม่พอใจพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรที่รีดไถผู้ขับขี่รถยนต์อยู่เป็นอาจิณ ในคืนแรกนั้นตำรวจได้จับกุมผู้ชุมนุม ทำให้สถานการณ์ลุกลาม จนมีการเผาอาคารบางส่วนและรถยนต์ คืนต่อมาประชาชนได้มาชุมนุมอีก ตำรวจจึงใช้ความรุนแรงเข้าสลายฝูงชน มีการทุบตีด้วยกระบองและไล่จับกุม ทำให้สถานการณ์ลุกลามมากขึ้น ประชาชนระบายความโกรธแค้นด้วยการทุบตีป้ายจราจรและทรัพย์สินราชการทั่วเมือง คืนที่สามมีแนวโน้มว่าสถานการณ์จะรุนแรงยิ่งขึ้น แต่คราวนี้ตำรวจได้เปลี่ยนแผน โดยตั้งด่านปิดหัวและท้ายถนนหน้าสภอ. เพื่อให้เป็นเขตปลอดการชุมนุม จึงปิดโอกาสที่จะมีการกระทบกระทั่งกันระหว่างประชาชนกับตำรวจ ขณะเดียวกันก็ดึงผู้นำท้องถิ่นมาร่วมระงับความรุนแรง ด้วยการจัดเวทีประท้วงที่สนามหน้าเมืองแทน ทั้งนี้เพื่อดึงผู้คนออกไปจากพื้นที่หน้าสภอ. โดยที่ประชาชนก็ยังมีเวทีระบายความโกรธแค้นได้อยู่ ทำให้ความตึงเครียดลดลง ผลก็คือคืนนั้นไม่เกิดเหตุรุนแรง ต่อมาได้มีการเจรจาระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุม จนได้ข้อยุติที่น่าพอใจ ทั้งสองกรณีเป็นตัวอย่างของการใช้สันติวิธีแก้ปัญหา ตัวอย่างแรกเป็นการเผชิญหน้าโดยไม่ใช้ความรุนแรง แต่ใช้ความเป็นมิตรแทน ตัวอย่างที่สองเป็นการขจัดเงื่อนไขแห่งความรุนแรงและสร้างเงื่อนไขในทางสันติ ทั้งสองกรณีได้ชี้ว่าหากใช้ความรุนแรงเข้าตอบโต้ ก็ไม่ต่างจากการสาดน้ำมันเข้ากองไฟ ความรุนแรงไม่ใช่คำตอบ ความรุนแรงนั้นขจัดได้แค่ตัวบุคคล แต่ไม่สามารถขจัดรากเหง้าของปัญหาได้ แม้ผู้ร้าย จะตายไป แต่ถ้ารากเหง้าของปัญหายังคงอยู่ ก็จะมีผู้ร้ายอีกหลายคนเกิดขึ้นตามมา แต่ปัญหาหรือข้อจำกัดของวิธีรุนแรงมิใช่มีแค่นั้น ที่ร้ายกว่านั้นก็คือในกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐเองก็ยังไม่รู้ว่า ใครบ้างที่เป็นผู้ร้าย แม้แต่จะจำแนกว่า เหตุร้ายที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งเป็นฝีมือของผู้ต้องการแบ่งแยกดินแดน หรือผู้มีอิทธิพล หรือผู้ค้ายาเสพติด หรืออาชญากรธรรมดา (หรือคนในเครื่องแบบ) กันแน่ ก็ยังยากที่จะทำได้ รัฐบาลเองก็ยอมรับว่ากำลังสู้กับศัตรูที่มองไม่เห็นตัว เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว จะใช้ความรุนแรงให้ได้ผลได้อย่างไร ยิ่งใช้ก็ยิ่งเกิดผลเสียสะท้อนกลับมา เพราะมีโอกาสที่จะพลาดมากกว่าทำถูก และเมื่อพลาดแล้วก็ไม่อาจแก้ไขได้เพราะชีวิตที่ตกล่วงไปแล้วย่อมไม่สามารถเอากลับคืนมาได้ เมื่อปีที่แล้วได้เกิดเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดกลางเมืองยะลา ปรากฏว่ามีคนถูกยิงได้รับบาดเจ็บ คาดว่าโจรใต้เป็นผู้ก่อเหตุ ทหารพรานพร้อมอาวุธครบมือซึ่งลาดตระเวนอยู่ใกล้ ๆ ได้รุดไปยังที่เกิดเหตุทันที และพบชายสองคนวิ่งผ่านมาโดยคนหนึ่งถือปืน ทหารพรานได้ยิงปืนขึ้นฟ้าหลายนัดพร้อมกับสั่งให้หยุดวิ่ง ทั้งสองคนจึงหยุดวิ่งและนั่งลงกับพื้น เมื่อทหารพรานมาถึงได้สั่งให้ทั้งสองหมอบลงพื้น พร้อมกับยิงหนึ่งในสองคนนั้นตายคาที่ แต่ไม่นานความจริงก็ได้เปิดเผยว่าทั้งสองคนไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุร้ายแต่อย่างใด แต่ที่วิ่งผ่านมาก็เนื่องจากได้ทะเลาะกับชายคนหนึ่งและถูกชายคนนั้นชักปืนไล่ยิง หนึ่งในสองคนนั้นจึงชักปืนพกเพื่อป้องกันตัวหากถูกชายคนนั้นวิ่งตามมายิงซ้ำ บังเอิญทหารพรานผ่านมา ทั้งสองจึงรับเคราะห์ไป กรณีนี้ทหารพรานสังหารคนกลางวันแสก ๆ เพราะมั่นใจว่าเป็นคนร้ายแน่ แต่กลายเป็นการฆ่าผู้บริสุทธิ์ หากทหารพรานใช้วิธีที่ละมุนละม่อม ไม่ใช้อาวุธสถานเดียว เรื่องก็คงจบลงด้วยดี ที่น่าคิดก็คือนี้คงไม่ใช่ความผิดพลาดกรณีเดียวที่เกิดขึ้น และทั้ง ๆ ที่เห็นกับตากลางวันแสก ๆ ก็ยังทำผิดพลาดได้ถึงขนาดนี้ เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า การ อุ้ม ผู้คนจำนวนนับสิบนับร้อยเพียงเพราะได้รับการแจ้งจากสายข่าวตลอดหลายปีที่ผ่านมาน่าจะกวาดเอาผู้บริสุทธิ์ติดร่างแหไปด้วยเป็นจำนวนไม่น้อย จึงไม่แปลกอะไรที่ผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เกลียดชังเจ้าหน้าที่รัฐเป็นอย่างมาก ถึงที่สุดแล้วกรณีความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คำถามว่า ใครทำ ? สำคัญน้อยกว่าคำถามว่า ทำไมเขาถึงทำ? และ อะไรเป็นเงื่อนไขให้เขาทำได้? ตรงนี้ทำให้สันติวิธีเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากสำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะในขณะที่ความรุนแรงจะใช้ได้ต่อเมื่อรู้ว่าใครเป็นผู้ร้าย (ซึ่งรัฐเองยังมืดแปดด้าน) แต่สันติวิธีนั้นมุ่งที่การขจัดเงื่อนไขแห่งความรุนแรงยิ่งกว่าการขจัดตัวบุคคล ดังนั้นถึงแม้ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร แต่ก็มีช่องทางอีกมากที่จะเปลี่ยนสถานการณ์จากร้ายกลายเป็นดีได้หากรู้ว่าทำไมเขาถึงก่อความไม่สงบ และอะไรที่เป็นเงื่อนไขให้กระทำการดังกล่าวได้ ความไม่สงบในภาคใต้นั้นมีรากเหง้าความเป็นมาจากอดีตที่สั่งสมสืบทอดกันมานับศตวรรษ แต่นั่นก็ไม่สำคัญเท่ากับสภาวการณ์ในปัจจุบันซึ่งสร้างความทุกข์ยากและความอึดอัดคับข้องใจด้วยสาเหตุทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการศึกษา อำนาจรัฐที่รวมศูนย์และไม่สามารถให้ความยุติธรรมตลอดจนสวัสดิภาพแก่ประชาชนก็ดี วัฒนธรรมจากส่วนกลางที่นิยามความเป็นไทยอย่างคับแคบจนปฏิเสธวัฒนธรรมท้องถิ่นก็ดี กลุ่มทุนและธุรกิจอิทธิพลที่ร่วมกับหน่วยงานรัฐในการแย่งชิงทรัพยากรของชุมชนท้องถิ่นก็ดี เหล่านี้ล้วนเป็นเงื่อนไขให้หน่วยงานรัฐสูญเสียความสนับสนุนจากประชาชน ขณะเดียวกันก็ขยายแนวร่วมให้แก่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนมากขึ้น พร้อมกันนั้นอำนาจรัฐที่ถดถอยก็เปิดพื้นที่ให้กลุ่มผู้มีอิทธิพลสามารถเคลื่อนไหวและสร้างสถานการณ์ได้ง่ายขึ้น กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้อาศัยสภาพการณ์ดังกล่าวเป็นเงื่อนไขในการสร้างความรุนแรงทั่วทุกหัวระแหง ทั้งนี้โดยมีปัจจัยอีก ๓ ประการเป็นเครื่องสนับสนุนได้แก่ ๑. อุดมการณ์ ได้แก่อุดมการณ์ชาตินิยมควบคู่กับหลักความเชื่อทางศาสนาอิสลามที่ตีความมาใช้เป็นเครื่องมือปลุกระดมให้ลุกขึ้นต่อต้านรัฐ ขจัดเงื่อนไขแห่งความรุนแรง ๑.สร้างเงื่อนไขทางการเมือง
เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ๒. เสนออุดมการณ์ที่เป็นทางเลือกใหม่ในทางสันติ การดับไฟใต้ให้ได้ผลนั้นต้องครอบคลุมไปถึงการต่อสู้ทางด้านอุดมการณ์ นั่นคือการเสนอสันติวิธีให้เป็นทางเลือกใหม่ของผู้ที่ต้องการต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีและปกป้องวิถีชีวิต ปัจจุบันผู้ก่อความไม่สงบได้รับความสำเร็จไม่น้อยในการชักชวนให้เห็นว่าความรุนแรงเป็นคำตอบเดียวเท่านั้นที่จะฟื้นฟูศักดิ์ศรีและปกป้องวิถีชีวิตของประชาชน ทั้งนี้โดยมีความเชื่อทางศาสนาอิสลามรับรอง แต่อุดมการณ์ดังกล่าวจะมีพลังน้อยลงหากมีทางเลือกที่ดีกว่า ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการนำเสนอแนวทางการต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีและปกป้องวิถีชีวิตแบบสันติวิธี และที่ขาดไม่ได้ก็คือ มีหลักคำสอนทางศาสนาอิสลามเป็นพื้นฐานรองรับ การล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)เกิดขึ้นเมื่อ ๒๐ ปีก่อน สาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็เพราะมีทางเลือกที่ดีกว่ามาแทนการต่อสู้ด้วยอาวุธ ทางเลือกนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่มีคำสั่งนายกรัฐมนตรี ๖๖/๒๕๒๓ ซึ่งเปิดทางให้แก่การต่อสู้ทางการเมืองบนวิถีทางประชาธิปไตย แต่ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันก็คือการแพร่ขยายของอุดมการณ์ ปฏิวัติประชาธิปไตย ในแวดวงฝ่ายซ้าย ที่ทำให้แนวทางปฏิวัติด้วยกำลังอาวุธถูกสั่นคลอน ส่งผลให้นักศึกษาที่เข้าป่าตัดสินใจวางอาวุธ และหันมาต่อสู้ด้วยสันติวิธีในเมือง การส่งเสริมแนวทางสันติวิธีบนพื้นฐานของศาสนาอิสลามเป็นสิ่งจำเป็น แต่นั่นไม่ได้หมายความแค่การคิดค้นในทางทฤษฏีเท่านั้น หากในทางปฏิบัติรัฐบาลจะต้องเปิดให้มีพื้นที่ที่จะต่อสู้แบบสันติวิธีได้จริง ๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวคือเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถชุมนุมเรียกร้องหรือประท้วงได้โดยสันติ หรือสามารถที่จะถกเถียงอภิปรายรูปแบบทางการเมืองที่พึงปรารถนาได้อย่างเสรีตราบใดที่ยังอยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญ พร้อมกันนั้นก็สามารถที่จะปกป้องวิถีชีวิตและทรัพยากรท้องถิ่นโดยมีหลักประกันว่าจะไม่ถูกทำร้าย (ไม่ว่าโดยผู้มีอิทธิพลหรือเจ้าหน้าที่รัฐ) การเปิดพื้นที่และให้หลักประกันดังกล่าว รวมทั้งที่กล่าวมาในข้อ ๑ นอกจากจะเปิดทางให้แก่การต่อสู้โดยสันติวิธีแล้ว ยังจะมีผลในการบั่นทอนอุดมการณ์อีกด้านหนึ่งของผู้ก่อความไม่สงบ อันได้แก่อุดมการณ์ด้านประวัติศาสตร์ เป็นที่รู้กันว่าขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้อาศัย ประวัติศาสตร์บาดแผลในการปลุกเร้าความเคียดแค้นชิงชังรัฐจากส่วนกลาง ประวัติศาสตร์ดังกล่าวมีพลังไม่ใช่เพียงเพราะว่าอดีตของผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เต็มไปด้วยความเจ็บปวดจากการกระทำของรัฐไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะว่าความทุกข์ยากขมขื่นและการถูกกระทำย่ำยีนั้นยังดำรงอยู่แม้กระทั่งปัจจุบัน อดีตนั้นไม่สำคัญเท่ากับปัจจุบัน หากสภาพการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้น ศักดิ์ศรีและวิถีชีวิตของผู้คนได้รับการเคารพ ประวัติศาสตร์บาดแผลจะมีอานุภาพน้อยลง นั่นหมายความว่า อาวุธของผู้ก่อความไม่สงบก็จะไร้ประสิทธิผลในการสร้างความเคียดแค้นชิงชังและก่อความรุนแรง เมื่อถึงตอนนั้นการถกเถียงอย่างเสรีเกี่ยวกับประวัติศาสตร์บาดแผลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวหรือต้องปิดกั้น ตรงกันข้ามการเปิดเผยและแสวงหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้จะช่วยทำให้เกิดความสมานฉันท์ระหว่างคนต่างชาติพันธุ์กันได้ ทำนองเดียวกับประวัติศาสตร์การสังหารหมู่ อั้งยี่ หรือคนจีนในสมัยรัชกาลที่สามและรัชกาลที่ห้าไม่มีผลต่อความรู้สึกของคนไทยเชื้อสายจีนในปัจจุบัน ๓.สลายแนวร่วมของผู้ก่อความไม่สงบ
ขณะเดียวกันการให้หลักประกันทางด้านความยุติธรรมแก่ประชาชนก็จะต้องมีมาตรการที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่กระทำด้วยการออกคำสั่งหรือเอ่ยปาก กำชับ เจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น มาตรการที่เป็นรูปธรรมได้แก่ การจัดตั้งคณะกรรมการดูแลกระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม คณะกรรมการติดตามการพิจารณาคดีความต่าง ๆ ที่มีเงื่อนงำ คณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิประชาชน ศูนย์รวบรวมข้อมูลผู้สูญหายหรือถูกสันนิษฐานว่าถูกอุ้มฆ่า ทั้งนี้โดยประกอบด้วยบุคคลในพื้นที่ที่ได้รับการยอมรับในความซื่อสัตย์สุจริต มีอำนาจในการตรวจสอบการทำงานของรัฐ และเสนอรายงานต่อนายกรัฐมนตรีและผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น การดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับรัฐ ควบคู่ไปกับเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง จะช่วยให้ การ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ตามพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกิดขึ้นเป็นจริง แต่หากปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนแล้ว ไม่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะปรารถนาดีอย่างไร ก็ยากจะเข้าใจและเข้าถึงประชาชนได้ และบ่อยครั้งการพัฒนาที่นำไปให้กลับก่อผลตรงข้ามแก่ประชาชน ซึ่งทำให้เสียแนวร่วมไปในที่สุด ๔.จำกัดการปฏิบัติการของผู้ก่อความไม่สงบ ขณะเดียวกันควรมีการจำกัดความเคลื่อนไหวของผู้ก่อความไม่สงบ ด้วยการตรวจจับรถยนต์อย่างละเอียด ตั้งแต่คู่มือจดทะเบียนรถ โดยเฉพาะรถที่จะไปหรือมาจากหมู่บ้านเป้าหมาย ในการตรวจนั้นแทนที่จะตั้งจุดตรวจถาวร ควรใช้การลาดตระเวนตรวจ โดยชุดปฏิบัติการมีคนที่พูดภาษาท้องถิ่นได้ นอกจากนั้นควรมีการตั้งโทรทัศน์วงจรปิดตามสถานที่ราชการที่ตกเป็นเป้าหมายของผู้ก่อความไม่สงบ เงื่อนไขของสันติวิธี อย่างไรก็ตามสันติวิธีจะได้ผลต้องอาศัยความอดทนเพราะมักไม่ให้ผลทันทีทันใด เนื่องจากไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ให้ผลในระยะยาวและยั่งยืนกว่า ในขณะที่วิธีรุนแรงนั้นดูเหมือนให้ผลทันใจเพราะเห็น ผู้ร้าย ตายไปต่อหน้าต่อตา แต่ปัญหาหาได้หมดไปไม่ ความรุนแรงยังคงอยู่ต่อไปและ ผู้ร้าย ก็ยังเกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ เพราะรากเหง้ายังคงอยู่ เหตุการณ์ในไอร์แลนด์เหนือและศรีลังกาซึ่งยืดเยื้อมานานกว่า ๒๐ ปี น่าเป็นอุทธาหรณ์สอนใจว่าถึงที่สุดแล้ววิธีรุนแรงไม่ได้ช่วยให้ปัญหาสงบลงอย่างรวดเร็ว ตรงกันข้ามมักสงบลงช้ากว่าการแก้ด้วยสันติวิธีเสียอีก และในที่สุดก็หนีไม่พ้นที่ทุกฝ่ายจะต้องหันมาขึ้นโต๊ะเจรจาแทน สันติวิธียังต้องการความคิดสร้างสรรค์ ที่กล้าคิดนอกกรอบ หรือกล้าคิดสิ่งที่นึกไม่ถึง (thinking the unthinkable) ชัยชนะของสันติวิธีหลายครั้งเกิดจากการคิดในสิ่งที่คนไม่คาดคิด เช่น การเดินเท้าเกือบ ๓๐๐ กิโลเมตรของคานธีเพื่อทำเกลือเอง (salt march) อันเป็นการต่อต้านกฎหมายของอังกฤษ ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์ว่าเหตุการณ์ที่ดูเหมือนไม่มีพิษสงนี้สามารถสั่นคลอนจักรวรรดิอังกฤษอย่างถึงรากถึงโคน ในทำนองเดียวกันเมื่อผู้นำศาสนจักรคาทอลิกในฟิลิปปินส์ประกาศให้ประชาชนไปล้อมค่ายทหารเอาไว้ เพื่อเป็นกำแพงมนุษย์ขวางกั้นมิให้กองทัพของมาร์คอสเข้าไปบดขยี้ฝ่ายต่อต้านที่หลบไปลี้ภัยในค่ายดังกล่าว ปรากฏว่าผู้คนนับแสน ๆ ที่มีเพียงมือเปล่าและสายประคำสามารถต้านทานกองทัพอันทรงอานุภาพของมาร์คอส และเป็นจุดหักเหสำคัญที่ทำให้มาร์คอสหมดอำนาจและต้องลี้ภัยไปสหรัฐ ในกรณีของไทย การที่รัฐบาลในสมัยคึกฤทธิ์ ปราโมช เดินทางไปเปิดสัมพันธไมตรีกับประเทศจีนในปี ๒๕๑๘ ทั้ง ๆ ที่กระแสต่อต้านคอมมิวนิสต์ในประเทศกำลังเข้มข้นและยังมีการสู้รบกับพคท.อยู่นั้น จัดว่าเป็นการกระทำที่ล้ำยุคสมัยที่น้อยคนจะคาดคิด เวลานั้นรัฐบาล ถูกโจมตีอย่างรุนแรง อีกทั้งยังเป็นเหตุให้นายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งเป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศในเวลานั้นถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์ว่าการเปิดสัมพันธไมตรีกับจีนมีส่วนสำคัญในการสร้างความอ่อนแอให้แก่พคท.(ซึ่งอิงจีน)ในเวลาต่อมาจนต้องยุติการสู้รบกับรัฐบาล สันติวิธีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะได้ผลจำต้องอาศัยการกล้าคิดกล้าทำที่นอกกรอบหรือทวนกระแส ซึ่งอาจหมายถึงการประกาศนิรโทษกรรมแก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐที่รับสารภาพว่าตนได้เคยก่อความรุนแรงที่นอกกฎหมาย การขออภัยอย่างเป็นทางการต่อความผิดพลาดของรัฐในอดีต การเปิดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด หรือการประกาศตั้งปัตตานีมหานคร เช่นเดียวกับกรุงเทพ ฯ หรือพัทยา เป็นต้น แน่นอนว่ามาตรการเหล่านี้มีความเสี่ยง แต่ต้องไม่ลืมว่าการไม่ทำอะไรเลยหรือการทำตามกรอบเดิม ๆ ที่เคยชินก็เป็นเรื่องที่เสี่ยงเหมือนกัน แม้ว่ารัฐไทยจะคุ้นกับการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะเมื่อกระทบถึงความมั่นคงหรือความเป็นไทย (ดังกรณี ๖ ตุลา และพฤษภาหฤโหด) แต่ก็มีเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนไม่น้อยที่พร้อมจะใช้สันติวิธีแม้จะต้องเผชิญกับความรุนแรง กล่าวกันว่าเมื่อเกิดความขัดแย้งกรณีท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย เจ้าหน้าที่ระดับสูงพยายามผลักดันให้มีการประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อจะได้ใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วงได้สะดวก แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเวลานั้นไม่ร่วมมือโดยให้เหตุผลว่า ผมเป็นพ่อเมือง ไม่อยากยื่นมีดให้ลูกคนละเล่มให้มาฆ่ากัน และเมื่อมีการส่งกำลังตำรวจไปรักษาความสงบระหว่างการจัดประชาพิจารณ์กรณีท่อก๊าซไทย-มาเลเซียซึ่งเคยเกิดความรุนแรงมาครั้งหนึ่งแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่สงขลาปฏิเสธที่จะให้ผู้ใต้บังคับบัญชาพกพาอาวุธไปด้วย ทั้งยังบอกให้ตำรวจ ยอมเจ็บ เพราะถ้าตำรวจไม่เจ็บ ชาวบ้านก็จะเจ็บ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อเร็ว ๆ นี้ แม้มีนาวิกโยธินถูกทำร้ายด้วยระเบิดจนล้มตายไปหลายคน แต่ผู้บังคับหน่วยบางหน่วยก็ยังขอให้ผู้ใต้บังคับบัญชาอดทนอย่างถึงที่สุด ไม่บันดาลโทสะกับประชาชนหรือตอบโต้ด้วยอารมณ์ ทั้งนี้โดยให้เหตุผลว่า ตอนนี้เรากำลังชดใช้กรรมที่บรรพบุรุษของเราได้เคยทำไว้ ...คิดเสียว่าถ้าใครถึงที่ตายก็ต้องตาย ถ้ายังไม่ถึงที่ก็ไม่ตาย เจ้าหน้าที่รัฐจำนวนไม่น้อยมีความอดทนอย่างยิ่ง
และพร้อมใช้สันติวิธีเพื่อเอาชนะใจประชาชน นี้คือต้นทุนที่สำคัญยิ่งของสังคมไทย
ปัญหาอยู่ที่ว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะใช้สันติวิธีเพียงใด และกล้าคิดนอกกรอบหรือไม่
ถ้าหากรัฐบาลมีความมุ่งมั่นและกล้าคิดกล้าทำนอกกรอบ ขณะเดียวกันประชาชนทั่วทั้งประเทศก็สนับสนุน
การดับไฟใต้ด้วยสันติวิธีย่อมเป็นอันหวังได้อย่างแน่นอน |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|