|
คุณอยู่ที่ไหนตอนเกิดเหตุการณ์ ๑๑ กันยา? หลายคนตอบได้ทันทีแม้เวลาจะผ่านไป ๑๔ ปีแล้ว เพราะเป็นเหตุการณ์สะท้านโลกสะเทือนขวัญ บางคนแม้มิได้เห็นภาพเครื่องบินพุ่งชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ทางโทรทัศน์ไม่กี่นาทีหลังเกิดเหตุ แต่ก็จำได้ว่าตอนที่ได้ยินข่าวนี้ครั้งแรกตนอยู่ที่ไหน แม้กระนั้นก็อย่าเพิ่งมั่นใจว่าทรงจำของคุณนั้นถูกต้อง เพราะสิ่งที่คุณคิดว่าจำได้นั้นอาจเกิดจากการต่อเติมปรุงแต่งภายหลังก็ได้ เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ได้ผลสรุปออกมาว่า คนอเมริกันร้อยละ ๔๐ ตอบผิดเมื่อถูกถามว่าตนอยูที่ไหนตอนเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ผลสรุปดังกล่าวเกิดจากการตามเก็บข้อมูลจากประชาชน ๒,๑๐๐ คน ไม่กี่วันหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว โดยตั้งคำถามง่าย ๆ ว่า คุณอยู่ไหน อยู่กับใคร และมีปฏิกิริยาอย่างไรตอนเกิดเหตุการณ์ ๑๑ กันยา หลังจากนั้นได้มีการสอบถามคนกลุ่มเดิมอีก โดยทิ้งระยะ ๑ ปี ๓ ปี และ ๑๐ ปี จากนั้นก็เอาคำตอบในปีหลัง ๆ มาเทียบกับคำตอบแรก ผลที่พบก็คือ คำตอบของคนจำนวน ๒ ใน ๕ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมชนิดที่เป็นคนละเรื่องเลย บางคนตอบว่าตนอยู่บนถนนตอนเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ความจริงเขาอยู่ในสำนักงาน สาเหตุที่จำผิดอาจเป็นเพราะวันนั้นเขาลงมาที่ถนนด้วย แต่เมื่อผ่านไปนานปีความจำของเขาก็เกิดคลาดเคลื่อนด้านเวลา คือสลับเอาประสบการณ์หลังมาแทนที่ประสบการณ์แรก จะว่าไปเรื่องนี้ไม่ใช่ของแปลก ตอนที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิดเมื่อปี ๒๕๒๙ เป็นข่าวดังไปทั่วโลก หนึ่งวันหลังจากนั้นอาจารย์ผู้หนึ่งในสหรัฐอเมริกาได้มอบหมายให้นักศึกษาของตนจดบันทึกว่าตนอยู่ไหนตอนที่ได้ข่าว กำลังทำอะไร และใครเป็นคนบอกข่าว ๓ ปีหลังจากนั้นก็ได้ให้นักศึกษากลุ่มเดียวกันนั้น ตอบคำถามเดียวกันนั้นอีก ปรากฏว่าทั้ง ๔๔ คนตอบผิด มี ๑๑ คนที่ตอบผิดทั้ง ๓ ข้อ การศึกษาดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าความทรงจำของเรานั้นผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้ง่ายมาก เมื่อเวลาผ่านไปเรามักเอาเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ประสบมาผสมปนเปกับของเดิม จนบางทีของใหม่กลบทับของเก่าไปเลย ใช่แต่เท่านั้นความจำของเรายังง่ายต่อการโน้มน้าวหรือโอนเอียงไปตามอิทธิพลจากภายนอก เคยมีการแสร้งทำอุบัติเหตุให้เกิดขึ้นตรงสี่แยกย่านชุมชนขณะที่สัญญาณไฟจราจรเป็นสีแดง หลังจากนั้นผู้เห็นเหตุการณ์จำนวนครึ่งหนึ่งได้รับการบอกกล่าวว่าตอนเกิดเหตุนั้นสัญญาณไฟเป็นสีเขียว เมื่อมีการสอบถามในเวลาต่อมาว่าสัญญาณไฟเป็นสีอะไรตอนเกิดเหตุ คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะบอกว่าเป็นสีเขียว ความทรงจำของเรานั้นแปรเปลี่ยนง่าย เปรียบดังขี้ผึ้งก็ว่าได้ แต่คนส่วนใหญ่กลับเชื่อมั่นในความทรงจำของตน คิดว่าเป็นรอยจากรึกในแผ่นหิน ความเชื่อมั่นดังกล่าวมักก่อปัญหาขึ้นมาเมื่อต่างคนต่างมีความจำคนละอย่างในเรื่องเดียวกัน แค่ฝ่ายหนึ่งบอกว่าคืนกุญแจให้แล้ว แต่อีกฝ่ายบอกว่าไม่ได้คืน แค่นี้ก็อาจทำให้เกิดการโต้เถียงซึ่งสามารถลุกลามกลายเป็นการทะเลาะวิวาทได้ง่ายมาก หากเราตระหนักว่าความทรงจำของเรานั้นอาจผิดพลาด เอาแน่เอานอนไม่ได้ การยืนกรานว่าฉันถูก หรือกล่าวโทษว่า แกผิด ก็ย่อมน้อยลง ความร้าวฉานระหว่างกันก็คงเกิดขึ้นได้ยากไม่ว่าในครอบครัวหรือที่ทำงาน หรือระหว่างเพื่อน |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|
![]() |